สมัยก่อนอยุธยา
เรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดตราด ที่ปรากฏจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ ซึ่งรวบรวมได้จากแหล่งต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไปมีอยู่น้อย ไม่พอที่จะเรียบเรียงให้เป็นประวัติที่สมบูรณ์ได้ ยิ่งกว่านั้นหลักฐานบางส่วนก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ดังนั้นประวัติศาสตร์ก่อนสมัยอยุธยาจึงไม่มี หากอนุชนรุ่นหลังได้ค้นคว้าและมีหลักฐานใดทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม ก็ชอบที่จะเรียบเรียงเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในภายหลังได้
สมัยอยุธยา
ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากแผนที่สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งไม่แน่ชัดว่า จังหวัดตราดเป็นเมืองมาแต่เมื่อใด เพียงมีชื่อว่า "บ้านบางพระ"
ตามหลักฐานที่พระบริหารเทพธานีเขียนไว้๑ อ้างว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๘) ได้มีการแบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ในราชอาณาจักรเป็นเมืองเอก โท ตรี และจัตวา ซึ่งเป็นเมืองชั้นในและชั้นกลาง โดยได้จัดแยกออกเป็น ๓ ส่วนคือ หัวเมืองขึ้นเจ้าพระยาจักรีใช้ตราราชสีห์ หัวเมืองขึ้นเจ้าพระยามหาเสนาบดีใช้ตราคชสีห์ และหัวเมืองขึ้นเจ้าพระยาศรีธรรมราชเดโชชาติ ใช้ตราบัวแก้ว ซึ่งในทำเนียบหัวเมืองในสมัยนั้น มีชื่อ "ตราด" ปรากฏอยู่ว่าเป็นหัวเมืองขึ้นต่อเจ้าพระยาศรีธรรมราชเดโชชาติด้วยเมืองหนึ่ง จากหลักฐานนี้อาจแสดงให้เห็นเป็นเบื้องต้นได้ว่า เมืองตราดซึ่งเป็นหัวเมืองชายทะเลนั้น สังกัดอยู่ในฝ่ายการต่างประเทสซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคลังด้วย
ในเรื่องเดียวกันนี้ หลวงวิจิตรวาทการ๒ รวบรวมหลักฐานให้เห็นว่า ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ (พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) นั้น ได้มีการจัดแบ่งบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยส่วนกลางจัดแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายทหาร มีสมุหพระกลาโหมเป็น ผู้บังคับบัญชา และฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายกเป็นผู้บังคับบัญชา สำหรับพลเรือนได้จัดแบ่งรูปการบริหารออกเป็นจตุสดมภ์ (มีรูปเป็นกระทรวง) คือ นครบาลบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เกษตราธิบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทำมาหากินของราษฎร โกษาธิบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการคลังและกิจการต่างประเทศ และธรรมาธิบดีหรือธรรมาธิกรณ์ ทำหน้าที่เกี่ยวกับราชการภายในพระบรมมหาราชวังและการพิจารณาคดีความ
ในด้านการบริหารส่วนภูมิภาค ได้จัดแบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ออกเป็นหัวเมืองเอก โท ตรี และจัตวา มีผู้ว่าราชการเมืองซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้ไปควบคุมดูแล จากหลักฐานที่หลวงวิจิตรวาทการรวบรวมไว้นี้ ปรากฏว่ามีชื่อ "ตราด" เป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อโกษาธิบดี ซึ่งหลักฐานนี้ปรากฏตรงกันกับหลักฐานที่พระบริหารเทพธานีอ้างไว้ แสดงให้เห็นว่า "ตราด" น่าจะเป็นเมืองเก่าแก่มากกว่า ๓๐๐ ปีเมืองหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยที่สุดจะต้องเป็นชื่อที่ปรากฏในทำเนียบหัวเมืองมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้นแล้ว
จากหลักฐานนี้ต่อมายังไม่ปรากฏเรื่องราวของเมืองตราดอยู่ในเอกสารใด ๆ อีก จนกระทั่งถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นระยะที่กำลังเกิดกลียุคขึ้น เพราะใกล้เสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า
สมัยกรุงธนบุรี
ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ปีเดียวกันกับที่กรุงศรีอยุธยาเกิดความคับขันในบ้านเมือง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในสมัยที่เป็นนายทัพอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้น เห็นว่า กองทัพไทยอ่อนกำลังลงและไม่มีทางที่จะต่อสู้กองทัพพม่าที่ล้อมไว้ได้แล้ว จึงได้รวบรวมไพร่พลตีฝ่าลงล้อมออกมาได้ และได้รวบรวมไพร่พลจำนวนหนึ่งทางทิศตะวันออก โดยได้ยกกำลังเข้ามาถึงเมืองตราดด้วยมีปรากฏหลักฐานตามพระราชพงศาวดารว่า
"...หลังจากพระเจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้แล้ว (เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๗ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐) ก็ได้เกลี้ยกล่อมผู้คนให้กลับคืนมายังภูมิลำเนาเดิม...ครั้นเห็นว่าเมืองจันทบุรีเรียบร้อยอย่างเดิม จึงยกกองทัพลงเรือไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรก็พากันเกรงกลัว ยอมอ่อนน้อมโดยดีทั่วทั้งเมือง และขณะนั้นมีสำเภาจีนมาทอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ พระเจ้าตากให้เรียกนายเรือมาเฝ้า พวกจีนขัดขืนแล้วกลับยิงเอาข้าหลวง พระเจ้าตากทราบก็ลงเรือที่นั่งคุมเรือรบลงไปล้อมสำเภาไว้แล้วบอกให้พวกจีนมาอ่อนน้อมโดยดี พวกจีนก็หาฟังไม่ กลับเอาปืนใหญ่น้อยระดมยิง รบกันอยู่ครึ่งวันพระเจ้าตากก็ตีได้เรือสำเภาจีนทั้งหมด ได้ทรัพย์สิ่งของเป็นของกองทัพเป็นอันมาก พระเจ้าตากจัดการเมืองตราดเรียบร้อยแล้ว ก็กลับขึ้นมาตั้งอยู่ ณ เมืองจันทบุรี..."๓
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๓๑๓ เขมรยกทัพมาตีเมืองตราดซึ่งเป็นระยะที่พระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังยกทัพไปตีเชียงใหม่ แต่ในที่สุดทัพเขมรก็ถูกตีพ่ายไปปรากฏหลักฐานตอนนี้ว่า
"…พ.ศ. ๒๓๑๓ เขมรยกทัพมาตีเมืองทุ่งใหญ่ (ตราด) เมืองจันทบุรี ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่กองทัพเมืองจันทบุรีได้ตีกองทัพเขมรแตกพ่ายไป…"๔
จากข้อความนี้จะเห็นว่ามีคำว่า "เมืองทุ่งใหญ่" ซึ่งพระบริหารเทพธานีได้แสดงอ้างอิงว่า คือ "ตราด" ทำให้เห็นได้ว่า "ทุ่งใหญ่" กับ "ตราด" นั้นคือเมืองเดียวกัน จากหลักฐานนี้ถ้าพิจารณาถึงสภาพในยุคหลัง ๆ ต่อมาแล้ว คำว่า "ทุ่งใหญ่" คือชื่ออำเภอทางเหนือของเมืองตราด ซึ่งติดต่อกับจันทบุรี แสดงให้เห็นว่าเขมรคงจะยกทัพมาทางตอนเหนือของเมืองตราดแล้วตีเรื่อยไปจนถึงเมืองจันทบุรีนั่นเอง คงจะมิได้ยกมาโดยทางเรือแต่ประการใด
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๔ กองทัพเขมรก็ยกทัพมาตีเมืองตราดอีก ปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า
"ครั้นปีเถาะ ตรีศก จุลศักราช ๑๑๓๓ นักพระโสตเป็นใหญ่ในเมืองเปียมมีคุณแก่ พระนารายณ์ราชา แต่ยังชื่อนักองตนมาแต่ก่อน นักองตนยอมเป็นบุตรเลี้ยง ครั้นนักองตนมีไชยชนะพระรามราชา ได้เป็นใหญ่แต่ผู้เดียวแล้ว นักพระโสตทัตก็มีความกำเริบ เกณฑ์ไพร่พลแขวงเมืองบันทายมาศและเมืองกรังเป็นกองทัพมาตีเมืองตราด เมืองจันทบุรี กวาดต้อนเอาครอบครัวไปเป็นอันมาก เจ้ากรุงธนบุรีทรงพระพิโรธจึงดำรัสให้จัดกองทัพบก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เวลานั้นดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ได้เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองปราจีนบุรี…"๕
การยกไปตีเขมรของเจ้าพระยาจักรีในครั้งนี้ ปรากฏว่าได้ตามตีเขมรต่อไปจนได้เมืองบันทายมาศบริบูรณ์ และบาพนมอีกด้วย
จากประวัติศาสตร์ตอนนี้ แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้รวบรวมผู้คนในเมืองตราดได้อย่างสิ้นเชิง โดยพระองค์ ได้ปราบพวกจีนที่ขัดขืนสำเร็จ แต่ไม่แน่ชัดว่าพระองค์ตั้งทัพอยู่ที่ใดตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์ช่วงนี้เองสันนิษฐานว่า กองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรี พักไพร่พลอยู่ที่วัดโยธานิมิต (วัดโบสถ์) และเพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติแด่อดีตพระมหากษัตราธิราช ทางราชการได้ประกาศยกย่องวัดโยธานิมิตเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันและเป็นพระอารามหลวงวัดเดียวในจังหวัด นับว่าใช้อุโบสถเก่าของวัดนี้เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ของบรรดาข้าราชการในอดีต และมีการขึ้นบัญชีเป็นพระอุโบสถเก่าโบราณสถานด้วย
สมัยรัตนโกสินทร์
เมืองตราดสมัยแรก
