สมัยกรุงศรีอยุธยา
สมัยศรีกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
อาศัยหลักฐานทางโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ภายในจังหวัดปทุมธานี เป็นที่น่าเชื่อว่าจังหวัดปทุมธานีในอดีตเป็นเมืองที่เกิดขึ้นในยุคต้นของอาณาจักรศรีอยุธยาประกอบกับ "ตำนานท้าวอู่ทอง" ทำให้เรื่องท้าวอู่ทองอพยพผู้คนหนีโรคห่า (อหิวาตกโรค) ผ่านมายังเมืองปทุมธานีมีความจริงอยู่มาก
"ตำนานท้าวอู่ทอง" ที่จังหวัดปทุมธานี มีปรากฏอยู่ ๒ เรื่อง คือ ตำนานเรื่องท้าวอู่ทอง เสด็จหนีโรคห่าผ่านมายังวัดมหิงสารามตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคกเรื่องหนึ่งและตำนานเรื่องท้าวอู่ทอง อันเป็นประวัติวัดเทียนถวาย อำเภอเมืองอีกเรื่องหนึ่ง
ตำนานท้าวอู่ทอง ที่วัดมหิงสาราม ผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลบางกระบือ เล่าต่อกันมาว่าครั้งหนึ่งในอดีต ท้าวอู่ทองได้อพยพไพร่พล หนีโรคห่า ขณะผ่านเขตสามโคกเป็นเวลาใกล้ค่ำแล้วประกอบกับเกวียนชำรุด จึงหยุดพักไพร่พล ที่บริเวณวัดมหิงสาราม กับทั้งได้ออกปากขอยืมเครื่องมือจากชาวบ้านละแวกนั้น เพื่อนำมาซ่อมแซมเกวียนแต่ได้รับการปฏิเสธ ท้าวอู่ทองทรงพิโรธนัก และในคืนนั้นเองทรงแอบฝังทรัพย์สมบัติส่วนที่ไม่สามารถนำไปได้เพราะเกวียนชำรุด ไว้ในบริเวณวัด และสาปแช่งมิให้ผู้ใดนำทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้ไปได้เลย สภาพปัจจุบันวัดมหิงสารามเป็นวัดร้าง ชำรุดทรุดโทรม เหลือเพียงผนังพระอุโบสถเพียง ๔ ด้านเท่านั้นอยู่ห่างจากลำน้ำเจ้าพระยาประมาณสองกิโลเมตร สาเหตุที่ร้างมีผู้สันนิษฐานต่างกันไป บ้างก็ว่าเป็นเพราะลำน้ำเปลี่ยนทางเดิน บ้างก็คิดว่าเพราะกรุงแตกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐
ตำนานท้าวอู่ทองจากคำบอกเล่าทางวัดเทียนถวาย ความว่า พระเจ้าอู่ทองได้อพยพผู้คนหนีโรคห่า พร้อมด้วยไพร่พล สัมภาระบรรทุกเกวียนมาประมาณแปดสิบเล่ม ได้หยุดพักไพร่พลอยู่ที่หนองแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันเรียกชื่อว่า หนองปลาสิบ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดเทียนถวาย ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง) ตอนกลางคืนได้จุดไฟสว่างไสวตลอดทั้งคืนนานเป็นแรมเดือน เมื่อโรคห่าสงบแล้ว ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดในบริเวณที่เคยประทับขึ้น ๑ วัด สมัยนั้นชาวบ้านเรียกว่า "วัดเกวียนไสว" ต่อมาแผลงเป็น "วัดเทียนถวาย"
ตำนานเรื่องท้าวอู่ทองเสด็จหนีโรคห่าเล่าต่อกันมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้า กล่าวอ้างถึงเรื่องพระเจ้าอู่ทอง ได้เสด็จหนีโรคผ่านเมืองสามโคก ก่อนไปตั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า
"พอเลยนาคบากข้ามถึงสามโคก
เป็นคำโลกสมมุติสุดสงสัย
ถามบิดาว่าท่านผู้เฒ่าท่านกล่าวไว้
ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์
หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง
ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ
พอห่ากินสิ้นบุญไปสูญลับ
ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง
จึงที่นี้มีนามชื่อสามโคก
เป็นคำโลกสมมุติสุดแถลง
ครั้งพระโกศโปรดปรานประทานแปลง
ที่ตำแหน่งมอญมาสวามิภักดิ์
ชื่อประทุมธานีที่เสด็จ
เดือนสิบเบ็ดบัวออกทั้งดอกฝัก
มารับส่งตรงนี้ที่สำนัก
พระยาพิทักษ์ทวยหาญผ่านพารา"
