วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประวัติศาสตร์จังหวัดสิงห์บุรี

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

ประวัติของไทยนั้นเก่าแก่มาก จดหมายเหตุจีนเมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีก่อนพุทธกาลกล่าวถึงภูมิลำเนาเดิมของไทยว่าอยู่ในลุ่มน้ำตอนกลางของแม่น้ำเหลือง ซึ่งอยู่ในท้องที่มณฑลฮูเป และ      โฮนานในบัดนี้ ในสมัยเดียวกันนั้น จีนก็ได้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามที่ราบสูง ในลุ่มน้ำเหลืองตอนบน คือ มณฑลกังซูในบัดนี้ ซึ่งเห็นจะเป็นเพราะถูกพวกต้นตระกูลตาดรุกราน จึงได้ร่นลงมาและปะทะกับไทยเข้า ไทยมีจำนวนน้อยจำต้องร่นลงมาทางใต้หลายทิศหลายทาง
พวกไทยส่วนมากร่นลงมาตามแม่น้ำแยงซีเข้าไปในยูนนาน ต่อสู้ชนะพวกพื้นเมืองเดิมและได้ตั้งอาณาจักรน่านเจ้า โดยมีตาลีฟูเป็นเมืองหลวง ต่อมาเมืองหลวงก็ได้ย้ายไปตั้งอยู่ ปูเออฟู อาณาจักรน่านเจ้าครอบครองท้องที่มณฑลยูนนานปัจจุบัน พม่าเหนือและภาคเหนือของสิบสองปันนาประวัติของไทยในสมัยที่กล่าวนี้ รุ่งเรืองที่สุดและอำนาจอยู่อย่างนี้ ๔ ศตวรรษ
อย่างไรก็ดี เมื่อจีนรุกรานหนักเข้า ไทยก็จำต้องอพยพร่นลงมาอีก และกว่าจะต่อสู้เอา  ชัยชนะขอมเจ้าของถิ่นเดิมได้ ก็เป็นเวลาตั้งหลายศตวรรษ แล้วจึงได้ตั้งอาณาจักรใหม่ ณ เชียงแสน บนฝั่งแม่น้ำโขง อาณาจักรใหม่นี้มีประวัติรุ่งเรืองเหมือนอาณาจักรเดิมต่อมานั้นได้ย้ายจากเชียงแสนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ และตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่ที่ลุ่มแม่น้ำสาลวิน มีภุกามเป็นเมืองหลวง แต่อาณาจักรนี้ไม่ยั่งยืนเพราะอยู่ใกล้ขอมมาก จึงถูกขอมขับกลับไปเลยไปสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงใหม่ขึ้นที่   แม่น้ำปิง
การอพยพลงมาทางใต้ยังคงดำเนินไปอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเรียกกันว่าดินแดนแหลมทองหรือสุวรรณภูมิ อันเป็นที่ตั้งประเทศไทยปัจจุบันนี้ ได้มีชนชาติอื่นอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่พวกละว้า ซึ่งได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ ๓ แคว้นด้วยกัน คือ
. แคว้นโยนก อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย คือ ดินแดนที่เป็นมณฑลพายัพ และลานนาไทยปัจจุบัน มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองเชลียง (สวรรคโลก) ขึ้นไปจนตลอดหัวเมืองลานนา และลานช้าง ได้ตั้งราชธานี อยู่ที่เมืองเงินยาง (เชียงแสน)
. แคว้นทวารวาดี อยู่ตรงตอนกลางของประเทศไทย คือ ดินแดนบริเวณจังหวัดนครปฐม อยุธยา พิษณุโลก นครสวรรค์ ปราจีนบุรี รวมทั้งแหลมมลายู ตั้งราชธานีอยู่ที่นครปฐม
. แคว้นโคตรบูร อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยปัจจุบัน มีราชธานีอยู่ที่สกลนคร
สำหรับแคว้นทวารวดีนั้น ต่อมาได้ถูกพวกมอญขยายอาณาเขตเข้ามาทางแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าครอบครองกลายเป็นอาณาจักรหนึ่งของชนชาติมอญ สันนิษฐานว่า พวกมอญคงจะได้ตั้งอาณาจักรนี้ขึ้น เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ และสิ้นสุดลงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ เนื่องจากอำนาจของขอมได้แผ่เข้ามายังภาคกลางของประเทศไทย อาณาจักรทวารวดี ก็เปลี่ยนมาเป็นอาณาจักรของขอม ซึ่งเรียกเป็นเฉพาะว่าอาณาจักรลพบุรี