การร่วมรบในกองทัพในสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่๓ (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๙๔)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ มีการแบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักรใหม่ขึ้นต่อฝ่ายต่าง ๆ เมืองตราดเป็นเมืองหนึ่งซึ่งขึ้นตรงต่อ "กรมท่า" ปรากฏข้อความตอนนี้ว่า
"…จึงให้แบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกขึ้นต่อกรมท่า ๑๙ เมือง กรมมหาดไทยรวม ๒๐ เมือง…กับเมืองขึ้นมหาดไทย…ยังคงเมืองขึ้นกรมท่าอีก ๘ เมือง คือ เมืองนนทบุรี ๑ เมืองสมุทรปราการ ๑ เมือง สาครบุรี ๑ เมืองชลบุรี ๑ เมืองบางละมุง ๑ เมืองระยอง ๑ เมืองจันทบุรี ๑ เมืองตราด ๑…"๖
แสดงให้เห็นว่าเมืองตราดยังคงสังกัดอยู่กับฝ่ายกิจการต่างประเทศและการคลัง ในฐานะเป็นหัวเมืองฝั่งทะเลและเมืองท่าแห่งหนึ่งอยู่ดังเช่นที่ปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมิได้เปลี่ยนแปลงแต่ประการใด
ในรัชสมัยนี้เององเชียงสือซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงชุบเลี้ยงไว้ได้หลบหนีกลับไปยังประเทศญวนเพื่อเอาเมืองคืนในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ในการไปขององเชียงสือนี้ปรากฏว่าได้หลบหนีมาอยู่ที่ "เกาะกูด" ในเมืองตราดเป็นเวลานาน มีข้อความปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า
"…องเชียงสือก็มีความยินดี ใช้ใบไปถึงเรือใหญ่ที่เกาะสีชัง จึงปรึกษาด้วยองญวนทั้งปวง…ก็บัดนี้เราจะพักอยู่ที่ไหนดี องจวงจึงว่าถ้าไปพักอยู่ที่เกาะกูดเห็นจะดีกว่าที่อื่น…องเชียงสือได้ฟังดังนั้นก็เห็นด้วยจึงให้เอาตัวนายจันทร์ นายอยู่ นายเมือง ไปเรือลำเดียวกับองเชียงสือ…องเชียงสือให้บ่าวไพร่องเชียงสือไปเข้ารวมเป็นเรือ ๕ ลำ ออกเรือใช้ใบไปพร้อมกันในเวลากลางคืนวันนั้น ใช้ใบไป ๗ วันถึงเกาะกูดฯ เวลานั้นหามีผู้คนอยู่ไม่…"๗
องเชียงสือพักอยู่ที่เกาะกูดเป็นเวลานานถึง ๒ ปี มีความอดอยากมาก ทางกรุงเทพฯ จึงต้องส่งเสบียงไปช่วยเหลือในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ ดังปรากฏข้อความในพระราชพงศาวดารว่า
"…ฝ่ายองเชียงสือซึ่งหนีไปตั้งอยู่ที่เกาะกูดหมดสิ้นเสบียงอาหารจนหมดสิ้นจนกินแต่เนื้อเต่ากับมันกลอย…ฝ่ายที่กรุงเทพมหานครทรงทราบว่าองเชียงสือหนีไปอยู่เกาะกูดจึงโปรดให้เรือตระเวนหลายลำพร้อมด้วยปืนและกระสุนดินดำให้กรมการเมืองตราดส่งไปพระราชทานแก่องเชียงสือที่เกาะกูดให้เป็นกำลังและให้ช่วยลาดตระเวนสลัดด้วย ครั้นองเชียงสือได้รับพระราชทานเรือลาดตระเวนและเครื่องศัตราวุธก็พาสมัครพรรคพวกลงเรือไปตีเอาเมืองเขมา เมืองประมวนสอได้ แล้วแต่งให้เรือออกไปลาดตระเวณสกัดจับสลัดญวนได้บ้างยอมเข้ามาสวามิภักดิ์องเชียงสือบ้าง แล้วองเชียงสือให้ฆ่านายสลัดเสียคนหนึ่ง เอาศรีษะใส่ถังมอบพระยาราชาเศรษฐีส่งเข้ามากรุงเทพมหานคร และเมื่อองเชียงสือพักอยู่ที่เกาะกูดนั้นได้แต่งให้องจวงลอบไปสืบการบ้านเมืองตลอดถึงไซ่งอน องจวงกลับมาแล้วแจ้งว่าได้ไปเกลี้ยกล่อมผู้คนเมืองพระตะพังสมัครเข้าด้วยเป็นอันมาก แล้วองจวงจึงพาองเชียงสือไปพักอยู่ที่ปากน้ำเมืองป่าสัก…"๘
ในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นระยะที่มีราชการทัพเกี่ยวกับญวน ลาว และเขมรติดต่อกันเป็นระยะยาวปรากฏหลักฐานว่าเมืองตราดได้เข้าร่วมกับราชการทัพนี้ตลอดเวลา มีเหตุการณ์เกี่ยวกับวีรกรรมของทางเมืองตราดปรากฏอยู่ด้วยมากมาย ซึ่งอาจลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องได้ดังต่อไปนี้
ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ เมื่อเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เป็นกบฏ ยกทัพเข้ามาทางนครราชสีมานั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนิกูล ๑ พระยารามกำแหง ๑ พระราชวังเมือง ๑ พระยาจันทบุรี ๑ คุมกองทัพเมืองจันทบุรี เมืองระยอง เมืองตราด พลหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันออกห้าพัน ขึ้นไปทาง พระตะบองบ้าง ทางเมืองสุรินทร์เมืองสังขะบ้าง เกณฑ์เขมรป่าดงไปด้วยห้าพันให้ยกทัพไปตีเจ้าราชบุตร ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ แล้วให้เป็นทัพกระหนาบทั้งฝ่ายทางตะวันออกคือทัพพระยาราชสุภาวดี (สิง)๙ ด้วย…"๑๐
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ เกิดจราจลขึ้นในเมืองญวน ทางหัวเมืองต่างๆ ได้ส่งคนออกไปสืบราชการ แจ้งเข้ามาทางพระนคร บอกความเป็นไปของทางเมืองญวนปรากฏข้อความตอนนี้ว่า
"…ในปีมะเส็ง เบญศก จุลศักราช ๑๑๙๕ ครั้งนั้นกรมการเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ เมืองจันทบุรี เมืองตราด ต่างพากันแต่งขุนหมื่นกับไพร่ไปสืบราชการที่เมืองเขมรและเมืองญวนต่าง ๆ นั้น สืบได้ข้อราชการเมืองญวนมาทั้งสี่เมือง ๆ จึงมีใบบอกกิจการบ้านเมืองเข้ามายังกรุงเทพฯ ข้อความในใบบอกทั้งสี่หัวเมืองนั้นต้องกัน ครั้งนั้นมีพวกจีนลูกค้าที่อยู่ ณ เมืองไซ่ง่อนและเมืองล่องโห้ ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นฝ่ายญวน พวกจีนในเมืองทั้งสองตำบลมีข้าศึกที่เกิดจราจลขึ้นในเมืองไซ่ง่อนหนีเข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองตราดบ้าง เมืองจันทบุรีบ้าง กรมการเมือง ทั้งสองเมืองบอกส่งพวกจีนที่หนีมาแต่เมืองญวนนั้นเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เจ้าพระยาพระคลัง๑๑ เสนบดีให้ล่ามพนักงานไต่ถามพวกจีนเหล่านั้น ๆ ให้การต้องคำกันทุกคน และคำให้การพวกจีนและหนังสือบอกเมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง เมืองตราด เมืองจันทบุรี ทั้งสี่เมืองต้องกันกับคำให้การ…"๑๒
ในครั้งนั้นจงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังและเจ้าพระยาบดินทรเดชายกกองทัพไปรบญวน มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับเมืองตราดว่า
"…โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาคลัง (ดิศ) ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหมนั้นถืออาญาสิทธิ์เป็น แม่ทัพเรือคุมไพร่พลหมื่นห้าพันบรรทุกเรือรบมีชื่อในกรุงออกไปเกณฑ์เลขไทยเมืองตราด-เมืองจันทบุรี และเลขหัวเมืองเขมรที่เมืองกำปอดและเมืองเขมรป่ายางรวมกันอีกห้าพันรวมเป็นสองหมื่น ในทัพเรือนั้นให้ยกไปตีเมืองบันทายมาศฝ่ายญวนให้แตกให้จงได้…ให้เจ้าพระยาพระคลังฟังบังคับบัญชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพบกด้วยในข้อราชการศึกที่จะยกเข้าตีญวนนั้น…"๑๓
การเกณฑ์กองทัพของเจ้าพระยาพระคลังในครั้งนั้นกระทำดังนี้คือ "จัดให้เจ้าพระยาพลเทพเป็นแม่ทัพหน้า ให้พระยาราชวังสันเป็นทัพนำหน้าเจ้าพระยาพลเทพ ให้พระยาอภัยโนฤทธ์พระยาราชบุรี พระยาระยอง พระยาตราด พระยานครไชยศรี พระยาสมุทรสงคราม ทั้งนี้เป็นปีกซ้ายขวาของทัพหน้า…"๑๔
เมื่อยกทัพเรือเข้าตีปรากฏว่าในระหว่างศึกกันในลำน้ำนั้น บรรดานายทัพนายกองเหล่านั้นพากันทอดสมอเรือเสีย เพราะเห็นเรือญวนขวางกั้นอยู่เต็มลำคลอง ทำให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาต้องทำการรบทางบกไปแต่ฝ่ายเดียว เป็นการเสียหายแก่ราชการทัพอย่างยิ่ง จึงมีการพิจารณาโทษบรรดาแม่ทัพนายกองเหล่านั้น ปรากฏข้อความว่า
"…การที่เรือรบไทยถอนสมอไม่ขึ้นนั้นเป็นเพราะขุนนางผู้ใหญ่ก่อการก่อน จะขอออกชื่อไว้ให้ปรากฏที่เป็นคนมียศหัวเหน้าก่อการขลาดนั้นคือ เจ้าพระยาพลเทพ ชื่อ ฉิมโจโฉ ๑ พระยาเดโชท้านน้ำ ๑ พระยาราชวังสัน ๑ พระยาเพ็ชรบุรี ๑ พระยาราชบุรี ๑ พระยาเทพวรชุน ๑ พระยาอภัยโนฤทธิ์ชื่อบุนนาก ๑ พระยาจันทบุรี ๑ พระยาตราด ๑ พระยาระยอง ๑ พระยานครไชยศรี ๑ พระยาสมุทรสงคราม ๑ พระยาทิพโกษา ๑ พระยาวิสูตรโกษา ๑ พระยานเรนทรฤทธิ์โกษา แขกจาม ๑ พระยาไตรโกษา ๑ ออกชื่อแต่ ๑๖ คนนี้ที่เป็นขุนนางผู้ใหญ่ทั้งสิ้น…"๑๕
ต่อมาเมื่อพระยาบดินทรเดชาได้เข้าอยู่ที่เมืองโจดกแล้ว จึงให้ "พระยาตราด" คุมพล เมืองตราดทั้งสิ้นไปตั้วสิวซ่อมแซมเรือรบเก่าของเขมรที่นักองจันทร์ขึ้นไว้ตกค้างอยู่ที่เมืองกำปอดและเมืองกะพงโสมนั้นมีอยู่หลายสิบลำ ถ้าจะเลือกแต่ที่พอจะใช้ได้คงจะได้เรือรบเกือบร้อยลำ ถ้าพระยาตราดทำการซ่อมแซมเรือรบเก่าเขมรเสร็จแล้วได้มากน้อยเท่าใดให้คุมมาส่งไว้ในเมืองบันทายมาศ…"๑๖