จากตำนานจึงพอประมาณการได้ว่า ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมา บริเวณสองริมฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเป็นอาณาบริเวณที่ตั้งของจังหวัดปทุมธานี ในอดีตเต็มไปด้วยป่าไม้หนาแน่นอุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด บ้านเรือนราษฎร ตั้งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำ และบ้านเรือนเริ่มจะมีมากขึ้นในภายหลังที่พระเจ้าอู่ทอง ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีปทุมธานีคงเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ เป็นต้นด่านกักนาวาก่อนที่จะเดินทางผ่านเข้ามาสู่ตัวเมืองกรุงศรีอยุธยา
สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑)
ในรัชสมัยของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้ ชุมชนในเขตจังหวัดปทุมธานี เริ่มขยายตัวเป็นชุมชนเมืองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตะวันออก ตั้งแต่บริเวณวัดสองพี่น้องถึงวัดป่างิ้วในปัจจุบัน (แต่เดิมเป็นที่ตั้งของวัด "พญาเมือง" และ "วัดนางหยาด") โดยมีคันคูเมืองโดยรอบปัจจุบันเหลือเพียงร่องรอยต่าง ๆ ในอดีตให้ได้เห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รู้จักกันในนามว่า "เมืองสามโคก"
ครั้นในปี พ.ศ. ๒๑๑๒ แผ่นดินพระมหินทราธิราชกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งแรก พระเจ้าหงสาวดีได้กวาดต้อนประชาชนพลเมืองไปประเทศพม่า คงเหลือไว้เพียงหมื่นเศษเป็นผลให้สามโคกกลายเป็นเมืองร้างไป
มีหลักฐานในกฎหมายเก่าลักษณะพระธรรมนูญ ว่าด้วยการใช้ตราราชการ พ.ศ. ๒๑๗๙ แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า สามโคกเป็นหัวเมืองขึ้นกับกรมพระกลาโหม จึงแสดงให้เห็นว่า เมืองสามโคกมีฐานะเป็นเมืองมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เมื่อพม่ารบกับจีน ในปี พ.ศ. ๒๒๐๒ ชาวมอญที่ถูกเกณฑ์เข้าร่วมในกองทัพพม่า ได้พากันหลบหนีจากกองทัพพม่า โดยพาครอบครัวออกจากเมืองเมาะตะมะ เข้ามากรุงศรีอยุธยาประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญที่อพยพเข้ามาในครั้งนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก ปรากฏตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขาว่า
"ขณะนั้น (พ.ศ. ๒๒๐๒ ปีชวด โทศก) มังนันทมิตร ผู้เป็นอาพระเจ้าอังวะอยู่ปกครองเมาะตะมะ ส่วนชาวเมืองฮ่อไซร้ยกทัพมาล้อมเมืองอังวะ จะเอาฮ่ออุทิงผาซึ่งพาฉกรรจ์อพยพประมาณพันหนึ่งหนีไปพึ่งอยู่ ณ เมืองอังวะนั้น จึงมังนันทมิตรเกณฑ์เอาพล ๓๒ เมือง ซึ่งขึ้นแก่เมืองเมาะตะมะนั้น ๓,๐๐๐ ให้ไปช่วยป้องกันเมืองอังวะ และมอญอันไปช่วยป้องกันก็หลีกหนีคืนมาเป็นอันมาก จึง มัง นันทมิตรก็ให้คุมเอามอญอันหนีมานั้นใส่ตะรางไว้ว่าจะเผาเสีย และสมิงนายอำเภอทั้ง ๑๑ คนนั้น ควบคุมมอญประมาณห้าพันยกเข้าเผาเมืองเมาะตะมะและได้ตัวมังนันทมิตรจำไว้แล้ว จึงปรึกษากันว่าเรากระทำความผิดถึงเพียงนี้ ถ้าทราบถึงพระเจ้าอังวะก็จะมีภยันตรายแก่พวกเราเป็นแท้ และเราทั้งปวงหาที่พึ่งมิได้ จำจะพากันกวาดอพยพหนีเข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา เอาพระเดชานุภาพปกเกล้าฯ ร่มเย็น เป็นที่พำนักจึงจะพ้นภัย ครั้นปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้ว สมิงนายอำเภอทั้ง ๑๑ นายก็กวาดต้อนครอบครัวรามัญในแว่นแคว้นเมืองเมาะตะมะทั้ง ๓๒ หัวเมืองกับสมัครพรรคพวกของตัวและพรรคพวกมังนันทมิตรเป็นคนประมาณหมื่นเศษ แล้วให้ถอดมังนันทมิตรออกจากพันธนาการพากันอพยพออกจากเมืองเมาะตะมะ มาทางเมืองสมิถึงด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ ในปีระกา นพศกนั้น จึงสมิงนายอำเภอทั้ง ๑๑ นาย ก็แต่งหนังสือบอกให้รามัญ ถือเข้ามาแจ้งกิจการแก่พระยากาญจนบุรีว่าจะเข้ามาสวามิภักดิ์เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทพระยากาญจนบุรีก็ส่งหนังสือบอกเข้ามาถึงอัครมหาเสนาธิบดี ให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกให้ทรงทราบเหตุ ก็ทรงพระโสมนัสดำรัสให้สมิงรามัญเก่าในกรุงถือ พลพันหนึ่ง ออกไปรับครัวเมืองเมาตะมะเข้ามายังพระมหานครแล้วทรงพระกรุณาโปรดให้พวกครัวมอญใหม่ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลสามโคกบ้าง ที่คลองคูจามบ้าง ที่ใกล้วัดตองปุบ้างแล้วดำรัสโปรดให้สมิงนายกองทั้ง ๑๑ คน เข้าเฝ้ากราบถวายบังคม ทรงพระมหาการุญภาพพระราชทานเครื่องยศ เครื่องเรือน และเสื้อผ้าเงินตรากับทั้งเคหฐานให้อยู่เป็นสุข แต่มังนันทมิตรนั้นป่วยลงถึงอนิจกรรม"
ฉะนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มอญที่อพยพมาในครั้งนั้นตั้งบ้านเรือนอาศัยทำมาหากินที่ตำบลสามโคก และต่อมาทำให้ตำบลสามโคกเจริญรุ่งเรืองขึ้นจนมีฐานเป็นเมืองสามโคกและเป็นจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน นับว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ได้ทรงทำนุบำรุงเมืองปทุมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นหลักฐาน ชาวปทุมธานีจึงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
สมัยกรุงธนบุรี
ภายหลังจากที่พระยาวชิรปราการ กอบกู้เอกราชของชาวไทยไว้ได้ เมื่อครั้งเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้ประกาศตั้งเมืองหลวงขึ้นใหม่ เรียกว่า "กรุงธนบุรี" และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ พม่าเกณฑ์ทหารมอญมาตีไทยที่ตำบลสามสบ ท่าดินแดง มีพญามอญหัวหน้า ๔ คน คือ พระยาเจ่ง เจ้าเมืองอัตรัน เป็นหัวหน้าใหญ่ พระยาอู่ตละเลี้ยงและตละเกล็บ ทหารมอญเหล่านี้ต่างมีความแค้นเคืองพม่าที่ได้กระทำทารุณกรรมต่อชาวมอญ ดังนั้น แทนที่จะมารบกับไทยตามที่พม่าเกณฑ์มา กลับยกทัพเข้าตีพม่าเสียเองที่เมาะตะมะ จนพม่าต้องทิ้งเมืองหนีไปร่างกุ้งเพราะเข้าใจว่าทัพไทยบุกเข้าโจมตีโดยไม่ทันรู้ตัวทัพมอญบุกตีพม่ารุกเข้าไปจนได้เมืองสะโตงหงสาวดี ครั้นพอถึงร่างกุ้ง อะแซ-หวุ่นกี้แม่ทัพ พม่ายกกำลังขึ้นปราบปราม มอญสู้ไม่ได้จึงหนีเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารทางเมืองตาก และด่านเจดีย์สามองค์ ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมพลไปรับครอบครัวมอญเหล่านั้นให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนทบุรีและ "สามโคก" ให้พระยารามัญวงศ์ มียศเสมอ จตุสดมภ์ หรือเรียกว่า "จักรีมอญ" เป็นหัวหน้าดูแลครัวมอญทั่วไป
สมัยกรุงสมัยรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในรัชสมัยของพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๘ พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าได้ทรงเกณฑ์แรงงานชาวมอญให้สร้างพระธาตุที่เมืองเมงถุนให้เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างความลำบากยากเข็ญแก่ชาวมอญเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง จึงพากันอพยพหลบหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทยทางเมืองตาก เมืองอุทัยธานี และทางด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี จำนวน ๔๐,๐๐๐ คน ดังกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ตอนหนึ่งว่า
"เมื่อทรงทราบข่าวว่า ครัวมอญอพยพเข้ามา จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จขึ้นไปคอยรับครัวมอญ ทีเมืองนนทบุรี จัดจากและไม้สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนและเสบียงอาหารของพระราชทานขึ้นไปพร้อมเสร็จทางเมืองกาญจนบุรี โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏฯ (รัชกาลที่ ๔) คุมไพร่พลสำหรับป้องกันครัวมอญ และเสบียงอาหารของพระราชทานออกไปรับครัวมอญทางหนึ่ง โปรดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นผู้ใหญ่เสด็จกำกับ
