สมัยฟูนัน
นักโบราณคดีไทยได้แบ่งสมัยแห่งประวัติศาสตร์ในประเทศไทยไว้เป็น ๓ ยุคคือ
- ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แบ่งเป็นยุคหินและยุคโลหะซึ่งยุคหินนั้นแบ่งเป็นยุคหินเก่า, หินกลางและยุคหินใหม่ ส่วนยุคโลหะนั้นแบ่งเป็นยุคโลหะตอนต้น และยุคโลหะตอนปลาย
- ยุคหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์ เป็นสมัยสุวรรณภูมิ มีอาณาจักรฟูนาน
- ยุคประวัติศาสตร์ แบ่งได้ ๒ ตอน คือ ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น ประกอบด้วยอาณาจักรอิศานปุระ (เจนละ) ทวารวดี ศรีวิชัย โยนก ศรีจนาศะ ลพบุรี (ละโว้ปุระ) และยุคประวัติศาสตร์ไทยซึ่งแบ่งได้ ๒ สมัย คือ สมัยรัฐไทยอิสระประกอบด้วยลานนาไทย สุโขทัย ละโว้ อยุธยา และนครศรีธรรมราช อีกสมัยคือสมัยอาณาจักรไทย แบ่งได้ ๓ สมัย คือ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
สมัยหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์ คือ ยุคสุวรรณภูมิซึ่งมีอาณาจักรฟูนาน เริ่มแต่พุทธศตวรรษที่ ๖ - ๑๒ นั้น หนังสือ “สมุดเพชรบุรี” กล่าวว่ามีความเชื่อตาม ดร.จัง บัวเซอร์ ลิเอร์ (Jean Boisselier) ว่าอาณาจักรนี้มีอาณาเขตตั้งแต่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตลอดไปถึงลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางและเวียดนามใต้ทั้งนี้ เพราะได้ขุดพบโบราณวัตถุหลายอย่างแสดงว่าเป็นแหล่งและสมัยเดียวกัน และยังเชื่อว่าอาณาจักรนี้จะต้องคลุมถึงราชบุรี เพชรบุรี ตลอดไปจนถึงชุมพรโดยได้สันนิษฐานว่าเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ชาวบ้านได้ขุดพบโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น ลูกปัด ศิวลึงค์ ฐานตั้งศิวลึงค์ ที่เขาสามแก้ว อำเภอเมืองชุมพร โดยเฉพาะลูกปัดเป็นชนิดเดียวกัน นอกจากนี้ได้พบลูกปัดสมัยทวารวดีอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้สันนิษฐานว่าเมืองเพชรบุรีคงอยู่ในอาณาจักร ดังกล่าว
สมัยทวารวดี
อาณาจักรทวารวดีอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ อาณาจักรนี้มีกล่าวไว้ใน จดหมายเหตุจีนและจดหมายเหตุการเดินทางของหลวงจีน เรียกอาณาจักรนี้ว่า ตุยลอปาตี หรือ
สุ้ยล้อปึ๊งตี๋ ซึ่งรวมเมืองราชบุรี เพชรบุรี คูบัว พงตึก นครปฐม กำแพงแสน ลพบุรี นครสวรรค์ ลำพูน ฯลฯ นักโบราณคดีเชื่อกันว่า ชนชาติที่อาศัยอยู่ในแถบนี้เป็นชนชาติมอญ ศิลปวัฒนธรรมที่ได้พบในภาคกลางโดยเฉพาะที่เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม ส่วนใหญ่เป็นศิลปะที่มีฝีมือดีกว่าแถบอื่น (ผู้เขียนเชื่อว่าอาณาจักรนี้เลยลงไปถึงเมืองปราณบุรี และชุมพรดังหลักฐานที่ได้กล่าวมาแล้ว) สำหรับเมืองหลวงของอาณาจักรนี้ บ้างก็ว่าเป็นนครปฐม บ้างก็ว่าเป็นเมืองอู่ทอง เพราะทั้งสองแห่งได้พบโบราณสถานขนาดใหญ่
จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวไว้ว่า พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชพระบวรเชษฐพระราชกุมาร อันเป็นพระราชนัดดา ได้ลาพระเจ้าปู่พระเจ้าย่ามาตั้งบ้านเมืองอยู่ ณ เพชรบุรี โดยได้นำคนมาสามหมื่นสามพันคน ช้างพังทลายห้าร้อยเชือก ม้าเจ็ดร้อยตัว สร้างพระราชวังและบ้านเรือนอยู่หน้าพระลาน ให้คนเหล่านั้นทำนาเกลือ ครองราชย์อยู่กรุงเพชรบุรีไม่นานนัก มีสำเภาจีนลำหนึ่งถูกพายุมาเกยฝั่ง ชาวเพชรบุรีได้นำขุนล่ามจีนเข้าเฝ้า ขุนล่ามได้ถวายเครื่องราชบรรณาการแก่กษัตริย์เมืองเพชรบุรี ขุนล่ามจีนได้ขอฝาง ทางเมืองเพชรบุรีได้มอบฝางให้จนเต็มเรือ เมื่อเรือกลับถึงเมืองจีน พระเจ้ากรุงจีนทรงทราบจึงโปรดพระราชทานบุตรีชื่อ พระนางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีทองสมุทร ซึ่งประสูติแต่นางจันทรเมาลีศรีบาทนาถสุรวงศ์พระธิดาเจ้าเมืองจำปาได้ถวายแก่พระเจ้ากรุงจีน พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชทรงมี พระราชบุตรหลายพระองค์ องค์หนึ่งพะนามว่าพระพนมวังมีมเหสีทรงพระนามว่าพระนาง สะเดียงทอง พระพนมทะเลโปรดให้ไปสร้างเมืองนครดอนพระ พร้อมด้วยพระเจ้าศรีราชา พระราชทานคนเจ็ดร้อยคน แขกห้าร้อยคน ช้างสามร้อยเชือก ม้าสองร้อยตัว เมื่อไปถึงเมืองและสร้างพระธาตุ จากตำนานเรื่องนี้แสดงว่า เมืองเพชรบุรีได้เจริญรุ่งเรืองและเป็นเมืองหลวง เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง พระโอรสของกษัตริย์เมืองนี้ได้ไปสร้างเมืองศิริธรรมนครหรือนครศรีธรรม- ราชและสร้างพระบรมธาตุเมืองนครด้วย
จากคำให้การของชาวกรุงเก่าได้กล่าวถึงพระเจ้าอู่ทองสร้างเมืองเพชรบุรีไว้ว่า พระ-อินทราชาซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าชาติราชาได้ครองเมืองสิงห์บุรี พระอินทราชาไม่มีโอรส จึงทรงมอบราชสมบัติให้พระราชอนุชาครองราชสมบัติแทน พระนามว่าพระเจ้าอู่ทอง ส่วน พระองค์ได้เสด็จไปซ่อมแปลงเมืองเพชรบุรีเป็นเมืองหลวง บ้างก็กล่าวว่าพระองค์ถูกพระอนุชาและพระมเหสีคบคิดกันจะลอบปลงพระชนม์ พระองค์จึงหนีไปสร้างเมืองเพชรบุรี ต่อมาทรงได้พระราชโอรสองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระอู่ทอง ตามชื่อพระเจ้าอา พระโอรสองค์นี้ประสูติแต่พระมเหสีชื่อ มณีมาลา เมื่อพระอู่ทองมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พระอินทราชาสวรรคต พระองค์จึงได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอู่ทอง มเหสีทรงพระนามว่า พระนางภูมมาวดีเทวี
ในศักราช ๑๑๙๖ พระเจ้าอู่ทองได้ทรงแบ่งเขตแดนกับพระเจ้าศรีธรรมโศกราช เจ้าเมืองศิริธรรมนคร โดยใช้แท่นหินเป็นเครื่องหมาย ทางเหนือเป็นของพระเจ้าอู่ทอง ทางใต้เป็นของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และทั้งสองประเทศจะเป็นไมตรีเสมอญาติกัน หากพระเจ้าศรี-ธรรมโศกราชสิ้นพระชนม์เมื่อใด ก็ขอฝากนางพญาศรีธรรมโศกราช พญาจันทรภานุและพญา-พงศ์สุราหะพระอนุชาด้วยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยทางฝ่ายเพชรบุรีส่งเกลือไปให้ ทางเมืองนครศรีธรรมราชส่งหวาย แซ่ม้าเชือก เป็นต้น มาให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราชฯ ให้ซ่อมแปลงพระธาตุและส่งเครื่องราชบรรณาการและพระราชสาส์นมายังพระเจ้าอู่ทอง พระองค์โปรดฯ ให้นำเครื่องไทยทานไปยังเมืองนครศรีธรรมราช
ต่อมาเมืองเพชรบุรีเกิดข้าวยากหมากแพง ราษฎรอดอยาก เกิดโรคภัยไข้เจ็บ พระเจ้าอู่ทองจึงทรงหาที่ตั้งเมืองใหม่ โดยทรงตกลงสร้างเมืองขึ้น ณ ตำบลหนองโสน ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ทรงสร้างนครอินทปัตย์ เมื่อ พ.ศ.๑๑๑๑ เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้วทรง ตั้งชื่อว่ากรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา มหาดิลกบวรรัตนราชธานีบุรีรมย์ และทรงสถาปนาพระองค์ใหม่ว่าพระเจ้ารามาธิบดีสุริยประทุมสุริยวงศ์
จากบันทึกของลาลูแบร์ได้กล่าวถึงกษัตริย์เมืองเพชรบุรีไว้ว่า ปฐมกษัตริย์สยามทรงพระนามว่าพระปฐมสุริยเทพนรไทยสุวรรณบพิตร ครองนครไชยบุรี พ.ศ.๑๓๐๐ สืบราชสันติวงศ์มาสิบชั่วกษัตริย์ องค์สุดท้ายทรงพระนามว่าพญาสุนทรเทพมหาเทพราช โปรดฯ ให้ย้ายเมืองหลวงตั้งชื่อใหม่ว่าธาตุนครหลวง (Tasoo Nocorn Louang) ในปี พ.ศ.๑๗๓๑ กษัตริย์องค์ที่ ๑๒ สืบต่อมาจากพญาสุนทรฯ ทรงพระนามว่าพระพนมไชยศิริ พระองค์โปรดฯ ให้ราษฎรไปอยู่ ณ เมืองนครไทยทางตอนเหนือของเมืองพิษณุโลก ส่วนพระองค์เองไปสร้างเมืองใหม่ชื่อพิบพลี (Pipeli) ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีพระมหากษัตริย์สืบต่อมา ๔ ชั่วกษัตริย์จนถึงองค์สุดท้ายทรงพระนามว่า รามาธิบดี ได้สร้างเมืองสยามขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๔ จากบันทึกนี้กับตำนานเมืองนครศรีธรรมราชมีส่วนคล้ายคลึงกันมาก เพียงแต่เพี้ยนนามเท่านั้น คือ พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชกับพระพนมไชยศิริ ส่วนองค์ที่สร้างกรุงศรี-อยุธยานั้นพระนามตรงกัน
อย่างไรก็ตาม เรื่องพระพนมไชยศิรินี้ บางตำนานได้กล่าวไว้ว่า เป็นเจ้าเมืองเวียง-ไชยปราการได้หนีข้าศึกมาจากเมืองสุธรรมวดี (สะเทิม) เมื่อ พ.ศ.๑๕๔๗ ในตอนแรกจะอพยพครอบครัวไปทางทิศตะวันตกของแม่น้ำกก แต่ในขณะนั้นในแม่น้ำมีมาก จึงล่องใต้มายังตำบลหนึ่งแล้ว จึงสร้างเมืองขึ้นให้ชื่อว่า กำแพงเพชร และที่เมืองสุโขทัยยังมีเมืองๆ หนึ่งชื่อ เมืองเพชรบุรี อยู่ที่อำเภอคีรีมาศริมฝั่งคลองสาระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง
เรื่องเมืองเพชรบุรี หรืออาณาจักรเพชรบุรี เคยมีกษัตริย์ – ปกครองนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้ข้อคิดเห็นว่า เดิมเมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้ว เมืองเพชรบุรีมีกษัตริย์ปกครองเช่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช มาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นใหญ่ อำนาจของเมืองทั้งสองจึงตกแก่กรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะรวบรวมพระนามกษัตริย์อาณาจักรเพชรบุรีที่ปรากฏมี ๖ พระนามคือ
๑. พระพนมทะเลศรีมเหนทราชาธิราช
๒. พระพนมไชยศิริ
๓. พระกฤติสาร
๔. พระอินทราชา
๕. พระเจ้าอู่ทอง
๖. เจ้าสาม
สมัยกรุงสุโขทัย
เมืองเพชรบุรีในสมัยสุโขทัยนั้น เข้าใจว่าเป็นอาณาจักรเล็กๆ อาณาจักรหนึ่งขึ้นตรงต่ออาณาจักรสุโขทัย จากบันทึกของจีนสมัยพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ พ.ศ.๑๘๓๗ กล่าวว่า “กัมจูยือตัง (กันจูเออตัน กมรเตง) แห่งเมืองปิกชิกฮั้นปูลีเฮียะ (ปีฉีปุลีเยะเพชรบุรี) ส่งทูตมาถวายเครื่องบรรณาการ” แต่จดหมายเหตุบางฉบับเขียนเป็น ปิกชิกปูลี หรือ ปิชะปูลี ซึ่งกล่าวถึงเมืองเพชรบุรี นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่า “ พระโองการชี้ชวนให้กันจูยือตัง (กันจูเออตัน, กมรเตง) เจ้าประเทศสยามมาเฝ้า มีกิจก็ให้ลูกน้องชายกับอำมาตย์มาเป็นตัวจำนำ” และใน พ.ศ.๑๙๓๔ สมัยรัชกาลพระเจ้าฮ่งบู้ ประเทศริวกิวสยาม เปียกสิกโปบลี้ (เปะชีปาหลี่) กัศมิระ เข้าถวายบรรณาการ ข้อความนี้นายเลียง เสถียรสุต ผู้แปลโดยอธิบายว่า เมืองเปียกกสิกโปบลี้หรือเปะซีปากลี่ นั้นหมายถึงแคว้นโคถานในมงโกล แต่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเมืองเพชรบุรีมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคำอื่นที่จีนได้บันทึกไว้ดังคำแรก ๆ ที่กล่าวไว้ข้างบนใน พ.ศ.ดังกล่าวจะตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ซึ่งครองราชย์ถึง พ.ศ.๑๙๔๒
ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ได้จารึกเรื่องราวในสมัยนั้นไว้ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงพระราชอาณาเขตไว้ว่า “เบื้องตะวันออกรอดสระหลวงสองแควลุมบาจายสคาเท้าฝั่งโขงถึงเวียงจันเวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอนรอดคนทีพระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราชฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว
สมัยกรุงศรีอยุธยา
การปกครองหัวเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้จัดแบ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายตะวันออก หัวเมืองฝ่ายตะวันตก หัวเมืองฝ่ายเหนือ และหัวเมืองปักษ์ใต้ สำหรับเมืองเพชรบุรีนั้นสังกัด หัวเมืองฝ่ายตะวันตกซึ่งมีเมืองต่าง ๆ ดังนี้ เมืองเพชรบุรี ราชบุรี นครไชยศรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ศรีสวัสดิ์ ไทรโยคท่ากระดาน ทองท่าพี และเมืองทองผาภูมิ
ในสมัยนี้อาจถือได้ว่า เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่ง เพราะเป็นเมืองที่ข้าศึกต้องยกทัพผ่านเข้ามา เพื่อจะไปตีกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองท่าที่เรือสินค้าต่าง ๆ จอดแวะพักก่อนที่จะเข้าไปยังเมืองหลวง หรือจะล่องไปยังหัวเมืองปักษ์ใต้ หรือจะเดินทางไปเมืองมะริด เมาะลำเลิง หัวเมืองมอญ ดังนั้นเจ้าเมืองนี้จึงต้องมีความรู้ความสามารถหลายด้าน คือทั้งด้านการรบ การปกครอง รวมทั้งการติดต่อสัมพันธ์กับเมืองอื่น ในส่วนการทำมาหากินนั้น เมืองนี้ก็อุดมสมบูรณ์ทั้งข้าวปลาอาหาร ยามใดที่บ้านเมืองเปลี่ยนแผ่นดิน หรือมีข้าศึกมาติดพันหลายด้าน เมืองเพชรบุรีต้องเตรียมตัวที่จะต่อสู้กับศัตรูโดยตรงรวมทั้งศัตรูที่ลอบเข้ามาปล้นบ้านเมืองซ้ำเติมอีกด้วย
ใน พ.ศ.๒๑๐๐ แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียงปีเดียว พระยาละแวกก็ยกทัพมาตี กรุงศรีอยุธยา มีกำลังพลเพียงสามหมื่น ขณะนั้นปืนใหญ่น้อยรอบพระนครถูกพระเจ้าหงสาวดีเอาไปเกือบหมดสิ้น เมื่อได้ปรึกษากับเสนาบดีทั้งหลายแล้ว บางท่านว่าควรอพยพไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลกชั่วคราว โดยให้รีบแต่งกองเรือพระที่นั่ง การครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองเพชรบุรี คือ พระเพชรรัตน์เจ้าเมืองเพชรบุรีในขณะนั้นมีความผิดด้วยสถานใดไม่ทราบได้ ถูกปลดออกจากเจ้าเมืองตนจึงคิดขบถโดยเตรียมสะสมผู้คนไว้เพื่อปล้นทัพหลวงที่จะแยกไปยังเมืองพิษณุโลกแต่พระองค์มิได้เสด็จทั้งนี้เพราะขุนเทพวรชุนได้กราบทูลให้ ต่อสู้กับเขมรเพราะเห็นว่าการทัพครั้งนี้ไม่ใหญ่โต พระองค์จึงเตรียมรับศึกเขมร การรบคราวนี้เขมรไม่สามารถตีเอากรุงศรีอยุธยาได้ จึงยกทัพกลับไป
ในสมัยเดียวกันนี้เมื่อ พ.ศ.๒๑๑๓ พระยาละแวกได้ให้พระยาจีนจันตุกับพระยาอุเพศราช ยกทัพเรือมาตีเมืองเพชรบุรีด้วยกำลังพลสามหมื่น พระศรีสุรินทรฤาไชยเจ้าเมืองเพชรบุรี พร้อมด้วยกรมการเมืองได้รักษาเมืองไว้เต็มความสามารถรบพุ่งต่อสู้กันถึงสามวัน ข้าศึกเสียรี้พลและอาวุธเป็นจำนวนมาก เมื่อพระยาทั้งสองเห็นว่าจะตีเมืองเพชรบุรีไม่ได้แน่แล้ว จึงยกทัพกลับ แต่พระยาจีนจันตุมิได้กลับเมืองเขมร ด้วยเกรงพระยาละแวกจะเอาโทษในฐานที่ตีเอาเมืองเพชรบุรีไม่ได้ จึงอพยพครอบครัวเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาธิราชทรงอุปถัมภ์เป็นอย่างดี แต่มินานพระยาจีนจันตุได้ลอบหนีไปโดยสำเภา
ครั้นถึง พ.ศ.๒๑๑๕ ในเดือนสาม พระยาละแวกได้ยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรีอีก คราวนี้มาด้วยตนเอง มีพลประมาณเจ็ดหมื่นคน ทางกรุงศรีอยุธยาสมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดฯ ให้เมืองยโสธรราชธานีกับเมืองเทพราชธานี ยกทัพออกไปช่วยออกพระศรีสุรินทรฤาไชย เจ้าเมืองเพชรบุรี ต่างก็ได้ช่วยกันตกแต่งกำแพง คู หอรบให้แข็งแรง เมื่อพระยาละแวกยกทัพมาล้อมเมืองเพชรบุรีได้สามวันจึงให้ทหารเอาบันไดปีนกำแพงเมือง แต่ชาวเพชรบุรีได้ต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ ข้าศึกไม่สามารถจะตีเอาเมืองได้จึงถอยออกไป และคิดว่าหากเข้าตีไม่ได้ก็จะยกทัพกลับ แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ภายในค่ายเมืองเพชรบุรี เริ่มแตกความสามัคคีกันระหว่างพระยาทั้งสาม คือมิได้ร่วมมือกันวางแผนปราบปรามข้าศึก ต่างก็บังคับบัญชาทหารฝ่ายของตน มิได้สัมพันธ์ร่วมมือรบ หรือปรึกษากัน ครั้นถึงวันแปดค่ำพระยาละแวกได้ยกเข้าตีทางด้านตำบลคลองกระแชง และทางด้านตำบลบางจานยกเข้าเผาหอรบทลายลงพร้อมกับปีนกำแพงเข้าเมืองได้ ออกพระศรีสุรินทรฤาไชย เมืองยโสธรราชธานี เมืองเทพราชธานีตายในที่รบ พระยาละแวกได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากไปยังเขมรเมืองเพชรบุรีต้องแตกยับเยินครั้งนี้เพราะผู้นำแตกความสามัคคีกัน อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นมินานบ้านเมืองก็คงสภาพปกติ
สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงเตรียมกองทัพที่จะยกไปตีเมืองเขมร โดยเกณฑ์พลจากเมืองนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองปักษ์ใต้เกณฑ์กองเรืองรบ จำนวน ๒๕๐ ลำ จากเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ไชยา คนสองหมื่น มอบให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพกองเรือนี้เพื่อจะยกไปตีเมืองป่าสักของเขมรซึ่งมีพระยาวงศาธิราชเป็นแม่ทัพ กองทัพเขมรแตกย่อยยับ พลทหารจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก พระยาวงศาธิราชตายในที่รบ ทัพไทยตีได้เมือง ป่าสักพระยาเพชรบุรียกทัพรุดไปยังเมืองปากกระสัง ซึ่งขณะนั้นทัพของพระยาราชวังสันกำลังรบกับเขมรอยู่ พระยาเพชรบุรีจึงยกตีขนาบเข้าไปทัพเขมรแตก กองทัพพระยาราชวังสันกับพระยาเพชรบุรียกเข้าตีเมืองจัตุรมุขแตก แล้วยกไปสมทบกับทัพหลวงที่เมืองละแวกยกเข้าตีเมืองละแวกแตก จับพระยาละแวกทำพิธปฐมกรรม สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงยกทัพกลับ
ในคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงยกทัพไปตีพม่านั้น พระยาเพชรบุรีก็เป็นนายทัพด้วย เมื่อกองทัพบกไปถึงแม่น้ำสะโตง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดฯ ให้พระมหาเทพเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพม้า ยกออกนำหน้าทัพหลวง ส่วน พระยาเพชรบุรียกทัพช้างม้าและพลรบจำนวนสามพันเป็นทัพหนุนพระมหาเทพ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์เคยเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในปีเถาะ พ.ศ.๒๑๓๔ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปยังตำบลสามร้อยยอดทางสถลมาร์คและประทับแรมที่นั้นเป็นเวลา ๑๔ วัน เพื่อทรงเบ็ด หลังจากนั้นได้เสด็จมาประทับแรม ณ ตำหนักตำบลโตนดหลวงเป็นเวลา ๑๒ วัน จึงเสด็จเข้ายังเมืองเพชรบุรี