ในขณะนั้นทางเขมรก็คิดตั้งตัวเป็นกบฏขึ้น พาสมัครพรรคพวกโจรเข้ามาลอบยิงไพร่พลที่คุมเรือลำเลียงเสบียงอาหารล้มตายไปเป็นอันมาก เจ้าพระยาพระคลังจึงมีคำสั่งให้ พระปลัดเมืองตราดบุตรผู้ใหญ่พระยาจันทบุรีและพี่ชายต่างมารดากับหลวงยกกระบัตร "คุมไพร่พลสามร้อยกองหนึ่ง แล้วให้เป็นนายทัพบกไปติดตามเรือลำเลียงเสบียงอาหารที่เขมรตีไว้คืนมาให้จงได้ ถ้าไม่ได้เสบียงคืนมาก็ให้ตามไปจับเขมรเหล่าร้ายที่เมืองกำปอดมาให้ได้มาบ้าง ให้พระปลัดรีบยกไปทางบกก่อนโดยเร็ว แล้วสั่งให้หมื่นสิทธิสงคราม นายด่านเมืองตราดคุมไพร่พลสองร้อยคนเป็นนายทัพบกเพิ่มเติมไปติดตามเรือลำเลียงอีกกองหนึ่งแต่ให้ไปทางด้านตะวันตก ให้ยกไปรวมกันกับพระปลัดที่เมืองกำปอดข้าง เหนือ…"๑๗ พระปลดเมืองตราดยกไปถึงลำน้ำแห่งหนึ่งชื่อ ท่าช้างข้าม เป็นเวลาพลบค่ำจึงหยุดพักผ่อน พวกเขมรในเมืองกำปอดจึงเข้าลอบโจมตี รุ่งขึ้นพระปลัดเมืองตราดจึงรวบรวมไพร่พลที่เหลือเดินทางต่อไปก็ถูกเขมรลอบโจมตีอีก ทำให้ไพร่พลล้มตายลงเป็นอันมาก แต่กองทัพของหมื่นสิทธิสงครามมาพบเข้าจึงช่วยไว้ได้ และรับพระปลัดเมืองตราดและไพร่พลที่รอดตายรวม ๓๕ คน เข้าไว้ ยกทัพเดินทางต่อไป ได้ปะทะกับกำลังฝ่ายเขมรและจับพวกเขมรได้ ๑๔ คน สอบสวนด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาแล้วได้ความว่า "พระคะเชนทรพิทักษ์เขมรนายกองช้างของนักองจันทร์ ตั้งให้คุมคนเลี้ยงช้างอยู่ที่เมืองกำปอดนั้น พระคะเชนทรพิทักษ์ท้ารบว่ากองทัพไทยแตกพ่ายญวนมาแล้วและกองลำเลียงไทยบรรทุกข้าวปลาอาหารมาถึงเมืองกำปอด ติดน้ำยังกำลังเข็นเรืออยู่ที่ในลำคลอง พระคะเชนทรพิทักษ์ เห็นว่าได้ทีมีช่อง จึงได้ชวนไพร่พลชาวบ้านป่าที่อดอยากขัดสนเสบียงนั้นได้เจ็ดสิบแปดสิบคน แล้วพากันมาตีปล้นเรือเสบียงได้เรือยี่สิบสามลำ…"๑๘
จากเอกสารนี้ปรากฏข้อความต่อไปนี้ว่า พระคะเชนทรพิทักษ์นั้นเมื่อกระทำการเช่นนั้นแล้ว คิดเกรงกลัวกองทัพไทยจะยกติดตามมา จึงแต่งให้คนไปซุ่มโจมตีอยู่ดังกล่าวข้างต้น เมื่อสอบสวนได้ความดังนั้นหมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราดจึงยกเข้าล้อมพระคะเชนทรพิทักษ์และจับตัวได้พร้อมทั้งบุตรภรรยาและครอบครัว จึงให้เขมรเชลยขนข้าวปลาอาหารที่เขมรตีชิงเอาไปนั้นกลับคืนมาได้รวม ๑๘ ลำ เสียหายไปเพราะพวกเขมรกระทุ้งท้องเรือจมไป ๕ ลำ จากนั้นจึงลำเลียงเสบียงอาหารทั้ง ๑๘ ลำนั้นส่งไปยังเมืองบันทายมาศ๑๙
คุณความดีที่หมื่นสิทธิสงครามกระทำในครั้งนั้น เจ้าพระยาพระคลังได้รายงานให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบทั้งหมด รวมทั้งความผิดพลาดของหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีซึ่งคุมเรือเสบียงอาหารไปถูกเขมรซุ่มโจมตีแล้วเอาตัวรอด ปล่อยให้ไพร่พลสู้รบตามลำพังจนเสียแก่เขมรไปนั้น และเรื่องที่พระปลัดเมืองตราดพาไพร่พลเมืองตราดไปตายถึง ๒๖ คนเหลือกลับมาเพียง ๓๔ คนนั้นด้วย เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีบัญชาให้พิจารณาโทษผู้กระทำความผิด โดยให้ประหารชีวิตหลวงยกกระบัตร ส่วนพระปลัดเมืองตราดถือว่ามีความผิดไม่มากนัก ให้เฆี่ยนหลัง ๖๐ ทีหรือ ๓๐ ที แล้วตระเวนรอบค่าย ๓ วัน ส่วนการลดหรือถอดบรรดาศักดิ์อย่างไรให้พิจารณาเอง เจ้าพระยาพระคลังจึงให้ควบคุมตัวหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีกับพระปลัดเมืองตราดส่งไปให้เจ้าพิจารณาเอง เจ้าพระยาพระคลังจึงให้ควบคุมตัวหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีกับพระปลัดเมืองตราดส่งไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทำโทษ เนื่องจากตนไม่กล้าฆ่าตามคำสั่ง เพราะ "กลัวบาปเกรงกรรมจะตามไปชาติหน้า"
ในครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงโทษผู้กระทำผิด โดยประหารชีวิตหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรี สำหรับพระปลัดเมืองตราดให้เฆี่ยนหลังหกสิบทีแล้ว "ลดฐานานุศักดิ์ลงคงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีแทนที่หลวงยกกระบัตรชื่อแก้วที่มีความผิดฆ่าเสียนั้นแล้ว" ส่วนหลวงสิทธิสงครามซึ่งทำความดีไว้นั้น ได้มีหนังสือไปยังเจ้าพระยาพระคลังว่า "…ให้เจ้าคุณพระคลังตั้งหมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราด ให้มอบถาดโคนโทน้ำทองให้แก่เขาเป็นเครื่องยศ แล้วให้มีใบบอกไปในกรุงเทพฯ ด้วย…"๒๐ เจ้าพระยาพระคลังได้ตั้งหมื่นสิทธิสงครามเป็นพระปลัดเมืองตราด ส่วนพระปลัดเมืองตราดคนเดิมถูกลดตำแหน่งลงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีนั้น ขณะที่ถูกคุมตัวส่งไปยังเจ้าพระยาพระคลังได้กระโดดน้ำตายเสียก่อน
พระปลัดเมืองตราดคนใหม่นี้ได้รับคำสั่งให้คุมไพร่พลไปรับเรือรบที่พระยาตราดไป ตั้งซ่อมแซมอยู่ที่เมืองกำปอดและเมืองกะพงโสมเจ็ดสิบลำ คุมไปส่งที่เมืองบันทายมาศ
เรื่องราวของหมื่นสิทธิสงคราม ซึ่งต่อไปได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระปลัดเมืองตราด ดังกล่าวนี้อาจจะสอดคล้องกับเรื่องราวที่เคยมีผู้เขียนไว้ในเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดตราดตอนนี้ว่า มีชาวท่ากุ่มคนหนึ่งถูกเกณฑ์ ไปในกองทัพครั้งนี้ด้วย ได้รับเลื่อนยศเป็น "หมื่นคง" ได้ทำการสู้รบอยู่เข้มแข็งในกองทัพมากบุคคลนี้กล่าวกันว่าเป็นต้นตระกูล "กุมภะ" เมื่อมีเรื่องราวสอดคล้องกันเช่นนี้ อาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นคน ๆ เดียวกันก็ได้
ในราชการสงครามที่เกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ เมืองตราดมีบทบาทในการร่วมรบด้วยทุกครั้งจนสิ้นรัชกาล
เมืองตราดสมัยเปลี่ยนแปลง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองครั้งสำคัญนั้น มีเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองตราดอยู่ไม่มากนัก ที่สำคัญได้แก่ การตั้งเมือง ปัจจันตคีรีเขตต์และการแบ่งราชการปกครองหัวเมือง
ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ (จ.ศ. ๑๒๑๗) ซึ่งเป็นปีที่ ๕ แห่งการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการ ให้ตั้งเกาะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองตราดมาก่อน๒๑ ขึ้นเป็นเมืองใหม่ โดยพระราชทานนามเมืองนี้ว่า เมืองปัจจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง) เมื่อจัดตั้งเมืองนี้ขึ้นมาแล้ว เมืองปัจจันตคีรีเขตต์จึงเป็นเมืองหน้าด่านแทนเมืองตราด เพราะเป็นเมืองที่มีเขตติดต่อกับเขมรและญวน
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการแบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักรให้ขึ้นต่อกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม และกรมท่า ตามประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศข้อความต่อไปนี้
"ข้าพระพุทธเจ้า พระยาราชวรานุกูลฯ ขอพระราชทานน้อมเกล้าถวายคำนับบังคมทูลกระหม่อมทราบ ฝ่าพระบาททรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าว่าราชการในกรมนานั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ และในข้อพระราชบัญญัติของนา มีว่า เสนาที่จะเดินประเมินนาหัวเมืองชั้นใน ชั้นกลาง ชั้นนอกนั้น ข้าพระพุทธเจ้ารับใส่เกล้าฯ จัดหัวเมืองขึ้นกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่าเป็นสามชั้นดังนี้ นั้นนอก เมืองขึ้นกรมมหาดไทย…เมืองขึ้นกรมพระกลาโหม…เมืองขึ้นกรมท่า เมืองระยอง ๑ จันทบุรี ๑ เมืองตราด ๑ รวม ๓…๒๒
ข้อความตามประกาศนี้ แสดงถึงสังกัดของเมืองตราดยังขึ้นกับกรมท่าอยู่ต่อไปอีก และต่อมาก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งมีการปรับปรุงการปกครอง แบ่งเป็นกระทรวง ต่าง ๆ ในส่วนกลางขึ้น
ได้มีการแต่งตั้ง "เจ้าเมืองกรมการ" มาปกครองดูแล โดยมีประกาศตั้งชื่อเจ้าเมืองในสมัยนั้นไว้ดังนี้
"เมืองขึ้นกรมท่า…เมืองตราด พระยาพิพิธสมบัต แปลงว่า พระยาพิพิธฤทธิเดชวิเศษ สิงหนาทแล้วแปลงว่า พระยาพิพิธภักดีศรีสมบัติ แล้วแปลงอีกว่า พระยาพิพิธพิไสยสุนทรการหลวงราชภักดีสงครามแปลงว่า พระวรบาทภักดีศรีสงคราม ปลัด หลวงศรีสงคราม แปลงว่า หลวงรามฤทธิรงค์ ยกกระบัตรตั้งปลัดจีนขึ้นใหม่อีกนาย ๑ พระยาปราณีจีนประชา ปลัดจีนเมืองปัจจันตคีรีเขตต์เดิมหลวงเกาะกง ทรงตั้งใหม่ว่า พระพิไชยชลธี หลวงคิรีเนมิททวีปปลัด…๒๓
เมืองตราด ในสมัยนั้นจึงมีกรมการเมือง ๔ คน คือ เจ้าเมือง ปลัดเมือง ปลัดเมืองฝ่ายจีน (ปลัดจีน) และยกกระบัตรเมือง ส่วนเมืองปัจจันตคีรีเขตต์ มีกรมการเมือง ๒ คน คือ เจ้าเมืองและปลัดเมือง
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์เป็นต้นมาประเทศไทยถูกคุกคามจากประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงต้องปรับปรุงฐานะทางการทหารและกิจการฝ่ายพลเรือนให้ทันสมัย และเข็มแข็งยิ่งขึ้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์จัดตั้งสถานีทหารเรือขึ้นตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก สถานีทหารเรือในครั้งนั้นได้จัดตั้งขึ้นที่ ชลบุรีบางพระ บางละมุง ระยอง แกลง จันทบุรี ขลุง ตราด เกาะกงและเกาะเสม็ดนอก๒๔ ซึ่งจากผลการดำเนินงานนี้ที่ให้เมืองตราดและเกะกงกลายสภาพมาเป็น "สเตชั่นทหารเรือ" สำหรับเป็นด่านป้องกันภัยที่จะคุกคามจากฝรั่งเศสทางทะเล