สมัยทวารวดีนั้น มีศูนย์กลางอาณาจักรอยู่ที่นครปฐม ได้มีการขุดค้นพบหลักฐานต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบทวารวดีอย่างชัดเจน และได้มีการขุดค้นพบโบราณสถาน และหลักฐานต่าง ๆ สมัยทวารวดี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยด้วยเช่นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ และนครราชสีมา และทางภาคกลางของประเทศไทยเช่นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และบ้านโคกไม้เดน อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และที่บ้านคูเมือง อ.อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยเฉพาะที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ได้ค้นพบเหรียญเงินมีตัวอักษร ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จารึก มีข้อความว่า ศรีทวารวดีศวรปุณยะซึ่งแปลว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรี-ทวารวดีอันเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่สนับสนุนคำว่า ทวารวดีมีจริงมิใช่เป็นการอ้างเลื่อนลอยโดยพบเหรียญที่มีข้อความดังกล่าวอีกหลายเหรียญ ณ ที่อื่น ๆ ก่อนหน้านี้แล้วจากการขุดค้นพบเมืองโบราณที่บ้านคูเมือง อ.อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ทำให้ทราบว่าเมืองดังกล่าวได้สร้างขึ้นมา มีความเก่าแก่สมัยทวารวดีตอนต้นและตอนปลาย เรื่อยมาถึงอาณาจักรละโว้ ลักษณะรูปเมืองก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะของเมืองสมัยทวารวดีเป็นอย่างดีแสดงให้เห็นว่าจังหวัดสิงห์บุรีมีชุมชนมาตั้งหลักปักฐานอยู่นานแล้ว ภายหลังกลายเป็นเมืองร้างด้วยสาเหตุใดไม่ปรากฏ สันนิษฐานกันว่า เนื่องมาจากเกิดโรคห่า

นิยามปรัมปราเกี่ยวกับการสร้างเมืองสิงห์บุรี
ว่ากันว่าพระเจ้าสิงหพาหุเป็นผู้สร้าง นามนี้ดูไปพ้องกับสีหพาหุกุมารในพงศาวดารลังกาที่กล่าวไว้ในหนังสือมหาวงศ์ว่า ในสมัยเมื่อร่วมพุทธกาล มีกษัตริย์ชาวอริยพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้าวังคราช ครองวังคนคร เป็นราชธานีอยู่ทางข้างเหนือเมืองกลิงคราษฎร์ได้ราชธิดาพระเจ้ากลิงค-ราษฎร์เป็นอัครมเหสี มีราชธิดานามว่านางสุปา นางสุปาถูกขับไล่จากเมืองไปเพราะมากด้วยกามกิเลส จึงเที่ยวซัดเซพเนจรไปในที่ต่าง ๆ ไปได้พระยาราชสีห์เป็นสามี มีบุตรชื่อสีหพาหุ เพราะมีกำลังวังชามาก เมื่อเติมใหญ่จึงพานางผู้เป็นมารดาหนีพระราชสีห์ กลับมาอยู่กับมนุษย์ฝ่ายข้างพระยาราชสีห์มีความอาลัยอยู่จึงออกติดตามเที่ยวขบกัดชาวเมืองวังคนครล้มตายลงเป็นอันมาก พระเจ้าวังคราชต้องประกาศปาวร้องหาผู้ที่จะรับอาสาฆ่าพระยาราชสีห์นั้น สีหพาหุกุมารจึงอาสาฆ่าพระยาราชสีห์นั้นตาย เพราะเหตุนี้จึงปรากฏนามต่อมาว่าสีหฬกุมาร หมายความว่า กุมารผู้ฆ่าราชสีห์ ต่อมาเมื่อพระเจ้า    วังคราชสิ้นพระชนม์ไม่มีเชื้อพระวงศ์ ชาววังคนคร เห็นสีหฬกุมารมีอานุภาพมาก จึงพร้อมใจกันถวายราชสมบัติแก่สีหฬกุมาร สีหฬกุมารรับราชสมบัติแล้ว ไม่ปรารถนาจะอยู่ในวังคนครนั้น จึงได้มอบเมืองให้แก่อำมาตย์ ผู้เป็นสามีใหม่ของมารดา ส่วนตัวออกไปตั้งราชธานีใหม่ใช้ชื่อว่า สีหบุรีแล้วเสวยราชอยู่ ณ เมืองนั้น มีราชบุตรถึง ๓๐ องค์ องค์ใหญ่ทรงพระนามว่า วิชัยราชกุมาร (เรื่องนี้ได้มาจากเรื่องประดิษฐาน พระสงฆ์สยามวงศ์ในลงกาทวีปของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) เมื่อสังเกตุตามนี้ เรื่องนี้อาจเป็นต้นเค้าของนิยายเกี่ยวกับสร้างพระพุทธไสยาสน์วัดนี้ก็ได้ เพราะนามผู้สร้างนี้ก็มีนามเดียวกันคือ ชื่อสีหพาหุ และก็ได้ฆ่าพ่อ คือ พระยาราชสีห์เหมือนกัน แต่ต่างกรรมต่างวาระกัน เรื่องของเราฆ่าพ่อเพราะรังเกียจเป็นสัตว์ ส่วนเรื่องนี้ที่ฆ่าเพราะรับอาสาฆ่าที่พ่อไปขบกัดคนตาย และชื่อเมืองที่ออกไปตั้งใหม่ที่ชื่อสีหบุรี เหมือนกับเมืองสิงห์บุรี เพราะคำว่าสีหกับสิงหก็เป็นคำเดียวกัน สีหเป็นบาลี สิงหเป็นสันสกฤต สีห แปลว่า ราชสีห์เหมือนกัน และพระพุทธไสยาสน์นี้ก็ตั้งอยู่ในจังหวัดสิงห์บุรีด้วย แต่ในเรื่องมหาวงศ์พงศาวดารลังกา มิได้กล่าวไว้ว่าพระเจ้าสีหพาหุเมื่อฆ่าพระยาราชสีห์ผู้เป็นพ่อแล้ว ได้สร้างอนุสาวรีย์อะไรเป็นหลักฐานเพื่อล้างบาปบ้าง ส่วนเรื่องของเราคงมากล่าวเสริมต่อขึ้นก็ได้หรืออาจได้สร้างจริง แต่มิได้อยู่ในลังกา แต่มาอยู่ในสิงห์บุรีเสียเรื่องจึงไม่ปรากฏในมหาวงศ์ แต่มาปรากฏทางของเรา
จากตำนานอีกเรื่องกล่าวว่า สิงห์บุรีเป็นเมืองเก่าก่อนสมัยสุโขทัย ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ทางลำน้ำแม่น้ำจักรสีห์ ในท้องที่ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี ในปัจจุบันบริเวณใกล้วัดหน้าพระธาตุมีเมืองเก่าเรียกว่า บ้านหน้าพระลานปรากฏอยู่ สันนิษฐานว่า พระเจ้าไกรสรราช โอรสพระเจ้าพรหม (พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก) ครองเมืองชัยปราการ (ฝาง) โปรดให้สร้างขึ้นราว พ.. ๑๖๕๐ ครั้งเสด็จพาไพร่พลมาครองเมืองลพบุรีตามรับสั่งพระราชบิดา ซึ่งเข้าใจว่า คงจะมาพักขึ้นบก ณ ที่ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสิงห์เดิมนี้ เพื่อเดินทางไปลงเรือที่วัดปากน้ำ แม่น้ำลพบุรี เพราะสมัยนั้นลำแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าอำเภอเมืองสิงห์บุรี และคลองบางพุทรายังไม่มี เมื่อเกิดแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นใหม่ทางหน้าจังหวัดสิงห์บุรีบัดนี้ จึงได้ย้ายเมืองไปตั้งทางแม่น้ำน้อย ตำบลโพสังโฆ ใต้วัดสิงห์ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอค่ายบางระจัน)  ลงมา ครั้ง พ.. ๒๓๑๐ เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า เห็นกันว่าแม่น้ำใหม่เป็นทางคมนาคมสำคัญ จึงย้ายเมืองสิงห์บุรีมาตั้งทางแม่น้ำเจ้าพระยา ริมปากคลองนกกระทุ่ง ฝั่งใต้ที่ปากบางต้นโพธิ์ ตำบลบางมอญ (ปัจจุบันคือ ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี) การย้ายครั้งนี้น่าจะเป็นสมัยเดียวกับตั้งเมืองอ่างทองในสมัยกรุงธนบุรี ภายหลังจึงย้ายไปตั้งที่ตำบลบางพุทรา อำเภอเมืองสิงห์บุรี ปัจจุบัน ประมาณ พ.. ๒๔๓๙-๒๔๔๐

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในขณะที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้น มีชนชาวไทยหลายพวกด้วยกันอพยพมาอยู่ในดินแดนตอนใต้ของคาบสมุทรอินโดจีน พวกที่มีกำลังเข้มแข็งก็ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้น พวกที่อ่อนแอไม่สามารถรวบรวมกันเป็นปึกแผ่นได้ก็เข้ามาอยู่ในความปกครองของชนเหล่าอื่น ระหว่างระยะเวลานี้ มีเจ้านายไทยองค์หนึ่ง ปรากฎพระนามตามที่เรียกกันเป็นสามัญว่า พระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเป็นเชื้อสายของราชวงศ์ไชยปราการ สามารถตั้งตนเป็นใหญ่ในบริเวณภาคกลาง แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตั้งราชธานีขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.. ๑๘๙๓ ที่หนองโสน หรือบึงพระราม เพราะเห็นว่าอยู่ในทำเลที่เหมาะสมเป็นราชธานี ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์และการเมือง มีลำน้ำล้อมอยู่เป็นคูเมือง ได้แก่ลำน้ำป่าสัก ลำน้ำลพบุรี ลำน้ำเจ้าพระยา ลักษณะชัยภูมิดังกล่าวนี้มีความสำคัญยิ่งทางยุทธวิธีทำให้ปลอดภัยจากศัตรูผู้รุกราน สะดวกในการป้องกันเมืองและเหมาะสำหรับเป็นที่ตั้งมั่นรับข้าศึก เมื่อถึงฤดูน้ำหลากบริเวณนอกพระนครจะเจิ่งไปด้วยน้ำ ข้าศึกไม่สามารถจะตั้งทัพได้สะดวกต้องล่าถอยกลับไป