สมเด็จพระเชษฐาธิราชได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแทนพระเจ้าทรงธรรม เมื่อ พ.ศ.๒๑๗๐ พระองค์มีอนุชาสององค์คือ สมเด็จพระพันปีศรีศิลป์กับสมเด็จพระอาทิตย์วงศ์ สมเด็จพระพันปีศรีศิลป์ทรงพิโรธหาว่าเสนาบดีทั้งหลายมิได้ยกราชสมบัติให้พระองค์ พระองค์จึงทรงพาข้าราชบริพารลอบหนีมายังเมืองเพชรบุรี เพื่อซ่องสุมผู้คนจะยกเข้ากรุง สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงทราบเหตุจึงโปรดฯ ให้ไปจับกุมตัวมาสำเร็จโทษเสียที่วัดโคกพระยา ส่วนชาวเมืองเพชรบุรีที่เข้าด้วยกับสมเด็จพระพันปีศรีศิลป์นั้นให้เอาตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง
ประมาณ พ.ศ.๒๒๐๓ ทางเมืองพม่าพวกฮ่อได้ยกเข้ามาล้อมเมืองอังวะ พระเจ้า อังวะเกณฑ์หัวเมืองมอญให้ไปช่วยป้องกันเมือง มอญไม่เต็มใจจึงยกเข้ามาพึ่งไทย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้ไปอยู่ ณ ตำบลสามโคก เมื่อพวกฮ่อยกทัพกลับไปแล้ว พระเจ้าอังวะจึงให้เจ้าเมืองหงสาวดีเจ้าเมืองตองอู ยกไปเอาครัวมอญที่หนีมาเมืองไทยกลับไปให้ได้ เจ้าเมืองทั้งสองจึงยกทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี ทางกรุงศรีอยุธยาจึงสั่งให้พระยาจักรีเกณฑ์กองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายทะเลตะวันตกให้เจ้าพระยาโกษาเหล็กเป็นแม่ทัพหลวง พระยาเพชรบุรีเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นกองหนุนยกไปยังตำบลปากแพรกเข้าตีทัพพม่าแตกพ่ายไป
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือได้ว่าเป็นสมัยที่มีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมากที่สุดและได้ผลเป็นที่น่าชื่นชม โดยเฉพาะสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้ส่งราชทูตชื่อเชวาติ เอ เดอ โชมอง มายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อราชทูตมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าเมืองบางกอกกับเจ้าเมืองเพชรบุรีออกไปต้อนรับ โดยเจ้าเมืองเพชรบุรีได้นำขุนนางข้าราชการพร้อมด้วยเรือยาวประมาณ ๔๐ ลำ มาคอยรับอยู่ก่อนแล้วหนึ่งวัน เจ้าเมืองทั้งสองได้เข้าไปแสดงความชื่นชมยินดีกับราชทูตหลังจากนั้นจึงจัดขบวนเรือเพื่อเดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงเมืองบางกอก เรือสินค้าของอังกฤษได้ยิงสลุดพร้อม ๆ กับการยิงสลุตจากตัวเมืองบางกอก ครั้นถึงเมืองบางกอกเจ้าเมืองเพชรบุรีกับเจ้าเมืองบางกอกตั้งแถวต้อนรับ โดยท่านทั้งสองยืนคอยรับอยู่หัวแถว เพื่อนำราชทูตไปยังที่พักในเมืองบางกอกหลังจากนั้นจึงได้เดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวจังหวัดเพชรบุรีอีกเรื่องหนึ่งคือ ประมาณเดือนอ้ายเดือนยี่มีพระราชพิธีตรียัมพวาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงม้าพระที่นั่งเพื่อเสด็จไปยังตำบลชีกุนอันเป็นที่ตั้งเทวสถานเพื่อประกอบพิธีดังกล่าว สมเด็จเจ้ารามกับสมเด็จเจ้าฟ้าทองได้แต่งชาวเพชรบุรี ๓๐๐ คนถือกระบองซุ่มอยู่ข้างทาง ครั้นเสด็จไปถึงทางสี่แยกบริเวณป่าเขาชมพู่กับตะแลงกุนป่ายา ชาวเพชรบุรีตรงเข้ายึดเอาบังเหียนม้าพระที่นั่ง กรมพระตำรวจจับตัวมาสอบถาม ชาวเพชรบุรีให้การว่า สมเด็จเจ้าฟ้ารามกับสมเด็จเจ้าฟ้าทองใช้ให้มาทำร้ายพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จกลับสู่พระราชวัง ได้ตรัสสอบถามเจ้าฟ้าทั้งสอง พระองค์ ซึ่งก็ทรงรับว่าเป็นความจริง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงโปรดฯ ให้ลูกขุน ณ ศาลาพิจารณาโทษ ทั้งสองพระองค์เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษมาครั้งหนึ่งแล้วยังคิดกบฏอีก คณะลูกขุนจึงพิจารณาตัดสินสำเร็จโทษเสีย อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับเรื่องนี้พงศาวดารบางเล่มมิได้ระบุว่าเป็นชาวเพชรบุรีเพียงแต่กล่าวไว้ว่า พระไตรภูวนารถทิพยวงศ์ (สมเด็จเจ้าฟ้าราม) กับสมเด็จเจ้าฟ้าทองได้ซ่องสุมผู้คนและเตรียมการไว้เท่านั้น
ทางเมืองไชยาแจ้งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาว่า เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ซ่องสุมผู้คนไว้เพื่อแข็งเมือง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงโปรดฯ ให้พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพหลวง พระสุนเสนาเป็นยกกระบัตร พระยาเพชรบุรีเป็นเกียกกาย (กองเสบียงของทหาร) พระยาสีหราชเดโชเป็นกองหน้า
พระยาราชบุรีเป็นทัพหลวงยกไปทางบกส่วนทัพเรือมีพระยาราชวังสันเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราชราว พ.ศ.๒๒๒๙
ในสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ พ.ศ.๒๒๔๖ พระองค์โปรดการทรงเบ็ด จึงได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี ประทับแรมที่ตำบลโตนดหลวงซึ่งเป็นที่เคยประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถ พระพุทธเจ้าเสือเสด็จเลยไปจนถึงตำบลสามร้อยยอด ทรงเบ็ด แล้วเสด็จย้อนกลับมายังตำหนักโตนดหลวง จึงเสด็จกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา
ใน พ.ศ.๒๓๐๒ สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ หรือ กรมขุนอนุรักษมนตรีเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแทนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ หรือเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อซึ่งสละราชสมบัติ ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งอยู่ข้างฝ่ายสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ ได้ทูลลาผนวก เจ้าพระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายจุ้ย นายเพงจัน ได้ร่วมคิดกับกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นกบฏ สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงทราบจึงให้จับตัวบุคคลดังกล่าว กรมหมื่นเทพพิพิธถูกเนรเทศไปเมืองลังกา ส่วนพระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี นายจุ้ย ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วจำไว้ ส่วนนายเพงจันหมื่นทิพเสนาหนีไป เมื่อพม่ายกทัพมาในฤดูแล้งปีเดียวกันนี้ โปรดฯให้แก้จำเจ้าพระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี พระยายมราชออกมารบ ให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพ พระยาเพชรบุรีเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นยกกระบัตร พระสมุทรสงครามเป็นเกียกกาย พระธนบุรีและพระนนทบุรีเป็นกองหลัง ยกไปรักษาเมืองมะริด แต่พอยกไปถึงด่านสิงขรก็ทราบว่า เมืองดังกล่าวถูกข้าศึกยึดได้เสียแล้ว ทัพพม่ายกตีเข้ามาถึงทัพพระยายมราชแตกกระจาย ไล่มาตั้งแต่เมืองกุยบุรี ปราณบุรี จนเข้ามาถึงเมืองเพชรบุรี โดยไม่มีผู้คิดสู้ป้องกันเมืองเลย
ใน พ.ศ.๒๓๐๗ กองทัพพม่าซึ่งมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ยกไปตีเมืองทวาย ตีจะเรื่อยมายังเมืองมะริด ตะนาวศรี มะลิวัน ระนอง ชุมพร ไชยา ปทิว คลองวาฬ กุย ปราณ จนถึงเมืองเพชรบุรี แต่ที่เมืองเพชรบุรีมีกองทัพพระยาพิพัฒโกษากับทัพของพระยาตาก ยกมาจากกรุงศรีอยุธยา ทันรักษาเมืองไว้ได้ เมื่อพม่ายกมาถึงเมืองเพชรบุรีปะทะกับกองทัพไทยเข้าก็ถอยไปทางด่านสิงขรอย่างไรก็ตามในปีเดียวกันนี้ พระเจ้าอังวะได้มีพระราชสาส์นมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอตัวเจ้าเมืองทวายกลับไป หากไทยขัดขืนจะยกทัพใหญ่มา ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยามิได้มอบให้ไป และได้เตรียมกำลังไว้ป้องกันบ้านเมืองโดยเกณฑ์ทหารไปรักษาด่านอย่างมั่นคง พม่ายกทัพมาคราวนี้เป็นทัพของกษัตริย์องค์ใหม่ คือ หลังจากพระเจ้าอังวะสวรรคตประมาณ พ.ศ.๒๓๐๘ กองทัพได้ยกเข้ามาทางเมืองทวาย ตะนาวศรี แล้วยกเข้าตีเมืองเพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี สมเด็จพระบรมราชาธิราชโปรดฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตั้งรับที่เพชรบุรี ราชบุรี แต่สู้กำลังข้าศึกไม่ได้จึงเสียเมืองแก่พม่า หลังจากนั้นพม่าจึงยกเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ขณะที่พม่าล้อมกรุงอยู่นั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชโปรดฯ ให้พระยาเพชรบุรีคุมกองทัพเรือกองหนึ่ง พระยาตากสินคุมอีกกองหนึ่ง ยกออกไปตั้งรับทัพพม่าที่จะเข้ามาทางท้องทุ่ง ครั้นพม่ายกเข้ามา พระยาเพชรบุรีจะยกออกไปสู้รบพม่า พระยาตากสินเห็นว่าข้าศึกมีกำลังเหนือกว่า ไม่ควรยกออกไปจึงห้ามไว้ พระยาเพชรบุรีเห็นว่าพอจะสู้ได้จึงยกออกไปถูกพม่าล้อมไว้แล้วเอาดินปืนทิ้งลงในเรือดินระเบิดขึ้น พระยาเพชรบุรีตายในที่รบ ส่วนพระยาตากสินมิได้ต่อสู้กับข้าศึกแต่ได้ถอยมาตั้งรับที่วัดพิชัย และมิได้เข้าไปในกรุงศรีอยุธยาอีกเลย หลังจากนั้นกรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐
สมัยกรุงธนบุรี
หลังจากกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาผลาญเสียหายยับเยินแล้ว ผู้นำที่มีความสามารถต่างก็ตั้งตัวเป็นหัวหน้าเป็นอิสระเป็นก๊ก ก๊กต่าง ๆ เหล่านี้มีพระยาตากสินด้วยก๊กหนึ่ง ซึ่งต่อมาตั้งตัวเป็นเจ้าทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์ทรงปราบก๊กต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แล้วตั้งเมืองธนบุรีเป็นเมืองหลวงและมีเมืองรอบเมืองหลวงพอที่จะตั้งเจ้าเมืองออกไปได้และมีกำลังพอที่จะรวบรวมผู้คนจัดบ้านเมืองเสียใหม่เมืองเหล่านี้ประมาณ ๑๑ เมืองรวมทั้งเมืองเพชรบุรีด้วย ใน พ.ศ.๒๓๑๒ โปรดฯ ให้เจ้าพระยาจักรี พระยายมราช พระยาอภัยรณฤทธิ์ และพระยาเพชรบุรี เป็นกองหน้ายกไปตีเมืองนครศรีธรรมราชกองทัพคราวนี้กำลังพลห้าพัน โดยยกไปทางบกถึงเมืองไชยาและท่าข้ามได้ต่อสู้กัน การรบคราวนี้พระยาเพชรบุรีและพระยาศรีพิพัฒน์ตายในที่รบ ทั้งนี้เพราะนายทัพนายกองมิได้สามัคคีกัน เมื่อถึงท่าหมากกองทัพของพระยาทั้งสองจึงเสียทีข้าศึก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงยกทัพหลวงไปทางเรือ เมื่อกองเรือมาถึงตำบลบางทะลุ หาดเจ้าสำราญ ถูกพายุเรือล่มเป็นจำนวนหลายลำ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงตั้งพิธีบวงสรวงและพักที่เพชรบุรีระยะหนึ่ง
ครั้งถึง พ.ศ.๒๓๑๗ ทางพม่าได้ยกทัพเข้ามาอีก โดยเข้ามาทางปากแพรก ตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลบางแก้ว โปรดฯ ให้พระเจ้าจุ้ยลูกเธอและพระยาธิเบศรบดีเป็นแม่ทัพ ยกออกไปตั้งรับทัพข้าศึก ณ เมืองราชบุรี เมื่อยกไปถึงปรากฏว่าทัพหน้าซึ่งมีพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาเพชรบุรี หลวงสมบัติบาลและหลวงสำแดงฤทธาแตกทัพมา เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบ โปรดฯ ให้จับบุตรภรรยาของนายทัพนายกองแตกทัพมานั้นจำไว้ แล้วให้ยกออกไปรบแก้ตัวใหม่ การศึกครั้งนี้ที่จริงแล้วอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพมิได้มุ่งหวังที่จะให้ยกทัพมาตีเมืองไทยแต่ประการใด เพียงแต่ให้ยุงอคงหวุ่นติดตามครอบครัวมอญที่หนีเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ยุงอคงหวุ่นเลยถือโอกาสปล้นครัวไทย โดยแบ่งกำลังออกเป็นสองกอง ตั้งค่ายอยู่ที่ปากแพรกกองหนึ่ง คอยปล้นผู้คนแถวเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และนครไชยศรี อีกกองหนึ่งได้ยกไปปล้นเมืองราชบุรี สมุทรสงครามและเมืองเพชรบุรี ครั้นยกมาถึงตำบลบางแก้วก็ทราบว่ามีกองทัพไทยยกไปตั้งรับที่ราชบุรี ยุงอคงหวุ่นจึงได้ตั้งทัพที่ตำบลบางแก้วสามค่าย ทางกองทัพไทยได้ตั้งล้อมกองทหารพม่า เพื่อตัดเสบียงอาหาร พม่ายกออกปล้นค่ายพระยาพิพัฒน์โกษา และค่ายพระยาเพชรบุรีแต่ไม่สามารถตีหักเอาได้ ขณะนั้นได้มีใบบอกเข้ามายังกรุงว่า กองทหารพม่าที่ยกเข้ามาทางเมืองมะริได้เข้าปล้นค่ายเมืองทับสะแก เมืองกำเนิดนพคุณ จึงโปรดฯ ให้แจ้งแก่เจ้าเมืองกุยบุรี เมืองปราณบุรี ให้ทำลายหนองน้ำบ่อน้ำตามรายทางที่คิดว่ากองทัพพม่าจะยกมายังเมืองเพชรบุรีให้หมดสิ้นโดยให้เอาของสกปรกหรือยาพิษใส่ลงไป อย่าปล่อยให้เป็นกำลังแก่ฝ่ายข้าศึกได้โปรดให้พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงครามมาอยู่ฟู่รักษาเมืองเพชรบุรีด้วย
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปราบดาภิเษกและสร้างกรุงเทพมหานครไม่กี่ปีพม่าก็เตรียมทัพใหญ่ที่จะยกมา คือในปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงได้เกณฑ์รี้พลประมาณแสนเศษ โดยจัดเป็นเก้าทัพ ทัพที่ ๑ ให้แมงยี แมงข่องกยอ เป็นแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองฝ่ายตะวันตกถึงเมืองถลาง ทัพที่ ๒ ให้ออกนอกแฝกคิดหวุ่นเป็นแม่ทัพยกมาตั้งที่เมืองทวาย เดินทางเข้ามาทางด่านบ้องตี้ เข้าตีเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรีลงไปถึงเมืองชุมพร จรดทัพที่หนึ่ง ทัพที่ ๓ ให้หวุ่นคยีสะโดะศิรีมหาอุจะนาเข้ามาทางเมืองเชียงแสน สุโขทัย แล้วยกลงมายังกรุงเทพมหานคร ทัพที่ ๔ มีเมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่องเป็นแม่ทัพ ยกมาทางเมืองเมาะตะมะเป็นทัพหน้ายกเข้าตีกรุงเทพมหานคร เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพที่ ๕ ให้เมียนเมหวุ่นเป็นแม่ทัพหน้ายกมาตั้งที่เมืองเมาะตะมะเป็นทัพหนุนทัพที่สี่ ทัพที่ ๖ ให้ตะแคงกามะราชบุตรที่สองเป็นแม่ทัพ เป็นทัพหน้าที่ ๑ ของทัพหลวงยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพที่ ๗ ให้ตะแคงจักกุราชบุตรที่สามเป็นแม่ทัพ เป็นทัพหน้าที่ ๒ ของทัพหลวง ทัพที่ ๘ เป็นทัพหลวงมีพระเจ้าปดุงเป็นนายทัพยกมาทางเมืองเมาะตะมะ ทัพสุดท้ายมีจอข่องนรธาเป็นแม่ทัพ ยกมาทางด่านแม่ละเมายกเข้ามาตีเมืองตาก กำแพงเพชร แล้วยกมายังกรุงเทพมหานคร
ทางฝ่ายกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ให้จัดทัพไว้รับ ๔ ทัพด้วยกันคือ ทัพที่ ๑ ให้กรมพระราชวังหลังเป็นแม่ทัพยกไปขัดตาทัพที่เมืองนครสวรรค์ ทัพที่ ๒ เป็นทัพใหญ่ให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกไปยังเมืองกาญจนบุรี คอยต่อสู้กับข้าศึกที่จะยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพที่ ๓ ให้เจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราช ยกไปตั้งรับที่เมืองราชบุรีคอยคุ้มกันทัพที่ ๒ และคอยต่อสู้กับข้าศึกที่จะยกมาทางปักษ์ใต้และเมืองทวาย ทัพสุดท้ายเป็นทัพหลวงตั้งที่กรุงเทพฯ เป็นกองหนุน การรบคราวนี้โดยเฉพาะการรบที่ลาดหญ้า มีเรื่องที่กล่าวถึงพระยาเพชรบุรี คือ กองทัพทั้งสองฝ่ายได้ต่อสู้กันและไม่สามารถจะตีหักกันได้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงจัดตั้งเป็นกองโจร โดยให้พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาท้ายน้ำ และพระยาเพชรบุรีคุมทหารไปคอยซุ่มโจมตีหน่วยลำเลียงเสบียงอาหารที่จะส่งไปยังค่ายข้าศึก แต่นายทัพทั้งสามดังกล่าวมิได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจึงดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้งสามคน แล้วโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าขุนเณรไปแทนอย่างไรก็ดี การสงครามคราวนี้พม่าเสียหายยับเยินกลับไป
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ให้เตรียมทัพเพื่อไปตีพม่าใน พ.ศ. ๒๓๓๖ โดยยกไปตั้งทัพที่เมืองทวาย ซึ่งขณะนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และเมืองมะริดเป็นของไทย กองทัพที่ยกไปตั้งยังเมืองดังกล่าวมีทัพของเจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยารัตนาพิพิธ พระยาสีหราชเดโช พระยากาญจนบุรี พระยาเพชรบุรี เจ้าพระยามหาโยธา พระยาทวายและกองทัพของพระยายมราช นอกจากนี้ยังมีกองทัพเรืออีกด้วย ครั้นถึงฤดูแล้ว ทัพหลวงได้ยกออกไปทางเมืองไทรโยคทางฝ่ายพม่ายกทัพใหญ่มาล้อมเมืองทวายไว้ การรบคราวนี้พระยากาญจนบุรีตายในที่รบ กองทัพพม่ายกเข้าตีค่ายพระยามหาโยธาแตก แล้วยกเข้าตีค่ายพระยาเพชรบุรี แต่ไม่สามารถจะตีหักเอาได้จึงลงเรือถอยกลับไป ต่อมาอีกสามวันพม่าเกณฑ์ทหารอาสาเข้าตีค่ายพระยาเพชรบุรีอีก คราวนี้เสียทีแก่ข้าศึกอย่างไรก็ตามกองทัพไทยเข้าตีเอากลับคืนมาได้ในที่สุด
ถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ พม่าได้ยกกองทัพมาอีก คราวนี้ยกไปตีหัวเมืองปักษ์ใต้ถึงเมืองถลาง รัชกาลที่ ๒ โปรดฯ ให้พระยาจ่าแสนยากร (บัว) คุมกองทัพล่วงหน้าลงไปก่อน ให้พระยาพลเทพลงมารักษาเมืองเพชรบุรีไว้ และโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิทักษ์มนตรีเสด็จไปคอยจัดการสั่งกองทัพอยู่ ณ เมืองเพชรบุรี กองทัพที่มาตั้ง ณ เมืองเพชรบุรีนี้ จากการรายงานของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีว่าทหารมีความประพฤติไม่ดี คือ ได้กักเรือบรรทุกข้าว น้ำตาลของชาวบ้านเก็บค่าผ่านทาง แม้แต่สินค้าพวกไม้ไผ่ เขาวัว ก็ไม่เว้น การกระทำดังกล่าวเป็นที่น่าอับอายขายหน้าแก่ชาวเมืองเพชรบุรียิ่งนัก สู้กองทัพที่ตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรีไม่ได้ ทหารที่เมืองเพชรบุรีต่างคนต่างทำต่างคนต่างคิดมิได้สามัคคีกัน ทางฝ่ายพม่าได้เขียนหนังสือมาแขวนไว้ที่แดนเมืองตะนาวศรี เพื่อให้ไทยเลิกจับกุมพลลาดตระเวนของตน ไทยได้มีหนังสือตอบไปโดยนำไปแขวนไว้ที่ชายแดนเช่นกัน โดยให้พระยาพลสงครามแห่งเมืองเพชรบุรีเป็นผู้ตอบ
การสงครามระหว่างไทยกับพม่าสิ้นสุดลงแล้ว แต่ทางปักษ์ใต้ยังไม่สงบ ต้องปราบปรามหัวเมืองมลายู โดยเฉพาะเจ้าเมืองไทรบุรีและเจ้าเมืองใกล้เคียงที่พากันกระด้างกระเดื่อง ทั้งนี้เพราะมีต่างชาติคอยยุยงอยู่เบื้องหลัง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าเมืองไทรบุรีแข็งเมืองอีกทั้งๆ ที่เมืองนี้เคยถูกปราบมาแล้ว ซึ่งพระยาเพชรบุรีเคยยกทัพไปปราบ
คราวนี้รัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพ ยกไปประมาณสามพันคน รวมทั้งชาวเพชรบุรีด้วยเก้าร้อยคน ทั้งนี้ต้องไปรวมทัพกับเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลา รวมรี้พลประมาณหมื่นเศษ กองทัพนี้เป็นกองทัพเรือ โดยเกณฑ์เรือจากเมืองเพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร เขมร เป็นต้น โดยเฉพาะกองทัพของพระยาเพชรบุรีที่ยกออกไปจากเมืองเพชรบุรีนั้น จากรายงานของหลวงเมืองปลัดเมืองเพชรบุรีว่า เรือทั้งหมด ๙ ลำ ทหาร ๕๙๙ คน อาวุธปืนประจำเรือ คือ ปืนหน้าเรือ ท้ายเรือ แคมเรือและปืนหลังรวม ๔๘ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๗๐ กระบอก ดินปืน ๑๐ หาบ เมื่อยกทัพไปถึง หัวเมืองปักษ์ใต้ โปรดฯ ให้พระยาเพชรบุรีประจำอยู่ ณ เมืองสายบุรี เพื่อจะได้ดูแลหัวเมืองมลายู ทางเจ้าเมืองแข็งเมืองโดยตั้งค่ายสู้รบ แต่เมื่อทราบว่ากองทัพของพระยาเพชรบุรียกไปตั้งที่เมืองสายบุรีเจ้าเมืองกลันตันให้คนมาแจ้งแก่พระยาเพชรบุรีว่า ตนจะรื้อค่ายลงเพราะเกรงว่าประชาชนจะพากันหลบหนีไปหมด อย่างไรก็ตาม พระยากลันตันหาได้กระทำดังกล่าวไว้ไม่ แต่ได้มีหนังสือมาถึงพระยาเพชรบุรีขออ่อนน้อมต่อไทย พระยาเพชรบุรีจึงตอบตกลงไปให้พระยากลันตัน พระยากลันตันได้มอบทองคำให้พระยาเพชรบุรี ค่ายดังกล่าวนี้ต่อมาพระยาไชยาได้รื้อเผาไฟจนหมดสิ้น
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดเมืองเพชรมาก จะเห็นได้จากการที่พระองค์ได้เสด็จมาเมืองเพชรหลายครั้งในระหว่างผนวช พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำเขาย้อย อำเภอเขาย้อย และยังได้ประทับแรมที่วัดมหาสมณารามเชิงพระนครคีรีอีกด้วย จากจดหมายเหตุของหมอบรัดเล่ย์ ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงที่ได้เสด็จมายังเมืองเพชรบุรีว่า
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๓ ได้เสด็จเมืองเพชรบุรีเป็นครั้งที่สองในปีนี้ เพื่อทอดพระเนตรการก่อสร้างพระนครคีรี วันที่ ๒๒ มิถุนายน ได้แห่พระมายังเมืองเพชรบุรี วันที่ ๒๘ มิถุนายน เสด็จมาเมืองเพชรเป็นครั้งที่สาม วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๓ หลังจากงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕๖ พรรษาแล้ว เสด็จมาเมืองเพชรโดยเรือพระที่นั่งจากพระราชหัตถเลขาทรงมีไปถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒๓ ตุลาคมว่า พระองค์เสด็จถึงปากน้ำตำบลบ้านแหลมเวลา ๓ โมงเช้าถึงพระนครคีรีเวลาบ่าย ๒ โมง ทรงทอดพระกฐิน ณ วัดพระพุทธไสยาสน์และวัดมหาสมณาราม ส่วนพระราชธิดาในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้า-อยู่หัวนั้นได้เสด็จไปทอดพระกฐิน ณ วัดเขาบรรไดอิฐและวัดมหาธาตุ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ ได้เสด็จมาประทับ ณ พระนครคีรีในปีเดียวกันนี้ พระเจ้าแผ่นดินประเทศปรัสเซียได้ส่งราชทูตชื่อคอลออยเลนเบิร์ตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทจัดเรือแจวเรือพายให้ทูตที่มาเที่ยวเมืองเพชรบุรีใช้เป็นจำนวนสองลำ มี ฝีพายลำละ ๒๐ คน ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางยุคล ประทับอยู่ ณ พระนครคีรี รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเพื่อทรงแจ้งให้ทราบว่า ราชทูตปรัสเซียจะมาเที่ยวและพักผ่อนที่เมืองเพชรบุรี ขอให้จัดรถบริการให้ด้วย ส่วนขากลับโปรดให้จัดเรือพระที่นั่งเสพย์สหายไมตรีมารับที่เพชรบุรี เพื่อนำไปส่งที่เรือรบที่สันดอน วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๕ เป็นวันที่เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร การเสด็จเมืองเพชรบุรีครั้งนี้ โปรดให้จัดพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรบนพระนครคีรี และทรงบรรจุพระธาตุบนยอดเจดีย์บนเขามหาสวรรค์ด้วย วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๖ เสด็จมาเมืองเพชรบุรีด้วยเรือกลไฟพระที่นั่งและเสด็จกลับเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ในเดือนเมษายนพันเอกเรโบลได้นำเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากฝรั่งเศสชื่อ เรจิออง ดอนเนอร์ เข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้นำนายพันเอกเรโบลมาเที่ยวเมืองเพชรบุรีโดยเรือเสพย์สหายไมตรี วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๘ เป็นวันที่เสร็จงานพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอที่เมืองเพชรบุรี
นอกจากจะทรงสร้างพระนครคีรีแล้ว ยังโปรดฯ ให้ตกแต่งเขาหลวงซึ่งมีพระพุทธรูปโบราณในถ้ำโดยสร้างบันไดหินลงไป สร้างพระพุทธรูปเพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแก่พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ ทรงสร้างเป็นส่วนพระองค์เองบ้าง ทรงให้เจ้านายฝ่ายในและพระบรมวงศานุวงศ์สร้างบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ซ่อมแซมพระนครคีรีใหม่ทั้งหมด เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับแรมพักผ่อนอิริยาบถและเพื่อใช้รับรองแขกเมืองด้วย ทรงจัดตั้งมณฑลราชบุรีขึ้น เมืองเพชรบุรีขึ้นกับมณฑลนี้ พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่เมืองเพชรบุรีหลายครั้ง เพราะอากาศถูกพระโรคที่ทรงประชวรในฤดูฝน โดยเฉพาะในเดือนกันยายน อย่างไรก็ดีเดือนนี้ไม่เหมาะที่จะประทับบนพระนครคีรีดังนั้นจึงทรงสร้างพระราชวังบ้านปืนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง แต่ไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างต่อจนสำเร็จพระราชทานนามว่า พระรามราชนิเวศน์นอกจากจะทรงพระสำราญที่เมืองเพชรบุรีแล้ว รัชกาลที่ ๕ ยังโปรดเสวยน้ำที่แม่น้ำเพชรบุรีอีกด้วยโดยเฉพาะน้ำตรงท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ ดังความว่า “ด้วยมีตราพระคชสีห์ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกไปแต่ก่อน ให้ข้าพเจ้าแต่งกรมการกำกับกันคุมไพร่ไปตักน้ำหน้าวัดถ้าไช (วัดท่าไชยศิริ) ส่งเข้ามาเป็นน้ำส่ง (สรง) น้ำเสวยเดือนละสองครั้ง ๆ ละยี่สิบตุ่มเสมอจงทุกเดือนนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้แต่งตั้งให้ขุนลครประการคุมไพร่ไปตักน้ำหน้าวัดถ้าไชยี่สิบตุ่ม ได้เอาผ้าขาวหุ้มปากตุ่มประทับตรารูปกระต่ายประจำครั่ง มอบให้ขุนลครประการคุมมาส่งด้วยแล้ว” ใบบอกฉบับนี้ พ.ศ. ๒๔๒๐ โดยพระยาสุรินทรฤาไชย เรื่องน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีนี้นอกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดฯ เสวยแล้วยังใช้เป็นน้ำสำหรับเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยโบราณมา ซึ่งมีแม่น้ำสำคัญ ๕ สาย คือ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำเพชรบุรี ดังสารตราถึงพระ-ยาเพชรบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ ความว่า ทางกรุงเทพฯ จะตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการนี้ต้องการน้ำสำหรับเข้าพระราชพิธีดังกล่าว จึงให้หลวงยกกระบัตรเมืองเพชรบุรี หลวงเทพเสนีถือสารตรามายังพระยาเพชรบุรี ให้แต่งตั้งกรมการไปตักน้ำที่หน้าเมืองเพชรบุรี แล้วเอาใบบอกปิดปากหม้อ เอาผ้าขาวหุ้มปากหม้อผูกปิดตราประจำครั่ง แล้วมอบให้หลวงยกกระบัตร หลวงเทพเสนีคมเข้าไปส่งยังกรุงเทพมหานครให้ทันกำหนดการพระราชพิธีดังกล่าว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพะราชดำเนินมาเมืองเพชรบุรีหลายครั้งด้วยกัน ดังจะได้ลำดับตามหลักฐานที่ค้นคว้ามาได้ดังนี้