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ฝรั่งเศสได้เริ่มดำเนินการทางทหารใช้กำลังเข้าบีบบังคับไทยโดยยกกองทัพมาเข้าขับไล่ทหารไทยให้ถอยร่นออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและส่งเรือรบเข้ามาจอดอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ความยุ่งยากทางชายแดนไทยเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการปรึกษาการป้องกันพระราชอาณาเขตขึ้น และจัดกองบัญชาการทัพออยู่ตามหัวเมืองชายทะเลแต่ละด้านขึ้นด้วย ทางด้านหัวเมืองฝ่ายตะวันออกซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงต่างประเทศ (เดิมขึ้นกรมท่า) นั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้แต่งตั้งให้พลเรือจัตวาพระยาชลยุทธโยธินทร์ (ANDER DU PLESSIS DE RICHELIEU) เป็นผู้จัดการป้องกันพระราชอาณาเขตทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก ทางกระทรวงต่างประเทศได้มีคำสั่งมายังผู้ว่าราชการเมืองแถบนี้ ซึ่งรวมทั้งเมืองตราดด้วย ให้ช่วยพระยาชลยุทธโยธินทร์จัดการทุกอย่างที่เกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาเขต๒๕
สำหรับด้านเมืองตราดและเกาะกงนั้น ปรากฏตามหนังสือของพระยาชลยุทธโยธินทร์ ซึ่งนำขึ้นกราบทูลเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๓๖ ว่า "ที่เกาะกงจัดทหารมะรีน (ทหารเรือ) จากกรุงเทพฯ ๑๔ คน ทหารจากเมืองตราด ๒๔ คน ทหารจากเมืองแกลง ๑๒ คน รวม ๕๐ คน แจกปืนเฮนรีมาตินี ๑๐๐ กระบอก กระสุนพร้อม ที่แหลมงอบจัดทหารไว้ ๒๐๐ คน พร้อมที่ส่งไปช่วยทางเกาะกง ถนนระหว่างแหลมงอบกับเมืองตราด มีสภาพไม่ดีให้บ้านเมืองเร่งซ่อมถนนให้เร็วใน ๑ เดือนพอให้เกวียนเดินได้ ที่แหลมงอบนี้จ่ายเป็นเฮนรีมาตินี ๒๘๘ กระบอก กระสุนพร้อม"๒๖
เมืองตราดถูกฝรั่งเศสยึดครอง
ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสได้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะเข้ายึดครองดินแดนของประเทศไทยให้ได้ในที่สุด ดังเช่นได้กระทำจนเป็นผลสำเร็จมาแล้วในญวน เขมร และลาว ซึ่งในที่สุดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีผลกระทบให้จังหวัดตราด ต้องตกอยู่ใน ความปกครองของฝรั่งเศสก็อุบัติขึ้น
มูลเหตุของการยึดครอง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้ฝ่ายไทยปฏิบัติตามเมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๓๖ โดยให้เวลาตอบ ๔๘ ชั่วโมง ฝ่ายไทยได้ตอบข้อเรียกร้องเมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๓๖ แต่ไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายฝรั่งเศส ดังนั้น วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสจึงประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยและในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสสั่งผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกลปิดล้อมอ่าวไทย ตั้งแต่แหลม เจ้าลายถึงบริเวณแหลมกระบังและในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสได้ประกาศปิดล้อมอ่าวไทยครั้งที่ ๒ โดยขยายเขตเพิ่มบริเวณเกาะเสม็ด จนถึงแหลมลิง รวม ๒ เขต
ในวันเดียวกันคือ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ฝ่ายไทยจำต้องยอมรับคำขาดของฝรั่งเศสที่ยื่นไว้แต่เดิม ในวันรุ่งขึ้นฝรั่งเศสถือโอกาสยื่นคำขาดเพิ่มเติมอีก โดยประกาศยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันและบังคับให้ไทยถอนตัวออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอีกด้วย ไทยจำเป็นต้องยอมรับโดยไม่มีทางเลือก เมื่อฝ่ายไทยปฏิบัติตามคำขาดนั้นแล้ว ฝรั่งเศสได้ยกเลิกการปิดอ่าวในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๓๖ เวลา ๑๒.๐๐ น. แต่การยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรียังคงยึดไว้ตามเดิม
ต่อมาได้มีการทำสัญญาสงบศึกกันโดยหนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ในหนังสือสัญญาฉบับนี้ มีข้อความระบุไว้ในอนุสัญญาผนวกต่อท้ายหนังสือสัญญาข้อ ๖ ว่า "คอนเวอนแมต์ (CONVORNMENT) ฝรั่งเศสจะได้ตั้งอยู่ต่อไปที่เมืองจันทบุรี จนกว่าจะได้ทำการสำเร็จแล้วตามข้อความในหนังสือสัญญานี้…"
แม้ทางฝ่ายไทยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ฝรั่งเศสบีบบังคับไว้แล้ว ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนทหาร ยังคงยึดจันทบุรีไว้อีกเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปี เป็นเหตุให้ต้องมีการตกลงทำสัญญาขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่งคืออนุสัญญาลงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๔๕ (ร.ศ. ๑๒๑) แต่หนังสือฉบับนี้ฝรั่งเศสไม่ยอมให้สัตยาบันและไม่ถอนกำลังออกจากจันทบุรี จึงได้ตกลงมีสัญญาต่อมาอีก คือ สัญญาลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ (ร.ศ. ๑๒๒) คราวนี้ฝรั่งเศสจึงถอนกำลังออกจากจันทบุรี
ฝรั่งเศสยึดครองเมืองตราด
ย่างเข้าปี ร.ศ. ๑๒๒ แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์นั้นเอง ฝรั่งเศสได้ให้สัตยาบันที่กรุงปารีสเมื่อธันวาคม ๒๔๔๗ มีผลให้จังหวัดตราดและบรรดาเกาะทั้งหลายภายใต้แหลมลิงไปต้องตกไปเป็นของฝรั่งเศส จากหลักฐานสัญญาลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ ไม่มีข้อความใดระบุการ ครอบครองจังหวัดตราดไว้เลย แต่ในข้อ ๓ แห่งสัญญาระบุไว้ว่า รัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลไทยต่างจะตั้งข้าหลวงผสมกันออกไปทำการกำหนดเขตแดน พระบริหารเทพธานี๒๗ กล่าวอ้างไว้ว่า ได้มีการกำหนดปักปันเขตแดนกันตรงแหลมลิง (ในตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ) จึงดูเหมือนว่าฝรั่งเศสได้สิทธิในการครอบครองเมืองตราดแทนจันทบุรี
เมื่อข่าวการยึดครองของฝรั่งเศสแพร่สะพัดรู้ไปถึงราษฎร ต่างก็ตกใจและเกิดการอพยพ แต่ด้วยเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถและทอดพระเนตรเหตุการณ์ไกล จึงได้พยายามทุกวิถีทางที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง ความพยายามของพระองค์ท่านที่จะประวิงเวลาให้เมืองตราดคงอยู่ในพระราชอาณาจักรไร้ผล ในที่สุดฝ่ายไทยจึงต้องมอบเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศสแน่นอน ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๔๗
ได้มีพิธีส่งมอบเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศส จากหลักฐานของพระบริหารเทพธานี บันทึกไว้ว่าพระยาศรีสหเทพและที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย (มิสเตอร์โรบินส์) เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยมอบเรสิดังต์เดอฟอริงลิมง ข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศสเป็นผู้รับมอบ ได้กระทำพิธีมอบที่หน้าเสาธงซึ่งอยู่หน้าศาลากลางที่พระยาพิพิธฯ สร้างไว้ โดยมีทหารฝ่ายละ ๑ โหล มอบวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๔๗ เวลาเที่ยงวัน มีข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้าแถวอยู่ด้วย พระยาศรีสหเทพ เป็นผู้อ่านประกาศมอบเมืองให้แก่ฝรั่งเศสพอจบลงเรสิดังต์ ข้าหลวงฝรั่งเศสอ่านคำรับมอบจากรัฐบาลสยามเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อจบพิธี ทหาร ๒ ฝ่ายยิงสลุตฝ่ายละ ๑ โหล แตรบรรเลงขึ้น ทันใดพระยาศรีสหเทพชักธงสยามลง เรสิดังต์ ชักเชือกธงฝรั่งเศสขึ้น เมื่อธงฝรั่งเศสถึงยอดเสา ทหารยิงสลุตอีกฝ่ายละ ๑ โหล๒๘
นับจากนั้นมาเมืองตราดจึงตกอยู่ในความยึดครองของฝรั่งเศส จนถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙ จึงได้มีการตกลงทำหนังสือสัญญาขึ้นอีกฉบับหนึ่งเรียกว่า "หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จ พระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสสิเดนต์แห่งรีปัปลิคฝรั่งเศส" ฝรั่งเศสจึงคืนเมืองตราดให้ไทยตามเดิม แต่ฝ่ายไทยจะต้องยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐและเมืองศรีโสภณ เป็นเงื่อนไขแลกเปลี่ยน เมืองทั้งสามเมืองนั้นมีดินแดนประมาณ ๕๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร แลกกับเมืองตราด ประมาณ ๒๙๑๙ ตารางกิโลเมตร ยกเว้นเมืองปัจจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง) ฝรั่งเศสมิได้คืนแต่ประการใด