ทางเมืองตากนั้นโปรดให้เจ้าพระยาอภัยภูธร ที่สมุหนายกเป็นผู้ขึ้นไปรับครัวมอญมาถึงเมืองนนทบุรี เมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พ.ศ. ๒๓๕๘ เป็นจำนวน ๔๐,๐๐๐ เศษ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแขวงเมืองปทุมธานีบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง"
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเอาพระทัยใส่ ดูแลทุกข์ สุข ครอบครัวมอญเหล่านั้นมิได้ขาด ครั้นถึงเดือน ๑๑ พ.ศ. ๒๓๕๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคกโดยทางชลมารค เพื่อทรงเยี่ยมเยียนชาวรามัญที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ พระองค์ทรงประทับ ณ พลับพลาริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงกับเมืองสามโคก (ตรงหน้าวัดปทุมทองปัจจุบันนี้) ทรงรับดอกบัวจากพสกนิกร ซึ่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอยู่เป็นเนืองนิตย์ จึงพระราชทานนามเมืองสามโคกให้เป็นสิริมงคลใหม่ว่า "ประทุมธานี" เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๓๕๘ ยกฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรี ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในวรรณคดีสำคัญของสุนทรภู่ ๒ เรื่อง คือ
นิราศภูเขาทอง (แต่งราว พ.ศ. ๒๓๗๑) ว่า
"ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า
พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี
ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว"
(นิราศวัดเจ้าฟ้า แต่งราว พ.ศ. ๒๓๗๙)
"จึงที่นี้มีนามชื่อสามโคก
เป็นคำโลกสมมุตติสุดแถลง
ครั้งพระโกศโปรดปรานประทานแปลง
ที่ตำแหน่งมอญมาสามิภักดิ์
ชื่อประทุมธานีที่เสด็จ
เดือนสิบเบ็ดบัวออกทั้งดอกฝัก
มารับส่งตรงนี้ที่สำนัก
พระยาพิทักษ์ทวยหาญผ่านพารา"
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกรมมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๓๗ (ร.ศ. ๑๑๓) ให้เมืองประทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ เมืองสมุทรปราการ เป็นหัวเมืองแขวงมณฑลกรุงเทพฯ ทรงมีพระราชาธิบายว่า เป็นหัวเมืองที่อยู่ไกลกรุงเทพฯ เพียงพันเส้นเท่านั้น ประกอบกับมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ให้มาขึ้นสังกัดกระทรวงนครบาล เพื่อที่ลาดตระเวนจะจับโจรผู้ร้าย ไม่ต้องไปขอตรา เจ้ากระทรวงมหาดไทยอีกต่อไป
ปี พ.ศ. ๒๔๔๑-๒๔๔๒ (ร.ศ. ๑๑๗-๑๑๘) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำบัญชีสำมะโนประชากรของเมืองประทุมธานี ปรากฏว่ามีประชากรในเมืองประทุมธานีทั้งสิ้น ๒๑,๓๖๐ คน
พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้ใช้คำว่า "จังหวัด" แทนคำว่าเมือง ดังนั้นเมืองประทุมธานี จึงเป็นจังหวัดประทุมธานีเป็นต้นมา โดยเปลี่ยนการเขียนใหม่ด้วย คือ "ประทุมธานี" เป็น "ปทุมธานี" ขึ้นอยู่กับมณฑลกรุงเก่า มีเขตการปกครอง ๓ อำเภอ คือ อำเภอบางกะดี อำเภอสามโคก และอำเภอเชียงราก
ทั้งสามอำเภอตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ ๆ กัน และมีอาณาเขตการปกครองของแต่ละอำเภอเป็นแนวลึกไปทางทิศตะวันตก ซึ่งไม่เหมาะแก่การปกครองเป็นอย่างยิ่ง ทางราชการจึงได้ประกาศให้แบ่งเขตการปกครองเสียใหม่ และให้ย้ายอำเภอเชียงรากไปตั้งที่ตำบลระแหงทางทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เรียกว่า "อำเภอระแหง" ไปก่อน ตามหนังสือศาลากลางเมืองประทุมธานีที่ ๘๒๔/๓๒๒๘ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้วให้เปลี่ยนชื่ออำเภอ ระแหง เป็นอำเภอลาดหลุมแก้ว แต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๗ ทางราชการให้ยุบจังหวัดธัญญบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ทำให้จังหวัดปทุมธานีมีเขตพื้นที่อีก ๔ อำเภอเพิ่มเข้ามารวมเป็น ๗ อำเภอ คือ
