ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบันนี้ มีความเป็นมาที่ไม่ชัดเจนนักบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบแสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเพียงทางผ่านทางการเดินทัพทั้งทัพไทยและทัพพม่า และเนื่องจากพม่าเดินทางเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งด้วยกันทำให้อาคารบ้านเรือนหรือสถานที่ทางศาสนาเป็นเพียงการสร้างขึ้นใช้ชั่วคราว เมื่อถูกโจมตีก็สูญหายไปเสียคราวหนึ่ง จึงไม่มีโบราณสถานถาวรใดๆ เหลืออยู่เช่นจังหวัดอื่นๆ ในบริเวณภาคกลางของประเทศ อย่างไรก็ตามหลักฐานเอกสารบางฉบับชี้ให้เห็นว่า ดินแดนแถบนี้เคยมีผู้คนตั้งบ้านเรือนมาช้านานแล้ว ซึ่งพอจะลำดับได้ดังนี้
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ประวัติที่เล่าขานถึงความเป็นมาได้แสดงให้เห็นว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบันเคยมีผู้ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยช้านานนับได้หลายศตวรรษ หนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ วัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒ (Van Vliet) พ่อค้าชาวฮอลันดา ซึ่งได้มาทำงานอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาประมาณ ๙ ปี พ.ศ. ๒๑๗๖ - ๒๑๘๕ ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งวนาศรี สามนเสน แปลไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ความบางตอนกล่าวว่า
“ …..เป็นเรื่องราวที่เห็นพ้องต้องกันมากที่สุด คือเมื่อประมาณสองพันปีมาแล้วพระโอรสของจักรพรรดิจีนพระองค์หนึ่งถูกเนรเทศออกจากเมืองจีน เนื่องจากลอบปลงพระชนม์พระราชบิดา และจะยึดครองราชอาณาจักร พระราชโอรสและข้าราชการบริพารหลังจากรอนแรมไปตามที่ต่างๆ ในที่สุดก็มาขึ้นบกที่อ่าวสยามแหลมกุย (Guij) อยู่ห่างจากอำเภอกุยบุรีในปัจจุบัน ๖๐๐ เมตร ความเห็นของผู้แปลบันทึก และตั้งถิ่นฐานที่นั่น….”
สมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี ในพ.ศ. ๑๘๙๓ ดินแดนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ในการปกครองด้วยเช่นกัน
พลตรีดำเนิร เลขะกุล บันทึกลงอนุสาร อ.ส.ท. (ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๑๕) ว่าในแผนที่เดินทางของขบวนเรือรบจีนในบังคับบัญชาของเช็งโห หัวหน้าขันที ซึ่งพระเจ้ายุงโล้แห่งราชวงศ์เหม็งทรงส่งมาสำรวจประเทศตะวันตก และชื้อหาสิ่งฟุ่มเฟือยแปลกๆ เช่น เพชร พลอย ไม้หอม เครื่องเทศและสิ่งของหายากอื่นๆ ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๗๔–๑๙๗๕ และศาสตราจารย์ พอล วิตลีย์ (Prof. Poul Wheatly) ได้มาทำขึ้นใหม่นั้น ได้กำหนดตำบลหนึ่งลงบนบริเวณที่เป็นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขณะนี้ไว้ด้วย และเขียนชื่อที่เรียกเป็นสำเนียงจีน (เขียนด้วยอักษรอังกฤษ) ว่า “พิ-เชียชาน” (Pi-Chia-Chari) แปลว่า “เขาสามยอด” (Triple Peak Mountain) สำเนียงจีนกลางมาจากการสอบถามอ่านว่าซันไป่เฟิง-ผู้เรียบเรียง) ใกล้เคียงกับ “เขาสามร้อยยอด” หรือ “เขาสามยอด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นี้เป็นที่สังเกตและรู้สึกกันดีในระหว่างนักเดินเรือเป็นอย่างดี”
หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ลำดับรายชื่อหัวเมืองปักษ์ใต้ของกรุงศรีอยุธยาไว้ ดังนี้ “เมืองปราณ เมืองชะอัง เมืองนารัง (บางนางรม) เมืองบางตะพาน…”
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ เล่าเรื่องสมัยสมเด็จพระนเรศวรไว้ว่า
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้าขอแล้วโยมก็จะให้ แต่ทว่าจะให้ไปตีเมืองตะ-นาวศรี เมืองทวาย แก้ตัวก่อน สมเด็จพระนพรัตก็ถวายพระพรว่า การซึ่งจะใช้ไปตีบ้านเมืองนั้นสุดแต่พระราชสมภารเจ้าจะสมเคราะห์ ใช่กิจสมณะ แล้วสมเด็จพระนพรัตน์พระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรลาไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสั่งให้ท้าวพระยาหัวเมืองมุขมนตรีพ้นโทษ พระราชกำหนดให้พระยาจักรีถือพล ๕๐,๐๐๐ ไปตีเมืองตะนาวศรี ให้พระยาพระคลังถือพล ๕๐,๐๐๐ ยกไปตีเมืองทวาย….
พระเจ้าหงสาวดีทรงพระราชดำริว่า นเรศร์ทำการศึกว่องไวหลักแหลมองอาจนักจนถึงยุทธหัตถีมีชัยแก่มหาอุปราชา เอกาทศรฐเล่าก็มีชัยแก่มังจาซะโร เห็นพี่น้องสองคนนี้จะมีใจกำเริบยกมาตีพระนครเราเป็นมั่นคง แต่ทว่าจะคิดเอาเมืองตะนาวศรี เมืองมฤท เมืองทวายให้ได้ก่อนจำจะให้นายทัพนายกองและไพร่ซึ่งไปเสียทัพมานี้ ให้ยกลงไปรักษาเมืองตะนาวศรี เมืองมฤท เมืองทวาย ไว้ให้ได้ศึกจึงจะไม่เถิงกรุงสาวดี
ฝ่ายเมื่อพระยาจักรียกมาเถิงแดนเมืองตะนาวศรี ตีบ้านรายทางกวาดผู้คนได้เป็นอันมาก แล้วยกเข้ามาล้อมเมืองตะนาวศรี ชาวเมืองรบป้องกันเป็นสามารถ ๑๕ วัน พระยาจักรีแต่งเข้าปล้นเมืองในเพลา ๑๐ ทุ่ม พอรุ่งขึ้นเช้าประมาณโมงเศษก็เข้าเมืองได้ ฝ่ายกองทัพพระยาพระคลังยกตีแดนเมืองทวาย ชาวทวายยกออกมารับก็แตกเสียเครื่องสัตราวุธล้มตายเป็นอันมาก พระยาพระคลังก็ยกเข้าไปพักพลตั้งค่ายริมน้ำฟากตะวันออกเหนือคลองละหามั่นแล้ว ก็ยกข้ามไปล้อมเมืองไว้ อยู่เถิง ๒๐ วัน ทวายจาเจ้าเมืองทวายเห็นเหลือกำลังจะรักษาเมืองไว้มิได้ ก็แต่งให้เจตองวุ่นกับวุ่นทก ออกไปขอออกเป็นข้าขอบขัณฑเสมา ถวายดอกไม้ เงินทอง
พระยาจักรี พระยาพระคลัง บอกข้อราชการเข้ามาให้กราบทูล
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ดีพระทัย ตรัสให้ตอบออกไปให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่รั้งเมืองตะนาวศรี ให้เอาทวายจาเข้ามาเฝ้า พระยาจักรี พระยาพระคลังจัดแจงบ้านเมืองเสร็จแล้วก็ให้ยกทัพกลับเข้ามาเถิด
พระยาจักรี พระยาพระคลังแจ้งดังนั้น ก็บอกลงไปเมืองตะนาวตามพระราชบรรหารทุกประการและให้ทวายจาเป็นเจ้าเมืองอยู่ดังเก่า ให้จัดชาวเมืองทวายเป็นที่ปลัดชื่อออกพระปลัดผู้หนึ่ง ให้ยกเป็นกระบัตรชื่อออลังปลังปลัดผู้หนึ่ง เป็นที่นาชื่อออละนัดผู้หนึ่ง เป็นที่วังชื่อคงปลัดผู้หนึ่ง เป็นที่คลังชื่อออเมงจะดีผู้หนึ่ง เป็นที่สุดชื่อคงแวงทัดคงจำเป็นที่เมือง ครั้นตั้งแต่งขุนหมื่นผู้ใหญ่ผู้น้อย และจัดแจงบ้านเมืองเป็นปกติเสร็จแล้ว ครั้นเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พระยาจักรี พระยาคลัง ก็พาเอาตัวทวายจาเจ้าเมือง กับผู้มีชื่อซึ่งตั้งไว้ ๖ คนนั้นเข้ามาด้วย ขณะนั้นยกกองทัพมาโดยมองสอย เถิงตำบลภูเขาสูงช่องแคบ แดนพระนครศรีอยุธยากับเมืองทวายต่อกันหาที่สำคัญมิได้จึงให้เอาปูนในเต้าแห่งไพร่พลทั้งปวงมาประสมกันเข้าเป็นใบสอก่อเป็นพระเจดีย์ฐานสูง ๖ ศอก พอหุงหาอาหารสุกสำเร็จแล้ว ยกทัพเข้ามาเถิงกรุงพระนครศรีอยุธยาเข้าเฝ้ากราบทูล”