การทำสัญญาฉบับนี้ ทำในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙ แต่ได้มีพิธีรับมอบเมืองคืนเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๕๐ เวลา ๙.๐๐ น. ฝ่ายฝรั่งเศสมีรุซโซ อาระมองค์ อังมินิส ตราเตอร์ เดอแซร์วิศ เซวิลเลอ เรสิดังค์ เดอฟรังค์ ณ เมืองกำปอดเป็นข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศสพระยาศรีสหเทพข้าหลวงฝ่ายไทยเป็นผู้รับมอบ
จากหลักฐานการมอบเมืองตราด หลวงสาครคชเขตต์ ได้รวบรวมเล่าไว้ในหนังสือ จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดเมืองตราดว่า๒๙ ในพิธีรับมอบ ข้าหลวงสองฝ่าย แต่งเครื่องแบบเต็มยศ พร้อมด้วยข้าราชการทหาร ตำรวจ ประชุมกันหน้าศาลากลางจังหวัด ข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศสอ่านหนังสือมอบเมืองเป็นภาษาฝรั่งเศส แล้วส่งคำแปลให้ ฝ่ายข้าหลวงไทยกล่าวคำรับมอบเมืองและชักธงไทยขึ้นสู่ยอดเสาจากนั้นจึงมีการดื่มให้พรแก่ประเทศของกันและกันตามธรรมเนียม
หลังพิธีมอบเมืองตราดคืนจากฝรั่งเศสแล้ว ได้มีพิธีสมโภชเมืองโดยตกแต่งประดับประดาสถานที่ราชการและอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นประดิษฐานบนศาลากลางจังหวัด แล้วนิมนต์พระภิกษุรวมจำนวน ๕๕ รูป เท่าพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการสวดมนต์เย็น โดยมีพระครูสังฆปาโมกข์ เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรีเป็นประธานกลางคืนมีการประดับโคมไฟและมีมหรสพ ตามอาคารบ้านเรือนมีการตกแต่งและตั้งเครื่องบูชา มีการเลี้ยงอาหารแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ชั้นผู้น้อย รุ่งขึ้นเช้ามีการตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วเวลา ๑๔.๐๐ น. เชิญพระบรมฉายาลักษณ์ประดิษฐานที่หน้าศาลากลางจังหวัดแล้วข้าหลวงประจำจังหวัดเชิญธงมหาราชขึ้นสู่ยอดเสา ลั่นกลองชัยและประโคมดนตรี กองทหารและตำรวจทำวันทยาวุธและยิงสลุต เรือมกุฎราชกุมารซึ่งยังทอดสมออยู่ที่ปากอ่าวก็ยิงสลุตด้วย พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา บรรดาข้าราชการและประชาชนต่างพากันเปล่งเสียงไชโย ๓ ครั้ง เสร็จแล้วพระครูเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรีอ่านคาถาพระพรชัยแทนพระสงฆ์ทางฝ่ายราษฎรมีขุนสนิท กำนันตำบลวังกระแจะอ่านคำถวายชัยมงคลในนามประชาชน มีข้อความต่อไปนี้
"ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ข้อพระพุทธเจ้าราษฎรจังหวัดตราดขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า การที่จังหวัดตราดได้กลับคืนมาเป็นพระราชอาณาจักรไทยตามเคยอย่างแต่ก่อนนั้น เป็นพระเดชและพระมหากรุณาธิคุณในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ และข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้กลับมาเป็นข้าขอบขัณฑเสมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท รวมกับพลเมืองซึ่งเป็นชาติเดียวกันตามเดิมนั้น เป็นที่ยินดีของข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้มาประชุมพร้อมกันอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญ พระพุทธมนต์แล้ว ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแลขอให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระเจริญ พระชนมายุยืนนาน สถิตดำรงในสิริราชสมบัติยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ ปราศจากสรรพโรคาพิบัติอุปัทวันตราย มีพระราชประสงค์กิจสิ่งใด ขอให้สำเร็จดังพระราชประสงค์จงทุกประการเทอญ"๓๐
คำถวายชัยมงคลนี้ได้มีการจัดทำคำแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยทางโทรเลข ณ ยุโรปด้วย เมื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระองค์ได้ทรงมีพระราชโทรเลขพระราชทานตอบมาจากเมืองตรอนเซียม ประเทศนอรเวย์ มีข้อความดังนี้
"ถึงผู้ว่าราชการกรมการ และราษฎรเมืองตราด"
เรามีความจับใจเป็นอย่างยิ่งในถ้อยคำที่เจ้าทั้งหลายได้กล่าวแสดงความจงรักภักดีต่อตัวเรา เรามีความยินดีที่ได้เมืองตราดกลับคืนและขออนุโมทนาในการกุศลที่เจ้าทั้งหลายได้พร้อมกันจัดทำในคราวนี้การที่เจ้าทั้งหลายได้พลัดพรากจากเรานั้น เรามีความเสียดายเป็นอันมากแต่บัดนี้มีความยินดีนักที่เจ้าทั้งหลายได้กลับคืนมาในพระราชอาณาจักรของเรา ซึ่งเราจะเป็นธุระจัดการทะนุบำรุงให้เจ้า ทั้งหลายได้รับความสุขสำราญต่อไปภายหน้า เราจะได้มาเมืองตราดเพื่อเยี่ยมราษฎรชาวเมืองตราด ซึ่งเป็นที่ชอบพอและได้เคยพบปะกันมาแต่ก่อน ๆ แล้วนั้นด้วย"๓๑
การเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองตราด
จากการที่ประชาชนชาวจังหวัดตราดได้มีโทรเลขไปกราบทูลแสดงความยินดีที่ได้กลับคืนมาสู่อาณาจักรดังกล่าวแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชปรารถว่า เมื่อเสด็จนิวัติพระนครจะเสด็จแวะเมืองตราดก่อน
ดังนั้นหลังเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปโดยประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งทางฝ่ายผู้รักษาพระนครได้จัดการไปรับเสด็จที่เมืองปีนังเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๕๐ จึงได้เสด็จมายังเมืองตราดโดยมาประทับแรมที่เกาะกูดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสเกาะกระดาษและถึงเมืองตราดในตอนเช้าวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๐๓๒
เมื่อเสด็จออกจากเรือพระที่นั่งขึ้นประทับพลับพลาที่ท่าเรือแล้วพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาถวายเสร็จแล้วพระบริรักษ์ภูธรผู้ว่าราชการเมืองตราดกราบบังคมทูลพระกรุณาอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ที่พักผู้ว่าราชการเมือง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาที่ประทับซึ่งมีพระสงฆ์ ประชาชนและข้าราชการคอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ฝ่ายคณะสงฆ์มีพระญาณวราภรณ์ เจ้าคณะมณฑลจันทบุรีเป็นประธาน เจ้าอธิการ แจ้งว่าที่เจ้าคณะรอง๓๓ ได้อ่านคำถวายพระพรชัยมงคลแทนพระสงฆ์เมืองตราดแสดงความยินดีที่เสด็จพระราชดำเนินมาประพาสเมืองตราด มีข้อความต่อไปนี้
คำถวายพระพรมงคล
ของพระภิกษุสงฆ์เมืองตราด
ขอถวายพระพร เจริญพระสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนม์สุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภาร พระองค์สมเด็จพระปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้าผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐ
อาตมาภาพพระภิกษุสงฆ์ในแขวงเมืองตราด ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสแสดงปิติคาถาในเบื้องต้น และถวายพระพรมงคลในที่สุด
การที่ได้เมืองตราดกลับมาเป็นราชอาณาเขตสยามตามเดิม เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนตั้งต้นแต่พระภิกษุสงฆ์ ได้กลับมาพึ่งพระบรมราชสมภาร บรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ซึ่งเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ บำเพ็ญพุทธศาสนกิจตามสามารถด้วยพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ข้อนี้ทำให้เกิดปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว และยังซ้ำเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองตราดในครั้งนี้ เพื่อให้ชาวเมืองได้เห็นเป็นสวัสดิมงคล และแสดง พระเมตตาคุณที่มีอยู่ในประชาชนชาวเมืองตราดเป็นอันมาก จึงได้เกิดความปราโมทย์โสมนัสทวียิ่งขึ้น ด้วยมาระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นต้นนั้น จึงพร้อมใจกันตั้งสัตยาธิษฐานถวายพระพรมงคล
พาหุ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
ครีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
ทานาทิธมฺมวิธินา ชตวา มุนินþโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลํ
สมเด็จพระผู้มีพระภาคย์มหามุนินทร์ได้ทรงชนะมารกับทั้งเสนาอันร้ายกาจ ทรงคีรีเมขล์เป็นราชคชาธาร มีกรพันหนึ่งซึ่งทรงสรรพอาวุธอันนฤมิต แล้วด้วยธรรมวิธีคือพระบารมีสิบทัศมี พระทานพระบารมีเป็นต้น ด้วยอานุภาพแห่งสมเด็จพระทศพลมหามุนินทร์ซึ่งทรงชนะมารนั้น ขอชัยมงคลอันเลิศจงมีแด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐและขอพระพุทธาทิรัตนัตตยานุภาพจงอภิบาลอุปถัมภ์สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าให้ทรงเกษมสานต์ ทรงพระชนมายุยืนนาน และทรงบริบูรณ์ด้วย วรรณ สุข ทุกทิวาราตรี ยิ่งด้วยพระกำลังปฏิภาณปรีชาและวรกาย ผู้มุ่งหมายอนัตถจงเสื่อมสูญและกลับนำประโยชน์เกื้อกูลมา สรรพอุปสรรคอุปัทวันตราย ทุกขโรคาพาธภัยพิบัติจงพินาศ ราชลาภจงหลั่งไหลมาทุกทิศานุทิศ สรรพธรรมิกราชประสงค์จงประสิทธิดังพระราชหฤทัย โดยไม่เนิ่นช้า สยามานาเขตจงไพศาลและบริบูรณ์ด้วยประโยชน์สาร ขอสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงสถิตยืนนานในพระบรมราชมไหศวริยสมบัติ เพื่อได้ทรงอุปถัมภ์พระบรมพุทธศาสนาให้ถาวรเจริญยิ่ง และเพื่อประชาราษฎรได้ประสบสิ่งซึ่งเป็นคุณประโยชน์สุขทั่วหน้าด้วยพระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณพระบรมราชูปถัมภ์โดยธรรมมิกอุบายเป็นนิจนิรันดร์ ขอถวายพระพร๓๔