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วทรงตั้งพระราชโอรส (คือพระราเมศวร) ไปครองเมืองลพบุรีในฐานะเป็นเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญทางหนือ ในการที่จะคอยสดับตรับฟังข่าวคราวของอาณาจักรสุโขทัย และทรงตั้งขุนหลวงพะงั่ว (พี่มเหสี) เป็นพระบรมราชาให้ไปครองเมืองสุพรรณบุรี เมืองหน้าด่านทิศตะวันตก พระบรมราชาได้ยกกองทัพไปตีเมืองชัยนาท เป็นการขู่ขวัญฝ่ายสุโขทัยไว้ก่อน เหตุการณ์ช่วงนี้ แสดงให้เห็นว่าเมืองอินทร์ เมืองสิงห์บุรี เมืองพรหม ในสมัยนั้นอยู่ในความปกครองของกรุงศรีอยุธยาแล้ว
ในปี พ.. ๑๘๙๕ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้เสด็จยกทัพไปล้อมเมืองพระนครหลวง (นครธม) และได้ยึดเมืองพระนครหลวงได้ใน พ.. ๑๘๙๖ ทำให้พระเดชานุภาพแพร่หลายทั่วไปเป็นผลให้เมืองต่าง ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์เป็นเมืองขึ้นอีกเป็นส่วนมาก มีเมืองประเทศราช ๒๐ เมือง เมือง     พระยามหานครถือน้ำพิพัฒสัตยา ๘ เมือง เมืองลูกหลวง ๕  เมือง เมืองหลานหลวง ๒ เมือง
สมเด็จพระรามาธิบดี ๑ ทรงจัดการปกครองส่วนภูมิภาคตามแนวของกรุงสุโขทัย คือจัดเสมือนการจัดกองทัพเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีอยู่กลาง เวลามีสงครามก็ระดมพลเมืองเข้าเป็นทัพหลวง มีกษัตริย์ผู้เป็นประมุขเป็นแม่ทัพใหญ่ และทรงจัดหัวเมืองหน้าด่านตามทิศ  ทั้ง ๔ เป็นทัพหน้าทัพหลัง ปีกซ้ายและปีกขวา มีระยะทางเดินทัพติดต่อกับราชธานี ซึ่งเป็นทัพหลวงได้ภายในระยะเวลา ๒ วัน ดังปรากฏดังต่อไปนี้ คือ

) การปกครองหัวเมืองชั้นใน

    . ทิศเหนือ             มีเมืองลพบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน
     ๒. ทิศตะวันออก       มีเมืองนครนายกเป็นเมืองหน้าด่าน
     ๓. ทิศใต้                มีเมืองพระประแดงเป็นเมืองหน้าด่าน
     ๔. ทิศตะวันออก       มีเมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน
เมืองรอบราชธานีทั้ง ๔ เมืองนี้ มีความสำคัญในการสงครามมาก จึงทรงพิจารณาตั้งราชโอรสเป็นเจ้าเมืองปกครอง จึงเรียกอีกนัยหนึ่งว่า เมืองลูกหลวง

นอกจากนี้ ยังมีหัวเมืองชั้นในเป็นรายทางออกไปทั้ง ทิศ  มีดังนี้ คือ

ทิศเหนือ           เมืองพรหม เมืองอินทร์ เมืองสิงห์ เมืองสรรค์
ทิศตะวันออก      เมืองปราจีนบุรี เมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี
ทิศตะวันตก        เมืองราชบุรี
) การปกครองหัวเมืองชั้นนอก
การจัดการปกครองหัวเมือง ซึ่งไกลจากราชธานีออกไปมาก ทรงแต่งตั้งข้าราชการ    ผู้ใหญ่ให้ออกไปเป็นเจ้าเมือง เรียกว่า เมืองพระยามหานคร มีหน้าที่จัดสรรระดมกำลังชายฉกรรจ์เป็นกองทัพมาสมทบกองทัพใหญ่ ได้แก่หัวเมืองเหล่านี้ คือ
ทิศตะวันออก   มีเมืองโครามปุระ (ภายหลังเรียกว่าเมืองนครราชสีมา เมืองนี้แต่เดิมมีเมืองอยู่ ๒ เมือง คือ เมืองโครามปุระเมืองหนึ่ง และเมืองสีมาอีกเมืองหนึ่ง ภายหลังได้สร้างเมืองขึ้นใหม่โดยรวมเมืองทั้งสองให้เป็นเมืองเดียวกัน และขนานนามว่า เมืองนครราชสีมา แต่สามัญชนยังคงเรียกกันชื่อเดิม ซึ่งเพี้ยนไปบ้างว่าโคราช) และเมืองจันทบุรี