“ครั้น ณ วันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีจอ อัฐศก (จ.ศ. ๙๔๘ พ.ศ. ๒๑๒๙) กรมการเมืองกุยบุรีบอกเข้ามาว่า พระยาศรีไสยณรงค์ซึ่งให้ไปรั้งเมืองตะนาวศรีเป็นกบฏ โกษาธิบดีกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณายังแคลงอยู่ จึงโปรดให้มีตราแต่งตั้งข้าหลวงออกไปหา พระยาตะนาวศรีก็มิมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธ จึงให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าเสด็จพระราชดำเนินยกทัพออกไป และสมเด็จพระอนุชา เสด็จออกไปครั้งนั้น พล ๓๐,๐๐๐ ช้างเครื่อง ๓๐๐ ม้า ๕๐๐ ทัพปักษ์ใต้เมืองไชยา เมืองชุมพร เมืองคลองวาฬ เมืองกุย เมืองปราณ เมืองเพชรบุรี ๖ เมือง คน ๑๕,๐๐๐ ชุมทัพตำบลบางตะพานเดินทัพทางสิงขรฝ่ายพระยาตะนาวศรีรู้ว่า สมเด็จพระเอกาทศรฐ-อิศวรบรมนาถ บรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกมา ก็คิดเกรงพระเดชเดชานุภาพเป็นอันมาก จะหนีก็หนีไม่พ้น จะแต่งทัพออกรับก็เหลือกำลัง จนสิ้นคิดแล้วก็นิ่งรักษามั่นไว้…”
“เถิงเดือน ๙ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ (สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรฐ) ก็เสด็จออกจากเมืองเพชรบุรี (เสด็จมาประพาสอยู่ที่เมืองเพชรบุรีก่อน) โดยชลมารคเสด็จไปประพาสถึงตำบลสามร้อยยอด และตั้งพระตำหนักแถบฝั่งพระมหาสมุทร จึงเสด็จลงพระสุพรรณวิมานนาวาอันอลงกตรจนาธิการประดับ สรรพด้วยเครื่องพิชัยศัสตราวุธมหิมา และเรือท้าวพระยาเสนาบดีพิธิโยธาทหารโดยเสด็จแห่ห้อมล้อมดาดาษในท้องมหาอรรณพสาคร พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็เสด็จออกไปประพาสภิรมย์ชมฝูงมัสยากร อันมีนานาพรรณในกลางสมุทร ก็ทรงเบ็ดทองได้ฉลามขึ้นมายังพระตำหนักพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จออกไปประพาสในกลางมหาสมุทรดังนั้นได้ ๑๔ วันวาน…”
ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม (ราว พ.ศ. ๒๑๔๖) มีหนังสือจากเมืองตะนาวศรีแจ้งไปกรุงศรีอยุธยาว่ากองทัพมอญและพม่ายกมาล้อมเมืองขอพระราชทานกองทัพไปช่วย พระเจ้าทรงธรรมตรัสให้พระยาพิชัยสงครามเป็นแม่ทัพยกออกไป พอถึงด่านสิงขรก็ได้รับใบบอกจากนายทัพนายกองว่าเมืองตะนาวศรีเสียแก่พม่าแล้ว
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ (ราว พ.ศ. ๒๒๔๖) เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีและทรงดำเนินตามรอยพระบาทสมเด็จพระนเรศวร คือประทับแรมที่ตำบลโตนดหลวง และเสด็จเลยลงไปถึงสามร้อยยอดเพื่อทรงเบ็ดฉลาม
ในสมัยสมเด็จพระบรมโกศ (ราว พ.ศ. ๒๒๙๐) เจ้าเมืองกุยมีหนังสือทูลว่ามีทองคำที่บางสะพานพร้อมทั้งส่งทองเข้าถวายด้วย ๓ ตำลึง จึงทรงเกณฑ์ไพร่ออกไป ๒,๐๐๐ คน ไปร่อนทองใช้เวลา ๕ ปี ได้ทอง ๙๐ ชั่งเศษ
ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (ราว พ.ศ. ๒๓๐๕) พระเจ้าอังวะยกทัพมาตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี ทรงให้พระยายมราชเป็นทัพหน้า ทหาร ๓,๐๐๐ พระยาธารมาเป็นแม่ทัพ ทหาร ๒๐๐๐ และทหารหัวเมืองเพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ธนบุรี และนนทบุรี ยกออกไปแต่พอถึงด่านสิงขรก็ทราบว่าเสียเมืองมะริด ตะนาวศรีแล้ว พระยายมราชจึงตั้งทัพอยู่ที่แกงตุ่ม ถูกพม่าตีแตกกลับเข้ามาถึงกุย ปราณ และถึงเพชรบุรี