อำเภอบางกะดี
อำเภอสามโคก
อำเภอลาดหลุมแก้ว
อำเภอธัญบุรี
อำเภอลำลูกกา
อำเภอบางหวาย
อำเภอหนองเสือ
(สำหรับอำเภอบางหวาย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอคลองหลวง" เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อทางราชการโดยบริษัทคูนาสยาม ได้ขุดคลองที่สองเชื่อมคลองรังสิตทางทิศใต้กับคลองระพีพัฒน์ทางทิศเหนือแล้วเสร็จ เนื่องจากตัวอาคารที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ริมคลองที่หลวง (ราชการ) ได้ขุดขึ้น)
ดังนั้น เมืองสามโคก จึงเป็นที่ตั้งของจังหวัดปทุมธานีมาก่อน แต่เนื่องจากสภาพของเมืองมีลักษณะเป็นแหล่งอพยพ เจ้าเมืองผู้ใดมีบ้านเรือนตั้งอยู่ ณ ที่ใด ที่ว่าการเมืองก็อยู่ที่นั่นจึงทำให้ที่ว่าการเมืองต้องย้ายอยู่ถึง ๘ ครั้ง ดังนี้ คือ
ครั้งที่ ๑ ย้ายจากตำบลบ้านงิ้ว ปากคลองบ้านพร้าว บริเวณวัดพญาเมือง (วัดร้าง) ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไปตั้งที่บ้านสามโคก ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างวัดตำหนักกับวัดสะแก
ครั้งที่ ๒ ย้ายมาจากบ้านสามโคก ไปตั้งที่บ้านตอไม้ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงกับวัดปทุมทองในปัจจุบัน
ครั้งที่ ๓ ย้ายจากบ้านตอไม้ไปตั้งที่บ้านสามโคก ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตามเดิม
ครั้งที่ ๔ ย้ายจากบ้านสามโคกไปตั้งที่ปากคลองบางหลวงไหว้พระ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมืองปทุมธานี ปัจจุบัน
ครั้งที่ ๕ ย้ายจากปากคลองบางหลวงไหว้พระไปตั้งระหว่างปากคลองบางโพธิ์ ฝั่งเหนือกับคลองบางหลวงฝั่งใต้ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ครั้งที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๙) ย้ายจากปากคลองบางโพธิ์เหนือไปตั้งที่บ้านโคกชะพลูใต้คลองบางทรายฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ครั้งที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๖๐) ย้ายจากบ้านโคกชะพลู ไปตั้งที่ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี ปัจจุบัน ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ครั้งที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๑๙) ย้ายจากตำบลบางปรอก ไปตั้งที่ตำบลบ้านฉางนอกเขตเทศบาลเมืองปทุมธานี ตรงสี่แยกถนนปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว ติดกับโรงพยาบาลปทุมธานีและด้านหน้าติดกับถนนแยกไปอำเภอสามโคก ย้ายไปปฏิบัติการเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๙
การก่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ที่ย้ายครั้งที่ ๘ ใหม่นี้ ได้เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารสมัย พลตรีวิทย์ นิ่มนวล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ได้เสด็จมาทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ดังคำกราบทูลของพลตรีวิทย์ นิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ถวายรายงานแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชตอนหนึ่งว่า
".......เกล้ากระหม่อมและบรรดาข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ชาวจังหวัดปทุมธานีรู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้น ที่ฝ่าพระบาทได้ทรงพระกรุณาสละเวลาเสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารศาลากลางจังหวัดปทุมธานีหลังใหม่ในวันนี้ นับเป็นพระเดชพระคุณหาที่สุด มิได้...."