ทิศใต้           มีเมืองชัยยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา และ   เมืองถาง
ทิศตะวันตก    มีเมืองตะนาวศรี เมืองทะวาย เมืองเชียงกรานต์
ภายในเขตเมืองหนึ่ง ๆ  แบ่งออกเป็นแขวง มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครองในแขวงหนึ่ง ๆ แบ่งออกเป็นตำบล มีกำนันเป็นผู้ปกครอง กำนันมักจะได้บรรดาศักดิ์เป็น พันในตำบลหนึ่งแบ่งเป็น บ้านมี ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครอง ซึ่งหัวหน้าปกครองหน่วยเหล่านี้เจ้าเมืองเป็นผู้แต่งตั้ง การแบ่งเขตปกครองท้องที่เป็นแขวง ตำบล และบ้าน เช่นนี้ เป็นแนวที่ในการต่อมาได้เปลี่ยนเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านตามลำดับ
สำหรับการปกครองภายในราชธานีนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้เริ่มนำการ       ปกครองแบบจตุสดมภ์มาใช้ กล่าวคือ การดำเนินการปกครองภายในราชธานี ได้ดำเนินตามแบบสุโขทัยและเขมรผสมกันมาเป็นแบบที่เรียกว่า จตุสดมภ์คือ จัดหน่วยงานแบ่งออกเป็น ๔ หน่วยแต่ละหน่วยมีเสนาบดีเป็นผู้ควบคุมดูแลบริหารราชการ ลักษณะการจัดระเบียบเป็น ๔ แผนกนั้นสันนิษฐานว่าจะเป็นแบบที่นำมาจากอินเดีย เพราะประเทศอื่น ๆ เช่น พม่า เขมร ชวา มลายู ต่างมีระเบียบ การแบ่งหน่วยราชการเป็น ๔ แผนกเช่นกัน  ส่วนของไทยได้รับสืบทอดมาจากเขมรอีกต่อหนึ่ง หน่วยงานทั้ง ๔ แผนกคือ
. กรมเมือง มีขุนเมืองเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองรักษาสันติสุขบังคับบัญชาบรรดาไพร่บ้านพลเมือง ซึ่งมีถิ่นฐานภูมิลำเนาอยู่ในเขตเมืองหลวง รวมทั้งมีหน้าที่ลงโทษ ผู้กระทำผิดทางอาญาในเขตเมืองหลวงด้วย
. กรมวัง มีขุนวังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ที่เกี่ยวกับราชสำนัก และพิพากษาคดีด้วยและสำหรับหัวเมืองต่าง ๆ ขุนวังมีอำนาจตั้งยกกระบัตรไปประจำตามเมือง ๆ ละคน ทำหน้าที่พิพากษาคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองนั้น ๆ ด้วย
. กรมคลัง มีขุนคลังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่จ่าย และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ตลอดจนการเงินของประเทศ
. กรมนา มีขุนนางเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาและออกสิทธิที่นาซึ่งถือว่าเป็นงานสำคัญอย่างยิ่ง หน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือ การเก็บ หางข้าวขึ้นฉางหลวง (เพราะในสมัยโบราณยังไม่มีการเก็บเงินค่านา ใครทำนาได้ข้าวต้องแบ่งเอามาส่งขึ้นฉางหลวงไว้สำหรับใช้ในราชการเรียกว่า หางข้าว”)
จากหลักฐานการจัดการปกครองของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ที่ทรงจัดให้ เมืองพรหม เมืองอินทร์ เมืองสิงห์ เมืองสรรค์ เป็นหัวเมืองขึ้นในหน้าด่าน รายทางสำหรับทางทิศเหนือ โดยมีเมืองลพบุรีเป็นเมืองหน้าด่านหลักนั้น แสดงให้เห็นว่า เมืองพรหม เมืองอินทร์ เมืองสิงห์ ได้มีอยู่แล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยถูกจัดให้เป็นหัวเมืองชั้นใน ก่อนหน้านั้นเมืองดังกล่าวทั้งสามนี้ อาจอยู่ในความ     ปกครองของอาณาจักรสุโขทัยก็ได้ เพราะในช่วงที่อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองนั้น ได้มีอำนาจอิทธิพลแผ่ขยายครอบงำในบริเวณภาคกลางและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า เมืองทั้งสามนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยใน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ ก็ไม่มีพอที่จะให้ค้นคว้าได้ ชาวไทยมักจะรู้จักประวัติศาสตร์ของคนดีก็ในยุคของอาณาจักรสุโขทัยสมัยราชวงศ์พระร่วงเป็นต้นมา