ราว พ.ศ. ๒๓๐๗ กองทัพมาซึ่งมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ยกตีเรื่อยเข้ามาทางทวาย ระนอง ชุมพร คลองวาฬ กุย ปราณ จนถึงเพชรบุรี แต่ที่เพชรบุรีนี้ทัพพระยาพิพัฒโกษากับทัพของ พระยาตากยกมาจากกรุงศรีอยุธยาทัพรักษาเมืองไว้ได้ พม่ายกถอยไปทางด่านสิงขร
สมัยกรุงธนบุรี
พ.ศ. ๒๓๑๗ ทางพม่าได้ยกทัพเข้ามาอีกโดยยกเข้ามาทางปากแพรก ตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลบางแก้ว กองหนึ่งคอยปล้นผู้คนแถวเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และนครไชยศรี อีกกองหนึ่งยกเข้าปล้นเมืองราชบุรี สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ขณะนั้นมีใบบอกเข้ามายังกรุงธนบุรีว่า กองทหารที่เข้ามาทางเมืองมะริดได้เข้าปล้นค่ายทับสะแก เมืองกำเนิดนพคุณ จึงโปรดให้แจ้งแก่เจ้าเมืองกุยบุรี เมืองปราณบุรี ให้ทำลายบ่อน้ำ หนองน้ำตามรายทางที่คิดว่ากองทัพพม่า จะยกมายังเมืองเพชรบุรีให้หมดสิ้น โดยให้เอาของสกปรกหรือยาพิษใส่ลงไปอย่าปล่อยให้เป็นกำลังแก่ฝ่ายข้าศึกได้
สมัยกรุงธนบุรีเป็นช่วงการปกครองที่สั้นมาก ดังนั้นการเดินทางของกองทัพที่ผ่านไปมาในเส้นทางดินแดนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จึงไม่มีเรื่องราวปรากฏมากนัก และเมืองนารังก็เลิกร้างไป
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในปี พ.ศ. ๒๓๓๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ เสด็จยกทัพไปตีเมืองเมาะตะมะ เมืองร่างกุ้งและถ้าตีได้ก็ให้เลยไปถึงเมืองอังวะเลยทีเดียว สมเด็จกรมพระราชวังบวรเสด็จทางด่านสิงขรไปตั้งต่อเรือรบอยู่ฝั่งทะเลตะวันตก
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “เมืองบางนางรม” ที่ปากคลองบางนางรม (บางฉบับเขียนบางนางรมย์) แต่ที่ดินไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกจึงย้ายที่ว่าการเมืองไปตั้งที่เมืองกุย ซึ่งมีบ้านเรือนหนาแน่นกว่า พื้นที่อุดมสมบูรณ์กว่าและเป็นเมืองเก่าแก่แต่คงใช้ชื่อเมืองบางนางรมตามเดิม สถานที่ตั้งบ้านเจ้าเมืองคือบ้านจวนบนจวนล่างในปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ความพอสรุปได้ว่าด่านสิงขรเป็นเมืองหน้าด่านที่ใช้ส่งข่าวระหว่างประเทศพม่าและประเทศไทยโดยแขวนทิ้งไว้ตามต้นไม้ที่ปลายด่าน เพราะทั้งสองฝ่ายมีกองลาดตระเวนคอยตรวจตรา
การกำหนดหัวเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น เรียกว่าเมืองเอก เมืองโท เมืองจัตวา หัวเมืองเอก โท ตรี มีเมืองขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง แต่หัวเมืองจัตวาไม่มีเมืองขึ้น คาดว่าแรกๆ เมืองกุย เมืองปราณ เมืองคลองวาฬ คงอยู่ในขั้นเมืองจัตวาหรือเป็นเมืองขึ้นของเพชรบุรีเท่านั้น ส่วนการตั้งเมืองบางนางรมนั้นเข้าข่ายเมืองจัตวา