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเมืองเพชรบุรี โดยเรือพระที่นั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารเป็นจำนวนมากเสด็จถึงพลับพลาตำบลบางครก บ้านใหม่ เสด็จขึ้นบนพลับพลาตรัสกับเจ้าเมืองและกรมการทั้งหลายแล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถพระที่นั่งสองล้อถึงพระนครคีรี ทอดพระเนตรพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหศวรรย์ และพระที่นั่งราชธรรมสภา
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๘ เสด็จพระราชดำเนินไปถ้ำเพิงถ้ำพัง แล้วเสด็จลงไปยังเชิงเขา มีราษฎรชาวเมืองเพชรบุรีเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก เสด็จพระราชดำเนินผ่านเขาพนมขวดไปยังถ้ำเขาหลวง เพื่อทรงนมัสการพระพุทธรูปในถ้ำ แล้วเสด็จกลับ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์เสด็จออก ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี และเมืองเพชรบุรีเข้าเฝ้า แล้วเสด็จประพาสเขาบันไดอิฐ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ เสด็จออก ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ มีข้าราชการเมืองเพชรบุรีเฝ้าละอองธุลีพระบาททูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของ พระราชทานเสื้อผ้าสักหลาดอย่างดีแก่ข้าราชการที่มาเฝ้าคือพระพลสงคราม หลวงรามฤทธิรงค์ หลวงยงโยธี หลวงภักดีสงคราม นายแย้ม เด็กชา หลวงพิพัฒน์ เพชรภูมิยกกระบัตร หลวงวิชิตภักดี หลวงมหาดไทย ขุนสัสดี ขุนแพ่ง ขุนแขวง ขุนศุภมาตรา ขุนเทพ ขุนรองปลัด ขุนเทพบุรี โปรดฯ พระราชทานเงินแก่พวกเด็กชาที่มาเฝ้าละอองธุลีพระบาทคนละตำลึงบ้างครึ่งตำลึงบ้าง คนที่ได้ตำลึงคือคนที่ทรงคุ้นเคยเห็นหน้ากันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระ-ราชดำเนินมาเมืองเพชรบุรี เสด็จพระราชดำเนินลงจากพระนครคีรี ณ ตรงเชิงเขา ตรัสกับหมอแมคฟาแลนด์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังถ้ำเขาหลวง ทรงนมัสการพระพุทธรูป ๔ องค์ ที่มีพระนามรัชกาลที่ ๑ - ๔ แล้วเสด็จกลับ
วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนที่จะไปเขาบันไดอิฐ เลี้ยวตรงหน้าวัดคงคารามไปตามถนนถึงสวนมะตูมทรงเก็บผลมะตูม แล้วเสด็จประพาสตลาดเมืองเพชรบุรี วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดมหาสมณาราม เชิงพระนครคีรี พระ-ราชทานเงินเป็นมูลกัปปิยภัณฑ์แก่พระมหาสมณวงศ์เจ้าอาวาสและพระสงฆ์ ทรงแจกเงินแก่สัปปุรุษ วันเดียวกันนี้พวกไทยทรงดำนำของมาทูลเกล้าถวาย แล้วเสด็จรถพระที่นั่งข้ามสะพานช้าง (สะพานจอมเกล้าฯ) ประพาสวัดกำแพงแลง วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พระราชทานเงินแก่พระยาสุรินทรฤาไชย (เทศ บุนนาค) เพื่อปฏิสังขรณ์ พระพุทธรูปในถ้ำเขาหลวง เสด็จถ้ำเขาหลวง แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปถึงพลับพลา ตำบลบางครกบ้านใหม่ เสด็จลงเรือพระที่นั่งอัครราชวร-เดชกลับกรุงเทพมหานคร
วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาโดยเรือพระที่นั่งถึงอ่าวบ้านแหลม ประทับแรมบนเรือพระที่นั่ง วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ เสด็จขึ้นบนพลับพลาบ้านใหม่มีข้าราชการเมืองเพชรบุรีเฝ้ารับเสด็จ แล้วเสด็จพระราชดำเนินทรงม้าพระที่นั่งถึงพระนครคีรีที่ศาลาหน้าเขามหาสวรรค์มีพระสงฆ์เถรานุเถระสวดชยันโต วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินไปถ้ำเพิงถ้ำพัง วัดพระพุทธไสยาสน์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปเขาหลวง ทอดพระเนตรถ้ำต่างๆ และทรงปิดทองพระพุทธรูป วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เสด็จประพาสตลาดเมืองเพชรบุรี ประทับทอดพระเนตรการแข่งวัดระแทะ กลางคืนชาวไทยทรงดำขับแคนถวาย วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์เสด็จประพาสเขาบันไดอิฐกลางคืนมีการขับแคนถวายและมีการบรรเลงเพลงพิณพาทย์ด้วย วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์เสด็จออกทรงบาตรพระสงฆ์ในเมืองเพชรจำนวน ๔๖ รูป แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปถ้ำแกลบ ถ้ำสาริกา และถ้ำเจ็ดแท่น
วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ เสด็จออก ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ กรมหมื่นสมมตอมร-พันธ์ทรงนำหมอดันลัป หมอทอมสัน และนายคูเปอร์เข้าเฝ้า รับสั่งเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนและ โรงพยาบาล ณ เมืองเพชรบุรี พระราชทานเงินสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจำนวน ๓๐ ชั่ง ในวันเดียวกันนี้เสด็จประพาสวัดกำแพงแลง ตอนเย็นทอดพระเนตรการแข่งขันวัวระแทะ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ เสด็จประพาสหมู่บ้านไทยทรงดำ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระพุทธบาทเขาลูกช้าง ประทับแรม ณ พลับพลาตำบลท่ากลบชี วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์จึงเสด็จถึงพระพุทธบาทเขาลูกช้าง วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์เสด็จพระราชดำเนินกลับ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินเขาหลวง โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์สดับปกรณ์ในถ้ำเขาหลวง วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินไปยังถ้ำเขาหลวง ประพาสถ้ำพระพิมพ์ ถ้ำพระเผือก เขาคอก ถ้ำจีน วันที่ ๑ มีนาคม เสด็จประพาสพระเจดีย์ยอดเขาริมวัดมหาสมณาราม โปรดให้พระยาสุริทรฤาไชยปฏิสังขรณ์ แล้วเสด็จทางลัดลงมายังวัดมหาสมณารามทอดพระเนตรบริเวณวัด เสด็จเข้าไปในพระอุโบสถ พระสงฆ์ถวายชัยมงคลคาถา แล้วเสด็จไปตามถนนราชวิถีถึงท่าน้ำแม่น้ำเพชรบุรี เสด็จลงเรือพระที่นั่งล่องไปตามลำแม่น้ำเพชรบุรีออกอ่าวล้านแหลมไปเขาสามร้อยยอด
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าพระองค์เคยเสด็จมาเมืองเพชรบุรีในปีใดบ้าง
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ เสด็จพระราชดำเนินมาเพชรบุรีโดยรถไฟพระ ที่นั่งจากราชบุรีโดยมิได้แจ้งให้ทางจังหวัดทราบ ทั้งนี้มีพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรเมืองเพชรบุรีขณะที่มิได้เตรียมรับเสด็จ ประทับเสวยที่เมืองเพชรแล้วเสด็จกลับราชบุรี วันที่ ๒๔ กรกฎาคม เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเข้ามาตามลำแม่น้ำเพชรบุรี เสด็จขึ้นประทับบนบ้านเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศบุนนาค) วันที่ ๒๕ กรกฎาคม เสด็จประพาสทางเรือขึ้นไปตามลำแม่น้ำเพชรบุรี วันที่ ๒๖ กรกฎาคม เสด็จทางเรือไปยังตำบลบางทะลุประทับแรมที่บางทะลุหนึ่งคืน วันที่ ๒๗ กรกฎาคม เสด็จโดยเรือฉลอมจากตำบลบางทะลุมายังอ่าวบ้านแหลม วันที่ ๒๘ กรกฎาคม เสด็จประพาสวัดต่างๆ ในเมืองเพชรบุรีแล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งออกจากอ่าวบ้านแหลม
วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยเรือพระที่นั่งเข้าปากอ่าวบ้านแหลมตามลำน้ำเพชรบุรีถึงหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด วันที่ ๑๒ กันยายนเสด็จประพาสตลาด ผ่านไปตามถนนใหม่แนวกำแพงเมือง ผ่านหน้าวัดกำแพงแลงทอดพระเนตรวัดใหญ่สุวรรณาราม วันที่ ๑๓ กันยายน เสด็จพระราชดำเนินไปวัดมหาสมณาราม วัดเขาบันไดอิฐ ข้ามสะพานไปบ้านพระยาสุรินทรฤาไชย วัดโพธาราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ วันที่ ๑๔ กันยายน เสด็จประพาสตามลำแม่น้ำเพชรบุรีขึ้นไปทางเหนือจนถึงท่าศาลา วันที่ ๑๕ กันยายน เสด็จประพาสหมู่บ้านไทยทรงดำ ตำบลยี่หนถึงเวียงคอย วันที่ ๑๖ กันยายน เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระนครคีรี โปรดฯ ให้พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่บางวัดเข้าเฝ้าโปรดฯ ให้พระครูมหาราภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดใหญ่เข้าเฝ้า พระราชทานพัดยศ และโปรดฯ ให้ยกวัดใหญ่สุวรรณารามเป็นวัดหลวงอีกวัดหนึ่ง วันที่ ๑๗ กันยายน เสด็จไปทอดพระเนตรวัดอุทัย วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานครโดยรถไฟพระที่นั่ง
วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จพระราชดำเนินมายังเพชรบุรี โปรดฯ ให้ฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา ณ ท้องพระโรงที่ประทับเมืองเพชรบุรี ตั้งพระชัยเนาว-โลหะและพระชนมวารอย่างละองค์รวมทั้งพระชนมพรรษาของเดิม ๕๖ องค์ เจ้าพนักงานได้นิมนต์พระสงฆ์เถรานุเถระจากวัดราชบพิธ วัดเบญจมบพิตร วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ วัดราชาธิ-วาส รวม ๑๒ รูป วัดพระปฐมเจดีย์ ๑ รูป เมืองราชบุรี ๖ รูป และพระเถรานุเถระในเมืองเพชรอีก ๓๘ รูป รวม ๕๗ รูป พระราชพิธีเริ่มวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ เป็นพระราชพิธีสงฆ์ ตอนเย็นมีการจุดดอกไม้เพลิงถวายเป็นพุทธบูชา วันที่ ๒ ตุลาคม นิมนต์พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเพล จัดโต๊ะสังเวยเทวดา แล้วปล่อยสัตว์เป็นทาน พระราชทานเลี้ยงข้าราชการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแจกผ้าที่ทอจากเมืองเพชรบุรีแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ตอนบ่ายมีการบายศรีเวียนเทียนสมโภชพระพุทธปฏิมากรกลางคืนมีจุดดอกไม้เพลิง มีการเล่นละครบนแพลอยทอดทุ่นที่ประทับกลางแม่น้ำ ที่สนามหญ้าหน้าที่ประทับแพลอยมีการเล่นเพลง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๒
วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม ณ ตำบลบ้านปืนทอดพระเนตรแปลนที่จะสร้างพระราชวัง วันที่ ๔ ธันวาคม เสด็จประพาสพระนครคีรี ทอดพระเนตรการตกแต่งบนพระนครคีรีเพื่อรับแขกเมือง ตั้งแต่วันที่ ๕ ถึง ๘ ธันวาคม เสด็จพระราชดำเนินไปยังจุดต่าง ๆ บริเวณที่จะสร้างพระที่นั่ง วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จพระราชดำเนินกลับ
วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ดุ๊กโยฮัน อัลเบรกต์ ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันชวิกพร้อมด้วยเจ้าหญิงอลิสซาเบต สโตลเบิร์ก รอชซ่าล่า พระชายา ได้เสด็จประพาสเมืองเพชร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชา- นุภาพ (พระยศในสมัยนั้น) คอยรับเสด็จ ณ พระนครคีรี คืนนี้มีการจุดดอกไม้เพลิงถวายทอดพระเนตร วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ท่านดุ๊กได้เสด็จทอดพระเนตรถ้ำเพิงถ้ำพังและพระเจดีย์ เสด็จออกรับราษฎรชาวเมืองเพชรบุรีและทอดพระเนตรกีฬา วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดพระพุทธไสยาสน์เสด็จวัดเขาบันไดอิฐ ทอดพระเนตรถ้ำ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปเสวย พระกระยาหาร ณ พลับพลาบ้านปืน เสด็จลงเรือแล่นขึ้นไปตามลำแม่น้ำเพชรบุรีแล้วล่องมาขึ้นที่ท่าหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเสด็จขึ้นบนพระนครคีรี ทอดพระเนตรกัดปลา วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินไปเขาหลวงทรงถ่ายรูปหมู่ ณ ถ้ำเขาหลวง แล้วเสด็จมายังวัดใหญ่สุวรรณา-ราม ตอนพลบค่ำเสด็จประพาสหมู่บ้านไทยทรงดำตำบลเวียงคอยและทอดพระเนตรลงขวง วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ประพาสตลาดเมืองเพชรบุรี ท่านดุ๊กก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยรถพระที่นั่ง
วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินมาเพชรบุรี โดยรถไฟพระที่นั่ง วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ณ ท้องพระโรงที่ประทับตำบลบ้านปืนพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บวชนาคหลวงเป็นพระภิกษุและสามเณร คือ นายประทีปและนายบันเทิงบุตรพระยาสุริ-นทรฤาไชย ( เทียน บุนนาค) ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี วันนี้ทำขวัญนาคมีเครื่องบายศรีและเวียนเทียน วันที่ ๑๓ กรกฎาคม แห่นาคจากพลับพลาที่ประทับบ้านปืนไปยังวัดมหาสมณาราม พระภิกษุและสามเณรไปจำวัดอยู่ ณ วัดโพธาราม วันที่ ๑๔ กรกฎาคม เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานครโดยรถไฟพระที่นั่ง
วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เสด็จพระราชดำเนินมาเพชรบุรีโดยรถไฟพระที่นั่ง ประทับแรม ณ พลับพลาบ้านปืน วันที่ ๑๕ สิงหาคม ทอดพระเนตรถนนบริวเณวังบ้านปืนถึงสะพานอุรุพงศ์ทอดพระเนตรถนนตัดใหม่ถึงวัดป้อม พระราชทานนามว่า ถนนบริพัตร ประพาสตลาดเมืองเพชร โปรดให้เรียกพระที่นั่งบ้านปืนว่า พระตำหนัก วันที่ ๑๖ และ ๑๗ สิงหาคม ทอดพระเนตรถนนต่าง ๆ วันที่ ๑๘ สิงหาคม เสด็จออกทอดพระเนตรการทำถนนและปลูกต้นไม้บริเวณพระตำหนักบ้านปืน แล้วเสด็จมาประทับที่พลับพลาโปรดฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ ๑๕ รูป สวดพระพุทธมนต์โหรบูชาเทวดา วันที่ ๑๙ สิงหาคม พนักงานจัดการที่ก่อพระที่นั่งบ้านปืน พระสงฆ์สวดถวายพระพร พราหมณ์เป่าสังข์ลั่นฆ้องชัยพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ทรงวางศิลาพระฤกษ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ทรงปลูกต้นไม้ และโปรดฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสา- ธิราช พระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอปลูกต้นไม้องค์ละต้น
วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดให้ตั้งพระราชพิธีพรุณศาสตร์อย่างน้อย ณ พลับพลาที่ประทับบ้านปืน พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์วันละ ๕ รูป จนถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม รวม ๘ วัน
วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในโอกาสครบรอบปีพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภชสิ้นพระชนม์ โดยจัดพระราชพิธี ณ บริเวณปะรำพระราชพิธีก่อพระฤกษ์พระที่นั่งบ้านปืน กลางคืนมีมหรสพคือหนังใหญ่ วัดพลับพลาชัย ๑ โรง หนังตลุง ๑ โรง ลครตลก ๑ โรง ละครชาตรี ๑ โรง มีจุดดอกไม้เพลิงจุดพลุ วันที่ ๙ กันยายน พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ มีเทศนาธรรม ๒ กัณฑ์คือพระปลัดฉิม เจ้าอธิการวัดป้อมกับเจ้าอธิการทุ่มวัดน้อย มีสดับปกรณ์ ๑๐๐ รูป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทิ้งทานผลกัลปพฤกษ์ พระครูญาณเพชรรัตน์วัดยางถวายธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ กลางคืนมีมหรสพเช่นเดียวกับคืนก่อน อนึ่งก่อนงานพระเมรุพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ ข้าราชการกรมหาดเล็ก ข้าราชการโรงเรียนมหาดเล็ก ได้รวบรวมเงินจำนวน ๘,๐๐๐ บาท ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เงินจำนวนนี้ใช้ให้เป็นประโยชน์ที่ถาวร จึงทรงพระราชดำริถึงงาน หัตกรรมของชาวเพชรบุรี ได้แก่ พวกจักสานแต่ขาดการส่งเสริม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เงินจำนวนนี้เป็นทุนรางวัล เพื่อส่งเสริมให้งานหัตถกรรมของชาวเมืองเพชรเจริญยิ่งขึ้น วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๓ เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมยังจังหวัดเพชรบุรีหลายครั้ง แต่ละครั้งเป็นเวลาหลายวัน บางครั้งแรมเดือน หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังเพชรบุรีเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยเสด็จมากับกองเสือป่าเสนาหลวงรักษาพระองค์ เพื่อเดินทางไกลไปจอมบึง บ้านโป่ง ในวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสตัวเมืองเพชรและทอดพระเนตรกรีฑาของกรมทหารราบที่ ๑๔ เพชรบุรี รุ่งขึ้นวันที่ ๑๔ มกราคม จึงทรงม้าพระที่นั่งเคลื่อนขบวนเสือป่าเดินทางไกล
เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้โดยรถไฟพระที่นั่ง เมื่อรถไฟพระที่นั่งถึงสถานีเมืองเพชรบุรี ได้มีข้าราชการและประชาชนเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก ข้าราชการเมืองเพชรบุรีมี พระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทียน บุนนาค) จางวาง พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (แม้น วสันตสิงห์) ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ เสือป่า ต่างเฝ้ารับเสด็จประชาชนที่ถูกเพลิงไหม้ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า ทรงสงสารราษฎรที่เคราะห์ร้ายเหล่านั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ งดเก็บเงินบำรุงท้องที่เป็นเวลาหนึ่งปี
สำหรับเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ตลาดเมืองเพชรบุรีเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๘ นั้น บริเวณตลาดดังกล่าวคือฟากตะวันตกของแม่น้ำตั้งแต่เชิงสะพานจอมเกล้าไปตามถนนชี สะอินจรดถนนราชดำเนิน จากถนนราชดำเนินไปจนจรดถนนราชวิถีและถึงแม่น้ำ เมื่อทางกระทรวงมหาดไทยได้รายงานกราบบังคมให้ทรงทราบ พระองค์ทรงสลดพระราชหฤทัยและทรงสงสารชาวเพชรบุรียิ่งนัก ทรงพระราชดำริเห็นว่า ที่เมืองเพชรบุรีนั้น บ้านเรือนของราษฎรสร้างกันแออัดเกินไป และใช้ไม้หลังคาจากเป็นเชื้อเพลิงได้ดี ถนนก็แคบไม่เป็นระเบียบ ไม่สามารถจะป้องกันอัคคีภัยได้ทันท่วงที จึงโปรดฯ ให้ขยายถนนเก่า และห้ามสร้างปลูกเพิงไม้ที่จะเป็นเชื้อไฟได้อีกต่อไปในบริเวณไฟไหม้
เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังเพชรบุรี พระราชทานพระแสงราชศาสตรา มิได้ประทับแรม แต่เสด็จเลยไปยังประจวบคีรีขันธ์ ขากลับได้เสด็จมาประทับแรม ณ เมืองเพชรเป็นเวลาสองคืนคือวันที่ ๙ และ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญทุกปียกเว้นปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ เสด็จมาเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน โดยรถไฟพระที่นั่ง และเสด็จพระราชดำเนินกลับเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ เสด็จมาวันที่ ๑๐ เมษายน ถึงวันที่ ๒๙ เมษายน ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ เสด็จมาวันที่ ๑๕ เมษายนถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม ใน พ.ศ. ๒๔๖๕ เสด็จมาพร้อมด้วยพระอินทรานี พระสนมเอก เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ถึงวันที่ ๖ พฤษภาคม ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้เสด็จมาพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้เสด็จไปประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวันและประทับแรม ณ ที่นั้นครั้ง สุดท้าย ตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน ถึงวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘
ส่วนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดประทับ ณ พระราชวัง ณ เมืองเพชรโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังไกลกังวลหัวหินขึ้น พระองค์เคยเสด็จไปทอดพระเนตรต้นน้ำแม่น้ำเพชรบุรีเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๖
เรื่องที่ควรกล่าวถึงในอดีตอีกเรื่องหนึ่งคือ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๘๔ - พ.ศ. ๒๔๘๘ ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ตามจุดต่าง ๆ คือ ที่สงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และที่บางปู ขณะนั้นไทยต้องทำสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่น มิตรขณะนั้นคือ เยอรมัน อิตาลี ส่วนปัจจามิตรคือ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เป็นต้น
ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ เครื่องบินข้าศึกได้โจมตีกรุงเทพมหานคร เวลา ๐๑.๓๐ น. ที่เพชรบุรีได้มีสัญญาณภัยทางอากาศ เครื่องบินได้บินผ่านและทิ้งระเบิด วันที่ ๙ และ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เครื่องบินได้บินวนเวียนและผ่านไป วันที่ ๙ มิถุนายน ปีเดียวกันมีสัญญาณเตือนให้หลบภัย วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ มีสัญญาณภัยทางอากาศ เครื่องบินผ่านทิ้งระเบิดยังทุ่นระเบิดตามปากน้ำต่าง ๆ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๘ เวลา ๑๓.๑๕ น. เครื่องบินข้าศึกได้ยิงกราดลงมาถูกตู้รถไฟบรรทุกน้ำมันจำนวน ๓ หลัง ไฟไหม้หมด ส่วนบริเวณอื่น ๆ ปลอดภัย เมื่อสงครามสงบทางเจ้าหน้าที่สหประชาชาติได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจดูเชลยศึก สำหรับที่เพชรบุรีนี้มีทหารเชลยชาวฮอลันดาจำนวนประมาณร้อยคนผ่านมา ทางจังหวัดขณะนั้นมีนายอมร อินทรกำแหง อัยการจังหวัดรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำเจ้าหน้าที่ สหประชาชาติดูสถานที่ที่จะให้เชลยศึกพัก โดยได้เลือกโรงเรียนฝึกหัดครูมูลเพชรบุรีเป็นที่พักเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
ในมหาสงครามครั้งนี้ ได้มีคนไทยทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ ก่อตั้งองค์การใต้ดินขึ้นเรียกว่า ขบวนการเสรีไทย เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและให้ความร่วมมือกับพันธมิตร กองบัญชาการใหญ่ตั้งที่วังสวนกุหลาบ มีสมาชิกย่อย ๆ ตามจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งเมืองเพชรบุรีด้วย ซึ่งตั้งหน่วยปฏิบัติการอยู่ที่ตำบลบางค้อ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง มีการฝึกอาวุธให้กับสมาชิกอาสา-สมัครเป็นการฝึกรบแบบกองโจร แต่เหตุการณ์สงครามได้สิ้นสุดลงเสียก่อน
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบบมณฑลเทศาภิบาล
หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลางโดยมีกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศและควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว การจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการ ปกครองแบบเทศาภิบาลซึ่งถือว่าได้เป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาใช้ปรับปรุงะเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อย และเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือ ระบบกินเมืองให้หมดไป
การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใดก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ ๆ ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดี พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกันโดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้นจึงจะขอนำคำจำกัดความของ “การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า
“การเทศาภิบาล” คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะใน ราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาค อันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑลรองถัดลงไปเป็นเมือง คือจังหวัดรองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญาความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็ว แก่ราชการและธุรกิจของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย"
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้
การเทศาภิบาลนั้น หมายความรวมว่า เป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน “มณฑลเทศาภิบาล” นั้น คือ ส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่ง ข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม อันเป็นระบบกินเมืองระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียบการ ปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการ ปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่า ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตก บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวมรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาลการจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับ ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงาน จัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายนี้ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และใน พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่า ๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด
พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสียเหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑. การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓. เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔. รัฐบาลไทยในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ นโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ แผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒. อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓. ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๙ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑. จังหวัด
๒. อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลการตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบุรี . กรุงเทพ : อมรินทร์การพิมพ์ , ๒๕๒๙ .
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น