การปกครองกรุงศรีอยุธยามาแก้ไขมาก เมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหตุด้วยเมื่อรัชกาลก่อน ได้อาณาเขตกรุงสุโขทัย ซึ่งได้ลดศักดิ์ลงเป็นประเทศราชอยู่นั้น มาเป็นเมืองขึ้น กรุงศรีอยุธยา และตีได้เมืองนครธม (พระนครหลวง) ซึ่งเป็นราชธานีของประเทศขอม เมื่อปีฉลู พ.. ๑๙๗๖ ในสมัยนั้นได้ข้าราชการเมืองสุโขทัยและชาวกรุงกัมพูชา ทั้งพวกพราหมณ์ พวกเจ้านายท้าวพระยา ซึ่งชำนาญการปกครองมาไว้ในกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก ได้ความรู้ขนบธรรมเนียมราชการงานเมืองทั้งทางกรุงสุโขทัยและกรุงกัมพูชาถ้วนถี่ดีกว่าที่เคยรู้มาแต่ก่อน จึงเป็นเหตุให้แก้ไขประเพณีการปกครอง เลือกทั้งแบบแผนในกรุงสุโขทัยและแบบแผนขอมในกรุงกัมพูชา มาปรับปรุงเป็นวิธีการปกครองกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ ซึ่งเป็นราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ วิธีปกครองที่ปรับปรุงขึ้นเมื่อระหว่าง พ.. ๑๙๙๑ จนถึง พ.. ๒๐๗๒ ใน ๒ รัชกาลที่กล่าวมาจึงได้เป็นหลัก ของวิธีปกครองประเทศสยามสืบมา ถึงแก้ไขบ้างในบางสมัยก็เป็นแต่แก้พลความตัวหลัก วิธียังคงอยู่จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้
การปกครองตามแบบพระบรมไตรโลกนาถนั้น ทรงจัดการปกครองในลักษณะแบบการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง หลักใหญ่คือ แบ่งการปกครองออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ส่วนกลาง ส่วน      ภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ การปกครองส่วนกลางได้แยกฝ่ายทหารกับพลเรือนออกจากกัน ฝ่ายทหารก็ให้มีหัวหน้าคนหนึ่ง คอยควบคุมดูแล มีบรรดาศักดิ์ เป็นสมุหกลาโหมดูแลราชการเกี่ยวกับการทหารทั้งหมด ฝ่ายพลเรือนก็มีสมุหนายกเป็นหัวหน้า และมีตำแหน่งรองลงไปคือจตุสดมภ์ และได้เปลี่ยนชื่อกรมเมือง เป็นนครบาล กรมวัง เป็นธรรมาธิการ กรมคลัง เป็นโกษาธิบดีและกรมนา เป็นเกษตราธิราช สำหรับการปกครองส่วนภูมิภาคให้เป็นแบบเดียวกันกับราชธานี โดยให้แต่ละเมืองใช้วิธีการปกครอง ฝ่ายพลเรือน คือ มีจตุสดมภ์ มีเวียง วัง คลัง นา ตามหัวเมืองนั้น ๆ ด้วย ได้กำหนดให้หัวเมืองชั้นในคือ บรรดาเมืองที่อยู่ใกล้ในวงราชธานีเป็นเมืองจัตวา หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่หัวเมืองซึ่งอยู่นอกเขตวงราชธานีออกไป กำหนดฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี โดยลำดับกันตามขนาดและความสำคัญของเมือง  ส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่น มีการแบ่งอาณาเขตการปกครองท้องที่ออกเป็นหน่วย ๆ เริ่มต้น หมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านซึ่งผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นเป็นหัวหน้าปกครองหลายหมู่บ้านรวมตัวกันเป็น ตำบลกำนัน ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์ พัน เป็นหัวหน้าปกครองหลาย ๆ ตำบลรวมกันเป็น แขวงมีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครองหลาย ๆ แขวงรวมกันเป็นเมือง มีผู้รั้งเมืองหรือเจ้าเมืองเป็นผู้ ปกครอง
ในยุคสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองสิงห์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหัวเมืองชั้นในก็ได้มีการปรับการปกครองให้เป็นไปตามรูปแบบที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถวางไว้ด้วย นั่นคือ ได้มีสภาพฐานะเป็นหัวเมืองจัตวา ผู้ว่าราชการเมืองเรียกว่า ผู้รั้งไม่เรียก เจ้าเมือง เพราะไม่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างเจ้าเมือง ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้ากระทรวงในราชธานีพระมหากษัตริย์มักจะทรงแต่งตั้งขุนนางในกรุงศรีอยุธยาออกไปทำหน้าที่ดังกล่าว จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของราชธานีอย่างใกล้ชิด
ประวัติของนายอินทร์ เมืองพรหม เมืองสิงห์ ในสมัยอยุธยานั้น มีเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกสงครามน้อยมาก สามารถกล่าวได้ว่าเป็นเมืองที่มีแต่ความสงบสุขสงครามที่เกิดขึ้น แทบจะทั้งหมดมีการรบพุ่งกันในที่อื่น โดยเฉพาะสงครามไทยกับพม่านั้น การสงครามจะมีทางภาคพายัพและภาคตะวันตกเป็นส่วนมาก มีการสงครามที่ทำในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี เพียง ๒ ครั้ง เท่านั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ครั้งแรก เมื่อปี พ.. ๒๑๒๗ เป็นระยะที่ไทยประกาศอิสรภาพใหม่ ๆ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ได้ยกกองทัพมาตีไทยหวังให้ยอมอยู่ภายใต้อำนาจพม่าต่อไปอีก เพราะเห็นว่าไทยเสียบ้านเมืองมาก่อนกำลังที่จะต่อสู้ย่อมมีน้อยกว่าแต่ก่อนจึงไม่จำเป็นต้องยกทัพหลวงเข้ามาเหมือนอย่างครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ก็คงจะตีกรุงศรีอยุธยาได้ พอถึงฤดูแล้วปลายปีนั้น จึงให้จัดทัพยกมาเป็น ๒ ทางพร้อมกันประสงค์จะให้ไทยละล้าละลังในการที่จะต่อสู้ในครั้งนั้น ให้เจ้าเมืองพสิมซึ่งเป็นพระเจ้าอาคุมกองทัพจำนวนพล ๓๐,๐๐๐ คนยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทัพ ๑ ให้พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระอนุชายกกองทัพบกทัพเรือจากเชียงใหม่ จำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ คน ลงมาทางเมืองเหนืออีก   ทาง ๆ ให้มาสมทบกันตีกรุงศรีอยุธยา
ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการคอยท่าศึกอยู่แล้ว ให้กองสอดแนมออกไปคอยสืบสวนอยู่ทุกทางที่ข้าศึกจะยกมา ครั้งทรงทราบว่าข้าศึกจะยกมาเป็น ๒ ทางจึงให้ตระเตรียมการต่อสู้ ให้จัดพลอาสาชาวหัวเมืองเหนือเป็นทัพบกทัพ ๆ มีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ คนให้เจ้าพระยาสุโขทัยเป็นนายทัพ แล้วจัดพลอาสาชาวกรุงฯ เป็นกองทัพเรืออีกทัพ ๑ ให้พระยาจักรีเป็น นายทัพพระยาพระคลังเป็นยกกระบัตร และสั่งให้ขนย้ายเสบียงอาหารและพาหนะ ในหนทางที่ข้าศึกจะยกมาเสียให้พ้นมือข้าศึกทั้ง ๒ ทาง แล้วให้ต้อนคนเข้าอยู่ในพระนคร เตรียมรักษาป้อมปราการเป็นสามารถ
กองทัพหงสาวดียกเข้ามาครั้งนี้จะเป็นด้วยคิดโดยเลินเล่อหรือเป็นด้วยเจ้าเมืองพสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่เข้าใจผิดกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกเข้ามาหาพร้อมกันไม่ พอถึงเดือนอ้าย กองทัพเจ้าเมืองพสิมก็ยกเข้ามาในแดนไทยทางเมืองกาญจนบุรีแต่ทัพเดียว สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็เห็นได้ที แต่เวลานั้น น้ำลดยังไม่ถึงที่ น้ำในแม่น้ำลำคลองมีมาก แต่ทางบกแผ่นดินยังเปียก จะเดินกองทัพไม่สะดวก จึงมีรับสั่งให้พระยาจักรียกกองทัพเรือออกไปรักษาเมืองสุพรรณบุรี