ที่ดินในการปลูกสร้างอาคารศาลากลางหลังใหม่นี้ คุณนายกฐิน กุยยกานนท์ ได้ยกให้กับทางราชการ จำนวน ๑๖ ไร่ การก่อสร้างใช้เงินงบประมาณ ในการถมดินและก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น ๘,๙๒๖,๐๐๐ บาท (แปดล้านเก้าแสนสองหมื่นหกพันบาท)
เมื่อสร้างอาคารหลังใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ขนย้ายพัสดุครุภัณฑ์ เอกสารต่าง ๆ จากศาลากลางเก่า ไปศาลากลางใหม่ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙
เมื่อนายสุธี โอบอ้อม มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองปทุมธานีเป็นอย่างมาก ได้สำรวจค้นหาศาลหลักเมืองปทุมธานีและสอบถามชาวเมืองปทุมธานี แล้วปรากฏว่า เมืองนี้ได้โยกย้ายตัวเมืองอยู่หลายครั้งและไม่เคยมีศาลหลักเมืองมาก่อนเหมือนเมืองอื่น ๆ จึงดำริเห็นเป็นสำคัญว่า ควรจะสร้างศาลหลักเมืองไว้ให้มั่นคง เพื่อเป็นเครื่อง ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวปทุมธานี พร้อมทั้งให้เกิดความรักสามัคคีกันให้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังจะนำความสงบสุขร่มเย็นมาสู่เมืองด้วย ความดำรินี้จึงเห็นพ้องต้องกันระหว่างข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า และประชาชน ได้ร่วมกันสละทรัพย์คนละเล็กคนละน้อย ดำเนินการสร้างศาลหลักเมืองขึ้น โดยเริ่มลงมือทำพิธีสะเดาะพื้นที่ที่จะสร้างศาลหลักเมือง เพื่อความสวัสดิมงคล เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙
ต่อมาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) ได้เสด็จมาทรงเป็นประธานวางศิลาฤกษ์หลักเมือง เมื่อวันจันทร์ วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ตรงกับเวลา ๑๕.๐๐ น. เดือนยี่ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี
ทางกรมศิลปากร ได้เป็นผู้ออกแบบประดิษฐ์ตัวเสาหลักเมือง ซึ่งทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ที่ทางกรมป่าไม้ได้นำมาจากสวนป่าลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์มอบให้ ครั้นเมื่อประดิษฐ์เสร็จเรียบร้อยแล้วได้นำเข้าพระตำหนักสวนจิตรลดาเพื่อทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ทรงเจิมเมื่อวันศุกร์ วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เวลาฤกษ์ ๘.๒๙ น. และในคืนนี้เวลาประมาณ ๕ ทุ่ม ได้เกิดจันทรคราสจับครึ่งดวงเป็นที่น่าอัศจรรย์
เมื่อสร้างตัวศาลหลักเมืองแบบจตุรมุขยอดปรางค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กำหนดการประกอบพิธียกเสาหลักเมืองจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันพุธ วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี มีขบวนแห่ยาวเหยียด มีการสมโภชเฉลิมฉลองเป็นงานใหญ่อย่าง เอิกเกริก
ศาลหลักเมืองจึงตั้งเด่นเป็นสง่า อยู่หน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี มีผู้คนมากราบไหว้บูชากันอยู่มิได้ขาด นับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวปทุมธานี ให้มีความรักสมัครสมานสามัคคีกันให้แข็งแกร่ง เพื่อปกป้องคุ้มครองสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพรักยิ่งชีวิตของชาวไทย ไว้ให้มั่นคงถาวรสืบไปชั่วกาลนาน
การจัดรูปการปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาล
แต่เดิมการปกครองบ้านเมืองมีข้อสำคัญเป็นหลัก ๒ ประการ คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรู ภายนอก ชาวเมืองต้องช่วยกันรบพุ่งต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองประการหนึ่ง ซึ่งตรงกับ "การทหาร" และในยามที่บ้านเมืองเป็นปกติสุข ก็ช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองอีกประการหนึ่ง ซึ่งตรงกับการ "การพลเมือง" ด้วยเหตุนี้กรมต่าง ๆ จึงต้องทำงานทั้งในด้านการทหารและพลเรือน สุดแต่จะมีงานฝ่ายไหนเป็นสำคัญ แต่การสงครามนั้นนาน ๆ จะมีสักครั้ง จึงมักจะมีงานฝ่ายพลเรือนมากกว่า และเมื่อก่อนที่จะแบ่งแยก ระเบียบราชการเป็นฝ่ายทหารและพลเรือนนั้น ในราชการฝ่ายพลเรือน มีกรมใหญ่อยู่ ๔ กรม คือ กรมเมือง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา เรียกรวมกันว่า "จตุสดมภ์" โดยหัวหน้ากรมทั้ง ๔ มีศักดิ์เสมอกันทั้ง ๔ คน เป็นใหญ่กว่าข้าราชการทั้งปวง ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงกำหนดราชการให้เป็นฝ่ายทหารและพลเรือน โดยทรงตั้งหน่วยราชการเพิ่มขึ้นอีก ๒ กรม คือ กรมกลาโหม และกรมมหาดไทย ซึ่งกรมทั้ง ๒ นี้มีฐานะใหญ่กว่าจตุสดมภ์ดังกล่าวแล้ว และเป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาฝ่ายทหารและพลเรือนทั้งหมด มีอัครมหาเสนาบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายละคน คือ สมุหพระกลาโหม และสมุหนายก แต่ก็มิใช่เป็นการแบ่งแยกราชการออกเป็นทหารและพลเรือน เช่นในปัจจุบัน ข้าราชการทั้ง ๓ ฝ่ายยังคงมีหน้าที่ต้องทำทั้งการทหารและพลเรือนอยู่อย่างเดิม ส่วนการปกครองหัวเมืองนั้น อำนาจการปกครองบังคับบัญชาแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกล คือ หัวเมืองที่อยู่ห่างไกลจากราชธานีมาก ก็จะมีอิสระในการปกครองตนเองมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้แบ่งออกเป็นเมืองเอก โท ตรี และมืองจัตวา โดยให้เมืองน้อยขึ้นกับเมืองใหญ่ คือ หัวเมืองชั้นในขึ้นกับราชธานี และเมืองเล็กขึ้นกับเมืองพระยามหานคร เป็นต้น
ระบบการปกครองดังกล่าวนี้ ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามแต่เหตุการณ์และความเหมาะสม ซึ่งก็ได้ใช้อยู่ตลอดมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ จึงได้มีการปฏิรูปการบริหารราชการเสียใหม่ โดยทรงแบ่งหน่วยราชการส่วนกลางออกเป็น ๑๒ กระทรวงด้วยกัน แต่ละกระทรวงมีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา มีฐานะเท่าเทียมกันทุกตำแหน่ง สำหรับการ ปกครองส่วนภูมิภาค หรือการปกครองหัวเมือง ซึ่งแต่เดิมได้แยกกันอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกรมท่า (ก่อนเปลี่ยนเป็นกระทรวงการต่างประเทศ) ก็ได้ปรับปรุงให้รวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง รวม ๖ มณฑล คือ มณฑลลางเฉียง หรือ มณฑลพายัพ มณฑลลาวพวน หรือมณฑลอุดร (มณฑลนี้เมื่อก่อน พ.ศ. ๒๔๓๖ รวมหัวเมืองฝั่งซ้าย แม่น้ำโขงเข้าด้วย เช่น เมืองพวน และเมืองเชียงขวาง จนกระทั่ง ร.ศ. ๑๑๒ คงเหลือเพียง ๖ เมือง) มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา มณฑลลาวกลาง และมณฑลภูเก็ต แต่การรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลดังกล่าวนี้ยังไม่ใช่การปกครองลักษณะมณฑลเทศาภิบาล
การเทศาภิบาล
การเทศาภิบาล คือ การปกครองที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาค โดยแบ่งการปกครอง เป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ทั้งนี้ได้จัดแบ่งหน้าที่ การงานออกเป็นสัดส่วน โดยมีสมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการเมือง และนายอำเภอ เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการจะดูแลทุกข์สุขของประชาชนในเขตท้องที่นั้น รวมทั้งมีกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ช่วยเหลือปฏิบัติงานในระดับตำบล และหมู่บ้าน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาค มีลักษณะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยการที่รัฐบาลจัดส่งข้าราชการไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ แทนที่จะให้ส่วนภูมิภาคจัดการปกครองกันเอง อันเป็นการยกเลิกการปกครองแบบโบราณดั้งเดิมของไทยที่เรียกว่า "กินเมือง" ให้หมดสิ้นไป
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ จะจัดการปกครอง พระราชอาณาจักรให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าการที่หัวเมืองต่างก็แยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ถึง ๓ กระทรวงนั้น เป็นการยากที่จะจัดการปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้แบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหมเสียใหม่และเมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวง โดยให้รวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทย ต่อมาจึงได้ดำเนินการจัดระบบการปกครองในรูปมณฑลเทศาภิบาลดังกล่าว ข้างต้น ซึ่งได้เริ่มใช้อย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ แต่ก็มิได้ดำเนินการพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณา-จักร คงจัดตั้งมณฑลขึ้นตามความเหมาะสมและให้ปรับปรุงมณฑลที่ตั้งก่อน พ.