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบแล้ว พระสงฆ์สาธุพร้อมกัน จากนั้นได้พระราชทานย่ามที่ระลึกการเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ถวายอดิเรกเสร็จแล้วพระองค์ได้เสด็จออกหน้าพลับพลา ข้าราชการมณฑลจันทบุรีและเมืองตราดตลอดจนราษฎรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน ผู้ว่าราชการเมืองตราดได้อ่านคำถวายพระพรชัยมงคล ในนามประชาชนเมืองตราด มีข้อความต่อไปนี้
คำถวายชัยมงคล
ของประชาชนชาวเมืองตราด
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาแทนบรรดาข้าราชการและประชาชนราษฎรอันล้วนร่วมฉันทสโมสร คำนึงถึงพระเดชพระคุณในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่ได้ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จมาถึงเมืองตราด ให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ถวายบังคมแทบเบื้องพระบาทยุคลในเวลาวันนี้
จำเดิมแต่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทราบความตามโทรเลขที่พระราชทานมาแต่ในเวลาเสด็จประพาสอยู่ ณ ประเทศยุโรปเมื่อ ณ เดือนกันยายน ทรงพระกรุณาดำรัสว่าจะเสด็จมาให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เฝ้าถึงเมืองตราดนี้ ก็ได้พากันตั้งหน้าหมายตาคอยด้วยความยินดีที่จะได้ประสบมงคลสมัยอันนั้นอยู่ แต่มิได้คาดเลยว่าจะทรงพระราชอุตสาหเสด็จมาในเวลาขากลับจากประเทศยุโรปก่อนได้เสด็จคืนยังพระราชนิเวศน์มณเทียรสถานในพระราชธานีที่ได้เสด็จจรจากพรากไปแล้วเป็นช้านาน ที่สู้ทรงทรมานพระองค์เสด็จมาทั้งนี้จะพึงคิดเห็นได้แต่ด้วยเหตุอย่างเดียว คือ ว่าทรงพระเมตตาแก่ชาวเมืองตราดเหมือนอย่างบิดาที่มีความอาวรณ์ระลึกถึงบุตรแล้ว และมิได้คิดแก่ความลำบากยากเข็ญอย่างไร สู้ฝ่าฝืนทูรประเทศทางกันดารไปเพื่อแต่ที่จะให้เห็นหน้าบุตรเป็นที่ตั้ง ดังนี้
อันน้ำใจของประชาชนชาวเมืองตราด เมื่อได้แลเห็นพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐในเวลาวันนี้ ความปิติยินดีตื้นเด็มอกไปทั่วหน้า พ้นวิสัยที่จะพรรณนาด้วยถ้อยคำให้ทรงทราบได้ว่า ความยินดีที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในครั้งนี้มีแก่ชาวเมืองตราดสักเพียงใด ถ้าจะมีที่เทียบเปรียบได้ก็แต่ด้วยความยินดีของพระชาลีนางกัณหาเมื่อได้กลับไปพบเห็นพระเวสสันดรและนางมัทรีที่กล่าวไว้ในกัณฑ์ฉขัติยบรรพนั้นพอจะนับว่าเป็นทำนองเดียวกันได้ด้วยประการทั้งปวง
อำนาจความปิติยินดีที่มีทั่วหน้ากันในครั้งนี้กับทั้งอำนาจกุศลบุญราศีอันบังเกิดแต่ความกตัญญูกตเวทีของชาวเมืองตราด ซึ่งได้มีมั่นคงต่อฝต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งในเวลาทุกข์และสุขสืบเสมอมาทุกเมื่อนี้ สมควรจะอ้างเป็นสัจจาธิษฐานแห่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งจะพร้อมกันทูลถวายพระชัยมงคลให้ประสิทธิในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในเวลานี้ และด้วยอำนาจสัจจาธิษฐานนั้นข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายของพระราชทานถวายพรแด่ สมเด็จพระบรมนาถบพิตรพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขอให้ทรงพระเจริญสิริสุขสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล พระชนมายุสถาพร ขอให้ทรงมีชัยชำนะแก่อริราชดัสกรทั่วทิศานุทิศ และขอให้สรรพราชกิจประสิทธิ์สมดังพระราชหฤทัยจำนงจงทุกประการเทอญ ขอเดชะ๓๕
เมื่ออ่านจบแล้วได้บรรจุคำถวายชัยมงคลในกล่องงาซึ่งทำเป็นรูปกระบอกยอดเป็นพระเกี้ยวทองคำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นได้มีพระราชดำรัสตอบ ดังต่อไปนี้
พระราชดำรัสตอบประชาชนชาวเมืองตราด
ดูกรประชาชนอันเป็นที่รักของเรา ถ้อยคำซึ่งเจ้าทั้งหลายได้มอบฉันทะให้กล่าวเฉพาะหน้าเราเวลานี้เป็นที่จับใจอย่างยิ่ง
สมัยเมื่อเราต้องพลัดพรากจากเขตแดนอันเป็นที่พึงใจซึ่งเราได้ใส่ใจบำรุงอยู่เมื่อนึกถึงประชาชนทั้งหลายอันเป็นที่รักใคร่คุ้ยเคยของเราต้องได้รับความเปลี่ยนแปลงอันประกอบไปด้วยความวิบัติไม่มากก็น้อย ย่อมมีความเศร้าสลดใจเป็นอันมาก
เพราะเหตุฉะนั้น ครั้นเมื่อเราได้รับโทรเลขจากเมืองตราดในเวลาที่เราอยู่ในประเทศยุโรป เป็นสมัยเมื่อเราได้มาอยู่รวมกันอีกจึงมีความยินดีอย่างยิ่ง มีความปรารถนาที่จะใคร่ได้มาเห็นเมืองนี้และเจ้าทั้งหลายเพื่อจะได้ระงับความลำบากอันใดซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยความเปลี่ยนแปลงและเพื่อจะได้ปรากฏเป็นที่มั่นใจแก่เจ้าทั้งหลายว่าการทั้งปวงจะเป็นที่มั่นคงยืนยาวสืบไป เจ้าทั้งหลายผู้ที่ได้ละทิ้งภูมิลำเนาจะได้กลับเข้ามาสู่ถิ่นฐานและได้ละเว้นการทำมาหากินจะได้มีใจอุตสาหะทำมาหากินให้บริบูรณ์ดังแต่ก่อนและทวียิ่งขึ้น ซึ่งเจ้าทั้งหลายคิดเห็นว่าเราเหมือนบิดาที่พลัดพรากจากบุตรจึงรีบมาหานั้นเป็นความคิดอันถูกต้องแท้ ขอให้เชื่ออยู่ในใจเสมอสืบไปในเบื้องหน้าดังเช่นที่คิดเห็นในครั้งนี้ว่า เราคงจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป ย่อมยินดีด้วยในเวลามีความสุข และจะช่วยปลดเปลื้องอันตรายในเวลามีภัยได้ทุกข์
บัดนี้เรามีความยินดีที่ได้เห็นเจ้าทั้งหลายมาสโมสรประชุมกัน ณ ที่นี้ด้วยหน้าตาอัน เบิกบาน ซึ่งเป็นพยานว่าถึงเราได้อยู่ในประเทศที่ไกล แต่รัฐบาลของเราได้จัดการต้อนรับเจ้าทั้งหลายโดยความเอื้อเฟื้อเป็นธรรม และมีความกรุณาสมดังความปรารถนาและคำสั่งของเราเป็นที่พอใจในความจงรักภักดีของเจ้าทั้งหลาย ทั้งในเวลาที่ล่วงมาแล้วและในเวลานี้จึงมีความปรารถนา ที่จะให้เมืองตราดนี้อยู่เย็นเป็นสุขสมบูรณ์และขออำนวยพรแก่ประชาราษฎรให้มีความเจริญสุขสิริสวัสดิ์ ทำมาค้าขึ้นบริบูรณ์มั่งคั่งสืบไปในภายหน้า๓๖
เมื่อจบพระราชดำรัสแล้วประชาชนได้เปล่งเสียง "สาธุ" พร้อมกัน จากนั้นได้พระราชทานพระแสงสำหรับเมือง๓๗ โดยผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้รับจากพระหัตถ์ และอัญเชิญขึ้นพาดไว้เหนือบันไดแก้วบนโต๊ะบูชา ประชาชนและข้าราชการได้พร้อมกันโห่ถวายพระพรชัยมงคล ๓ ครั้ง พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พนักงานประโคมดนตรี
หลังจากนั้นพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้พนักงานแจกเสมาที่ระลึกในการเสด็จประพาส ยุดรปให้แก่เด็กและหัวหน้าราษฎรทุกชาติทุกภาษาด้วย เสร็จแล้วพระะบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสถนนในเมืองแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงท่าเรือในเวลา ๑๖ นาฬิกา เสด็จประทับเรือพระที่นั่งออกจากท่าเรือต่อไปยังเมืองจันทบุรี
การแยกอำเภอทุ่งใหญ่ออกจากเมืองขลุง
เมื่อจังหวัดตราดกลับคืนมาเป็นของไทยตามเดิมแล้ว ได้มีประกาศให้ยุบเมืองขลุงลงให้คงสภาพเป็นเพียงอำเภอขึ้นกับจังหวัดจันทบุรีตามเดิม ส่วนอำเภอทุ่งใหญ่ซี่งได้ประกาศให้ขึ้นกับเมืองขลุง เมื่อปี ๒๔๔๙ นั้น ให้โอนกลับมาขึ้นกับเมืองตราดต่อไปตามเดิม๓๘
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
เทศาภิบาล
แต่เดิมมาหัวเมืองต่าง ๆ มิได้มีการแบ่งออกเป็นท้องที่ย่อย ๆ คงเรียกชื่อเมือง และ หมู่บ้านเท่านั้นต่อมาในปี ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา "ข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ. ๑๑๖" ขึ้นไว้ โดยแบ่งมณฑลออกเป็นเมือง แต่ละเมืองแบ่งออกเป็นอำเภอแต่ละอำเภอแบ่งออกเป็นตำบล แบ่งเป็นหมู่บ้าน มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้บังคับบัญชาปกครองดูแลลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ๓๙
ในเขตจังหวัดได้มีประกาศเกี่ยวกับการแบ่งเมืองต่างๆ ออกเป็นเมืองชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการระบุชื่อ "เมืองตราด" ไว้ โดยขึ้นในเขตมณฑลจันทบุรี ๔๐ ตม "ข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ. 122"
การจัดรูปการปกครองในปัจจุบัน
ระเบียบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
จังหวัดตราด หรือเมืองตราด เดิมจัดแบ่งลักษณะการปกครอง เมืองตราดออกเป็นอำเภอ ๓ อำเภอ ปรากฏหลักฐานที่พระบริหารเทพธานี รวบรวมไว้ว่า๔๑ เมืองตราดในสมัยพระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ (สุข ปรัชญานนท์) เป็นผู้ว่าราชการเมือง (พ.ศ. ๒๔๔๒-๒๔๔๗) ดังนี้