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ (๒๓๖๗–๒๓๙๔) ไม่มีหลักฐานบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวกับทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๙๔–๒๔๑๑) โปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองบางนางรม กุยบุรี เมืองคลองวาฬเป็นเมืองตั้งขึ้นใหม่ชื่อ "เมืองประจวบคีรีขันธ์” (ประกาศใน พ.ศ. ๒๓๙๘) แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกไว้ว่า “เมืองขึ้นกลาโหม เมืองคลองวาฬ แก้เป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองท่าทองแก้เป็นเมืองกาญจนดิตถ์ รวม ๒ เมือง”
เมืองประจวบคีรีขันธ์ ผู้ว่าราชการเมืองตั้งใหม่ พระพิไชยชลสินธุ์ เมืองกำเนินนพคุณ พระกำเนินนพคุณผู้ว่าราชการเมือง แปลงว่า พระมหาสิงคคุณอดุลยสุพรรภูมารักษ์
พ.ศ. ๒๔๐๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณได้ว่า จะมีสุริยุปราคาหมดดวงและจะเห็นได้ในเมืองไทยที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๑๑ จึงทรงให้จัดเตรียมสถานที่โดยสร้างเป็นค่ายหลวงขึ้น แล้วพระองค์ก็เสด็จมาประทับทอดพระเนตรเป็นที่เอิกเกริก หัวเมืองที่กล่าวถึงในเอกสารหลักฐานสมัยนั้นมีเพียงปราณบุรีและประจวบคีรีขันธ์เท่านั้น
ในรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงจัดการปกครองท้องที่เป็นมณฑลเทศาภิบาล โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเมืองประจวบคีรีขันธ์ลงเป็นอำเภอขึ้นอยู่กับเมืองเพชรบุรี ใน พ.ศ. ๒๔๓๗ ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าเป็นเมืองเล็ก แต่ยังตั้งที่ว่าการอยู่ที่เมืองกุย พ.ศ. ๒๔๔๑ โปรดให้ย้ายที่ว่าการอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์จากเมืองกุยมาตั้งที่อ่าวเกาะหลักด้วยเป็นที่เหมาะสมกว่า และโอนจากกระทรวงกลาโหมไปขึ้นกับมหาดไทย แต่พอถึง พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองปราณบุรี ซึ่งขึ้นกับเมืองเพชรบุรี อำเภอกำเนิดนพคุณซึ่งขึ้นกับชุมพร ตั้งขึ้นเป็นเมืองปราณบุรีเพื่อรักษาชื่อ “เมืองปราณบุรี” ไว้ ด้วยทรงมีพระราชดำริว่าเมืองปราณบุรีเป็นเมืองเก่าควรสงวนชื่อไว้ทรงพระราชทานนามเมืองที่ตั้งใหม่ว่า เมืองปราณบุรี มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับมณฑลราชบุรี ส่วนเมืองปราณเดิมก็ยังคงอยู่ที่ปากคลองปราณ (บ้านปากน้ำปราณปัจจุบัน)
ในรัชกาลที่ ๖ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงมีพระราชดำริว่าเมืองโบราณมีชื่อไม่ตรงกับชื่อสถานที่ตั้งเมือง เช่น เมืองปราณบุรีที่ตั้งอยู่เกาะหลัก กับเมืองปราณที่ตั้งอยู่ริมคลองปราณ (เมืองปราณย้ายจากปากน้ำปราณมาอยู่ที่ริมคลองใกล้ทางรถไฟในปี พ.ศ. ๒๔๕๙) นานไปจะเกิดการสับสนทางประวัติศาสตร์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองปราณบุรี (ที่เกาะหลัก) เป็น “เมืองประจวบคีรีขันธ์” และใช้ชื่อนี้มาจนกระทั่งทุกวันนี้
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ประจวบคีรีขันธ์ : ๒๕๒๘.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น