ศ. ๒๔๓๗ ให้เป็นลักษณะเทศาภิบาลเหมือนกันเป็นลำดับ ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๗ เมื่อเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ผ่านพ้นไปแล้วได้เริ่มจัดระบบการเทศาภิบาล โดยเลิกประเพณีการมีประเทศราชและได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลรวม ๓ มณฑล คือมณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีน และได้รวบรวมหัวเมืองจากกระทรวงกลาโหมและกรมท่ามาตั้งเป็นมณฑลราชบุรี
พ.ศ. ๒๔๓๘ ตั้งขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑล กรุงเก่า (เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า มณฑลอยุธยา ในรัชกาลที่ ๖)
พ.ศ. ๒๔๓๙ ตั้งชื่อ ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลสุราษฎร์)
พ.ศ. ๒๔๔๐ ตั้งขึ้น ๑ มณฑล โดยโอนหัวเมืองของไทย และหัวเมืองมลายูฝ่ายตะวันตก ซึ่งเป็นประเทศราชมาก่อน ตั้งเป็นมณฑลไทรบุรี
พ.ศ. ๒๔๔๒ ตั้งขึ้น ๑ มณฑล คือ มณฑลเพชรบูรณ์ มณฑลนี้มีการตั้งและยุบถึง ๒ ครั้ง เพราะเป็นท้องที่กันดารและเป็นมณฑลที่มีท้องที่เล็กกว่ามณฑลอื่น
พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้ปรับปรุงจัดระบบมณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ซึ่งเป็นมณฑลในสภาพเดิม ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. ๒๔๔๙ ตั้งมณฑลขึ้นใหม่ ๒ มณฑล คือ มณฑลจันทบุรี และได้แบ่งหัวเมืองจากมณฑลนครศรีธรรมราช มารวมกันจัดตั้งเป็นมณฑลปัตตานี
พ.ศ. ๒๔๕๕ ตั้งมณฑลเพิ่มอีก ๑ มณฑล โดยแบ่งแยกท้องที่จากมณฑลอีสาน ออกเป็น ๒ มณฑล เรียกว่า มณฑลอุบลราชธานีและมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๔๕๘ ตั้งมณฑลเพิ่มขึ้นอีก ๑ มณฑล โดยแบ่งพื้นที่จากมณฑลพายัพ มาตั้งเป็นมณฑลมหาราษฎร์ อีก ๑ มณฑล
มณฑลกรุงเทพฯ ได้จัดตั้งเป็นมณฑล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ เนื่องจากเป็นที่ตั้งราชธานีจึงมีระเบียบการปกครองผิดกับระเบียบการปกครองของมณฑลอื่น ๆ กล่าวคือ ไม่มีตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล หรือสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเทพฯ อยู่ใต้บังคับบัญชารับผิดชอบของเสนาบดีกระทรวงนครบาลโดยเฉพาะ และเมื่อรวมกระทรวงนครบาลเข้ากับกระทรวงมหาดไทยแล้ว จึงมีสมุหนครบาลเป็นหัวหน้ารับผิดชอบเช่นเดียวกับมณฑลอื่น ๆ มณฑลกรุงเทพฯ มีเมืองอยู่ในปกครอง ๖ เมือง คือ พระนคร ธนบุรี ปทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) สมุทรปราการและนนทบุรี
หลังจากที่ได้จัดการปกครองระบบเทศาภิบาลแล้ว ก็มีการปรับปรุงแก้ไขตลอดมาและเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศเปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น "จังหวัด" ต่อเมื่อมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การปกครองระบบเทศาภิบาล ได้ถูกยุบเลิกโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งให้ถือจังหวัดเป็นเขตการปกครองส่วนภูมิภาคนับแต่นั้นเป็นต้นมา
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็น หน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑) การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒) เพื่อประหยัดค่าจ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓) เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔) รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วน ภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒) อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓) ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑) จังหวัด
๒) อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลการตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดปทุมธานี. กรุงเทพ, โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น : ๒๕๒๗.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น