๑. อำเภอเมือง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพระ มีตำบลรวม ๒๓ ตำบล คือ บางพระ เกาะกันเกรา หนองเสม็ด หนองคันทรง แหลมหิน ห้วงน้ำขาว อ่าวญวน หนองโสน น้ำเชี่ยว แหลมงอบ บางปิด ปลายคลอง วังแจะ คลองใหญ่ (เขาสมิง) ห้วงแร้ง ตะกางแหลมฆ้อ ยายหลิ่ว ท่าพริก ชำราก คลองใหญ่ (แหลมงอบ) แหลมกลัด และท่าลุ่ม (คงเป็นท่ากุ่ม) มี ขุนศรีวิไชย เป็นนายอำเภอ (ส่วนคลองใหญ่ปัจจุบันเดิมขึ้นกับเมืองปัจจันตคีรีเขตต์)
๒. อำเภอศรีบัวทอง ตั้งอยู่ที่บ้านท่าฉาง๔๒ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำคลองใหญ่มีตำบล ๑๐ ตำบล คือ ศรีบัวทอง ท่าโสม แสนตุ้ง สะตอ ช้างทูน ประณีต บ่อนาวง ด่านชุมพร ตากแว้ง ท่าฉาง มีนายปลั่งเป็นนายอำเภอ๔๓
๓. อำเภอเกาะช้าง ตั้งอยู่ที่บ้านด่านใหม่ (บ้านคลองนนทรีปัจจุบัน) ท้องที่อำเภอนี้เป็นเกาะทั้งหมด คือ เกาะช้าง เกาะกูด เกาะม้า (เกาะหมาก) เกาะกระดาษ เกาะไม้ซี้ใน เกาะไม้ชี้นอก เกาะคลุ้ม เกาะขาน (เกาะจาน) และเกาะเล็ก ๆ อีกมากมายรวม ๔๑ เกาะ ตั้งเสนาหลาย (ชื่อเสนา) เป็นนายอำเภอ๔๔
อำเภอศรีบัวทองนั้น น่าจะมีการแบ่งแยกออกเป็นอำเภอใหญ่อีกอำเภอหนึ่งชื่อ "อำเภอทุ่งใหญ่ ในสมัยต่อมา ๆ มา แต่ไม่พบหลักฐานยืนยันว่าเป็นปีใดแน่ และต่อมามีประกาศยุบอำเภอ ศรีบัวทองเข้าเป็นอำเภอเดียวกันกับอำเภอทุ่งใหญ่เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๓๔๕ เหตุที่ยุบอำเภอศรีบัวทองนี้เข้าใจว่าคงเป็นเพราะราษฎรที่มีอาชีพขุดพลอยกันมาแต่เดิมนั้น ได้พากันอพยพออกไปทำมาหากินที่อื่น ทำให้หมู่บ้านต่าง ๆ กลายเป็นหมู่บ้านร้างไป ซึ่งถ้าศึกษาจากแผนที่สมัยหลัง๔๖ จะพบชื่อหมู่บ้านร้างอยู่หลายหมู่บ้านด้วยกันในบริเวณดังกล่าวนี้
ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๖๔ ในสมัยพระตราษบุรีศรีสมุทร์เขต (ธน ณ สงขลา) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ได้มีการจัดตั้งกิ่งอำเภอ เพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า กิ่งอำเภอคลองใหญ่ ให้ขุนชำนิ บำราบพาล (คอย อภิบาลศรี) เป็นปลัดกิ่งอำเภอ๔๗ บริเวณที่ตั้งกิ่งอำเภอคลองใหญ่นี้ แต่เดิมขึ้นกับเมืองปัจจันตคีรีเขตต์ และเมืองนี้ถูกฝรั่งเศสยึดครองพร้อมกับเมืองตราดในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๔๙ หลังจากเมืองตราดหลุดพ้นจากการยึดครองของฝรั่งเศสแล้วได้มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาขึ้น ทำให้บริเวณกิ่งอำเภอคลองใหญ่กลับเป็น่ของไทย ส่วนเมืองปัจจันตคีรีเขตต์ ฝรั่งเศสมิยอมคืน
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรด- เกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า "เมือง" มาเป็น "จังหวัด" แทนทั้งหมด๔๘ สำหรับจังหวัดตราด ได้มีประกาศเปลี่ยนชื่อ อำเภอต่าง ๆ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยเปลี่ยนชื่อ "อำเภอเมือง" เป็น "อำเภอบางพระ" และอำเภอทุ่งใหญ่" เป็น "อำเภอเขาสมิง" ส่วนกิ่งอำเภอคลองใหญ่ ยังคงใช้ชื่อเดิมอยู่๔๙
ต่อมาได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่ออำเภอบางพระเป็น อำเภอเมืองตราด เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๑๕๐ และเปลี่ยนชื่ออำเภอเกาะช้าง เป็น อำเภอแหลมงอบ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๘๒๕๑
จากหลักฐานของกรมแผนที่ทหารบก แสดงจังหวัดจันทบุรี มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ ระวาง ๔.๔๘.๑๙ สำรวจ พ.ศ. ๒๔๕๕, ๒๔๕๖ และ ๒๔๕๗ จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๐, ๒๔๖๑, ๒๔๖๒ และ ๒๔๖๘ แบ่งเขตอำเภอดังนี้
๑. อำเภอเมือง มี ๑๗ ตำบล คือ บางพระ วังแจะ หนองเสม็ด หนองคันทรง แหลมหิน ห้วงน้ำขาว อ่าวญวน หนองโสน ปลายคลอง ห้วยแร้ง แหลมฆ้อ ยายหลิ่ว ท่าพริก ชำราก ตะกาง แหลมกลัด และท่ากุ่ม
๒. อำเภอเขาสมิง มี ๑๐ ตำบล คือ เขาสมิง แสนตุ้ง ศรีบัวทอง สะตอ ด่านชุมพร ช้างทูน ประณีต บิ่นนาวง ตากแว้ง และท่าฉาง
๓. อำเภอเกาะช้าง มี ๕ ตำบล คือ น้ำเชี่ยว แหลมงอบ บางปิด เกาะช้าง และเกาะหมาก เปลี่ยนอำเภอเกาะช้างเป็นอำเภอแหลมงอบ
๔. กิ่งอำเภอคลองใหญ่ มีตำบลเดียว คือ ตำบลคลองใหญ่
การเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอ เขตตำบล และเขตหมู่บ้าน ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ขอสรุปดังนี้
๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๙ โอนตำบลแหลมกลัด อำเภอคลองใหญ่ ขึ้นอำเภอบางพระ (อำเภอเมืองตราด)๕๒
๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๑ ยุบตำบลบ้านแหลมหินรวมกับตำบลหนองคันทรง ยุบตำบล ปลายคลองรวมกันกับตำบลวังแจะ และโอนหมู่บ้านบางหมู่บ้านในตำบลบางพระขึ้นตำบลหนองเสม็ด๕๓
๒๕ กันยายน ๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อตำบลอ่าวญวน เป็นตำบลอ่าวใหญ่๕๔
๔ ธันวาคม ๒๔๘๕ เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในเขตอำเภอเมือง และเขตอำเภอเขาสมิง๕๕
๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ โอนเกาะกูดเกาะไม้ซี้ จากตำบลเกาะช้าง อำเภอแหลมงอบขึ้นตำบลคลองใหญ่ กิ่งอำเภอคลองใหญ่๕๖
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๙๐ และเรื่องตั้ง และเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๙๑ นั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลง หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอต่าง ๆ ในเขตอำเภอเมือง ๓ ตำบล ๑๑ หมู่บ้าน เขตอำเภอเขาสมิง ๓ ตำบล ๑๑ หมู่บ้าน๕๗
๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๑ โอนเกาะกูด ตำบลคลองใหญ่ กิ่งอำเภอคลองใหญ่ตั้งเป็นหมู่ ๙ ตำบลเกาะช้าง อำเภอแหลมงอบ๕๘
๑๙ มิถุนายน ตั้งตำบลเกาะหมาก อำเภอแหลมงอบ๕๙
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอไม้รูด กิ่งอำเภอคลองใหญ่ ให้มีหมู่บ้าน ๓ หมู่บ้าน ตำบลหาดเล็ก ๓ หมู่บ้าน๖๐
๓ ธันวาคม ๒๕๐๒ ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งกิ่งอำเภอคลองใหญ่ เป็นอำเภอคลองใหญ่๖๑
๑ สิงหาคม ๒๕๑๓ ประกาศกระทรวงมหาดไทย แบ่งอำเภอเขาสมิง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ บ่อไร่ มี ๓ ตำบล คือ ตำบลบ่อพลอย ตำบลช้างทูน และตำบลด่านชุมพล๖๒ ต่อมาได้ ตั้งตำบลหนองบอน ขึ้นอีกเมื่อ ๒ สิงหาคม ๒๕๑๙๖๓
๑๓ กรกฏาคม ๒๕๒๔ มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอบ่อไรเป็นอำเภอบ่อไร่๖๔
ในปัจจุบัน (๒๕๒๖) จังหวัดตราดแบ่งเขตการปกครองท้องที่เป็น ๕ อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเขาสมิง อำเภอคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ และอำเภอบ่อไร่
ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
๑. การจัดตั้งเทศบาล จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาล เมืองตราด จังหวัดตราด พุทธศักราช ๒๔๗๘ ซึ่งตราไว้เมื่อ ๗ ธันวาคม ๒๔๗๘ ตามพระราชกฤษฎีกามาตรา ๔…ดังนี้
ด้านเหนือ ตั้งแต่หลักเขตต์ที่ ๑ ต้นทางเดินวัดกลางด้านเหนือตรงไปทิศตะวันออกถึงหลักเขตต์ที่ ๒ ริมถนนไปตำบลวังกระแจะ๖๕ ฝั่งตะวันตก ข้ามถนนนั้น ตัดตรงผ่านทุ่งนาไปยังเขตต์ที่ ๓ ริมถนนไปท่าเรือจ้างฝั่งเหนือ
ด้านตะวันออก ตั้งแต่หลักเขตต์ที่ ๓ ข้ามถนนไปท่าเรือจ้างถึงหลักเขตต์ที่ ๔ ระยะทาง จากหลักเขตต์ที่ ๓ นั้น ๕๒๘ เมตร
ด้านใต้ ตั้งแต่หลักเขตต์ที่ ๔ ตัดตรงเป็นมุมฉากถึงหลักเขตต์ที่ ๕ ริมแม่น้ำบางพระ ฝั่งตะวันออกข้ามแม่น้ำถึงหลักเขตต์ที่ ๖ ริมแม่น้ำบางพระฝั่งตะวันตก เลียบตามริมแม่น้ำบางพระฝั่งใต้ถึงหลักเขตต์ที่ ๗ ริมถนนจะไปอำเภอเกาะช้างฝั่งตะวันออก ข้ามถนนเลียบตามริมแม่น้ำบางพระฝั่งใต้ของหลักเขตต์ที่ ๘ ริมเชิงสะพานเกาะกันเกราตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามแม่น้ำถึงหลักเขตต์ที่ ๙ ตรงริม เชิงสะพานเกาะกันเกราฝั่งเหนือ
ด้านตะวันตก ตั้งแต่หลักเขตต์ที่ ๙ เลียบริมทางเดินวัดโบสถ์ด้านตะวันตกไปบรรจบหลักเขตต์ที่ ๑๖๖
ต่อมาเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล เมืองตราด พ.ศ. ๒๕๐๔ ทำให้เทศบาลเมืองตราดมีเนื้อที่ ๒.๕๒ ตารางกิโลเมตร๖๗
๖๗ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๘ ตอนที่ ๙๗ วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ หน้า ๑๒๔๗-๑๒๕๐
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดตราด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, ๒๕๒๗.
๑ พระบริหารเทพธานี พงศาวดารชาติไทยเล่ม ๕ หน้า ๔๓๒-๔๓๓
๒ หลวงวิจิตรวาทการ ประวัติศาสตร์สากล เล่ม ๓ หน้า ๒๒๐-๒๓๓
๓ ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ภาคที่ ๖ หน้า ๓๖๗
๔ พระบริหารเทพธานี พงศาวดารชาติไทย เล่ม ๓ หน้า ๔๙๙
๕ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ หน้า ๓๓
๖ เรื่องเดียวกัน หน้า ๒๕
๗ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ หน้า ๑๔๙
๘ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หน้า ๑๔๓-๑๔๕
๙ พระยาราชสุภาวดี (สิง สิงหเสนี) ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี และเจ้าพระยาบดินทรเดชาตามลำดับ มีตำแหน่งเป็นสมุหนายก
๑๐ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง สิงหเสนี) อานามสยามยุทธ ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวน หน้า ๒๒๙
๑๑ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) สมุหพระกลาโหม ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาศรีสุรียวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ตามลำดับ
๑๒ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง สิงหเสนี) อานามสยามยุทธ ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวน หน้า ๔๗๑-๔๗๒
๑๓ เรื่องเดียวกัน หน้า ๔๘๖
๑๔ เรื่องเดียวกัน หน้า ๕๒๕
๑๕ เรื่องเดียวกัน หน้า ๕๓๒
๑๖ เรื่องเดียวกัน หน้า ๕๔๖-๕๔๘
๑๗ เรื่องเดียวกัน หน้า ๕๕๑
๑๘ เรื่องเดียวกัน หน้า ๕๖๑-๕๖๒
๑๙ เรื่องเดียวกัน หน้า ๕๖๔-๕๖๕
๒๐ เรื่องเดียวกัน หน้า ๕๗๐-๕๗๑
๒๑ เรื่องเดียวกัน หน้า ๗๖๐
๒๒ ราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑ วันอาทิตย์แรม ๑๑ ค่ำเดือน ๑ ปีจอ ฉศก ๑๒๓๖หน้า ๓๐๖
๒๓ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ เล่ม ๒ หน้า ๑๗๑-๑๘๒
๒๔ พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ และนาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา สมัย ร.ศ. ๑๑๒ หน้า ๑๕๘
๒๕ เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๖๖
๒๖ พลตำรวจตรี ชวรวย ปริยานนท์ "ปัจจันตคีรีเขตต์" ตราไปรษณียากรปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒
๒๗ พระบริหารเทพธานี พงศาวดารชาติไทยเล่ม ๓ หน้า ๔๗๕-๔๗๖
๒๘ พระบริหารเทพธานี "ประวัติจังหวัดตราด" นาวิกศาสตร์ปีที่ ๑๘ เล่มที่ ๘ (สิงหาคม ๒๔๗๘) หน้า ๑๘๙๑-๑๘๙๒
๒๙ หลวงสาครคชเขตต์ จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดเมืองตราด ๒๕๐๓ หน้า ๘๑
๓๐ เรื่องเดียวกัน หน้า ๘๓
๓๑ เรื่องเดียวกัน หน้า ๘๔
๓๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๔ วันที่ ๑๒ มกราคม ร.ศ. ๑๒๖ หน้า ๑๑๑๒-๑๑๑๔
๓๓ พระวิมลเมธาจารย์ วรญาณคณารักษ์ สังฆปาโมกข์ (เจ้ง จนþทสโร) เจ้าคณะจังหวัดตราดในเวลาต่อมา
๓๔ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๔ วันที่ ๑๒ มกราคม ร.ศ. ๑๒๖ หน้า ๑๑๑๘-๑๑๑๙
๓๕ เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๑๑๙-๑๑๒๐
๓๖ เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๑๒๐-๑๑๒๑
๓๗ ปัจจุบันยังคงเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลางจังหวัด
๓๘ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๔ วันที่ ๑๕ กันยายน ร.ศ. ๑๒๖ หน้า ๕๘๙-๕๙๐
๓๙ เสทื้อน ศุภโสภณ ประวัติศาสตร์ไทยฉบับพัฒนาการ (ส.๔๒๑) หน้า ๙๓
๔๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 วันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 1 ปีจอ ฉศก 1236 หน้า 306
๔๑ พระบริหารเทพธานี ประวัติจังหวัดตราด นาวิกศาสตร์ ปีที่ ๑๘ เล่ม ๘ (สิงหาคม ๒๔๗๘) หน้า ๑๘๕๘-๑๘๖๐
๔๒ ปัจจุบันท่าฉาง คือ ตำบลวังตะเคียน
๔๓ ต่อมานายปลั่งย้ายไปเป็นนายอำเภอเกาะช้างเลื่อนเป็นขุนคชคีรีทวีป และก่อนเกษียณอายุได้เป็น พระยาวิรัตเศรณี อัยการ มณฑลอุบลราชธานี
๔๔ ต่อมาเป็นนายอำเภอศรีบัวทองและเลื่อนเป็นหลวงศรีปทุมเขตต์
๔๕ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๒ วันที่ ๑๖ เมษายน ร.ศ. ๑๒๔ หน้า ๔๙
๔๖ แผนที่จังหวัดจันทบุรี มาตราส่วน ๑: ๕๐,๐๐๐ ระวาง ๔.๔๘.๑๗ พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๐, ๒๔๖๑, ๒๔๖๒ และ ๒๔๖๘
๔๗ พระบริหารเทพธานี "ประวัติจังหวัดตราด" "นาวิกศาสตร์" ปีที่ ๑๘ เล่ม ๙ (กันยายน ๒๔๗๘) หน้า ๒๑๙๓
๔๘ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๓๓ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๖๐ หน้า ๕๑-๕๓
๔๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๓๔ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๖๐ หน้า ๔๐-๖๘
๕๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๕ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ หน้า ๖๕๘-๖๖๖
๕๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๘๒ หน้า ๓๕๔-๓๖๓
๕๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๓ วันที่ ๒๙ พฤศิจายน ๒๔๗๙ หน้า ๒๒๘๒
๕๓ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๕ วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๘๑ หน้า ๑๗๕๒-๑๗๕๓
๕๔ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๖ วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๒ หน้า ๘๗๗-๘๘๒
๕๕ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๐ ตอนที่ ๒ วันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๖ หน้า ๙๖-๙๗
๕๖ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๔ ตอนที่ ๙ วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ หน้า ๒๕๕
๕๗ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔ ตอนที่ ๒๖ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๙๐ หน้า ๑๓๒๔-๑๓๒๖ และเล่ม ๖๕ ตอนที่ ๕๕ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๙๑ หน้า ๒๘๐๕-๒๘๐๕
๕๘ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๕ หน้า ๓๘๖๖
๕๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๙ ตอนที่ ๔๓ วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๙๕ หน้า ๒๐๐๘-๒๐๐๙
๖๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๕ ตอนที่ ๙๘ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ หน้า ๒๙๖๘-๒๙๖๙
๖๑ ราชกิจจานุเบกษา เล้มที่ ๗๖ ตอนที่ ๑๑๓ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๐๒ หน้า ๘-๑๑
๖๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๘๗ ตอนที่ ๗๓ (ฉบับพิเศษ) วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๑๓ หน้า ๓
๖๓ ที่ทำการปกครองจังหวัด
๖๔ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ ตอนที่ ๑๑๕ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๔
๖๕ ตำบลวังกระแจะนี้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๘๕ โดยโอนหมู่บ้านที่ ๖, ๘ ตำบลบางพระรวมกับตำบลวังแจะตั้งเป็นตำบลใหม่ เรียกว่า ตำบลวังกระแจะ
๖๖ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๘ หน้า ๑๖๖๒-๑๖๖๕
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น