ต้านทานข้าศึกไว้พลางก่อน กองทัพเจ้าเมืองพสิมยกเข้ามาหมายจะเอาเมืองสุพรรณเป็นที่มั่น ถูกกองทัพเรือพระยาจักรีเอาปืนใหญ่ยิงทนอยู่ไม่ไหวก็ถอยกลับไปตั้งอยู่บนดอนที่เขาพระยาแมน คอยฟังข่าวกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่อยู่ที่นั่น ครั้งถึงเดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จด้วยกระบวนเรือจากกรุงศรีอยุธยา ไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิ ฟันไม้ข่มนามที่ตำบลลุมพลี แล้วเสด็จไปประทับที่ (ตำบล    ป่าโมก) แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ อันเป็นที่ประชุมพล โปรดให้เจ้าพระยาสุโขทัยคุมกองทัพบกเมืองเหนือยกเป็นกองหน้าไปตีกองทัพเจ้าเมืองพสิม ซึ่งตั้งอยู่ที่เขาพระยาแมนแล้วเสด็จยกกองทัพหลวงตามไปตั้งอยู่ที่ตำบลสามขนอนแขวงเมืองสุพรรณบุรี เจ้าพระยาสุโขทัยยกไปถึงเขาพระยาแมนได้รบพุ่งกับกองทัพหน้าของเจ้าเมืองพสิมตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไปฝ่ายเจ้าเมืองพสิมเวลานั้นเข้ามายึดเมืองไม่ได้หมายต้องออกไปตั้งอยู่กลางดอนขัดสนเสบียงอาหาร ฟังข่าวกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็ไม่ได้ความ ทำนองออกจะรวนเรอยู่แล้ว พอรู้ว่ากองทัพหน้าแตกก็ไม่ได้คิดจะต่อสู้  รีบถอยหนีกลับไป เจ้าพระยาสุโขทัยได้ทีก็รีบติดตามตีพม่าไปจนปลายแดนเมืองกาญจนบุรีจับได้ (นายกองชื่อ) ฉางชวีและช้างม้ามาถวายเป็นอันมาก
กองทัพเจ้าเมืองพสิมหนีไปได้สัก ๑๕ วัน กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็ยกลงมาถึงปากน้ำโพ ในเดือนยี่นั้น ด้วยหัวเมืองเหนือเวลานั้นร้างอยู่ทุกเมืองดังกล่าวมาแล้ว ไม่มีผู้ใดต่อสู้ก็ยกลงมาได้ โดยสะดวกทั้งทัพบกทัพเรือ พระเจ้าเชียงใหม่มาตั้งอยู่ที่เมืองชัยนาท ไม่รู้ว่ากองทัพเจ้าเมืองพสิมถอนหนีไปเสียแล้ว จึงให้ไชยะกยอสูและนันทกยอทางยกกองทัพหน้า จำนวนพล ๑๕,๐๐๐ คน ลงมาตั้งที่ปากน้ำบางพุทราแขวงเมืองพรหม ให้มาสืบสวนนัดกำหนดกับเจ้าเมืองพสิมที่จะยกเข้ากรุงศรีอยุธยาให้พร้อมกัน
สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่า กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกลงมาทางข้างเหนือ ก็เสด็จยกกองทัพหลวงไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถตั้งทัพหลวงที่บ้านชะไวแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ แล้วให้พระราชมนูเป็นนายทัพ ขุนรามเดชะเป็นยกกระบัตรคุมกองทัพหน้ามีจำนวนทหารม้า ๒๐๐ พลราบ ๓,๐๐๐ คน ยกขึ้นไปตีกองทัพหน้าของข้าศึกที่ปากน้ำบางพุทรา พระราชมนูกับขุนรามเดชะยกขึ้นไปถึงเห็นว่าจำนวนพลในกองทัพของตนมีน้อยกว่าข้าศึกมากนัก จึงคิดเป็นกลอุบายซุ่มกองทัพไว้ในป่า แล้วแต่งกองโจรให้แยกย้ายกันดักฆ่าฟันข้าศึกที่เที่ยวลาดตระเวนหาเสบียงอาหาร และคอยแย่งช้างม้าพาหนะมิให้เอาไปเลี้ยงห่างค่ายใหญ่ได้ ถ้าข้าศึกตามจับเห็นมากก็หลบเลี่ยงไปเสีย ด้วยชำนาญท้องที่กว่าข้าศึก แต่พอเห็นข้าศึกเผลอก็เข้าปล้นทัพมิให้ข้าศึกอยู่เป็นปกติได้ ทัพหน้าข้าศึกตั้งอยู่ไม่ได้ ก็ต้องถอยกลับไปเมืองชัยนาท พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ข่าวว่า กองทัพเจ้าเมืองพสิม ซึ่งยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เสียทีไทยถอนหนีกลับไปเสียแล้ว เห็นจะตีพระนครศรีอยุธยาไม่สำเร็จก็เลิกทัพกลับไป
ปัจจุบันบริเวณที่พม่าได้มาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองพรหมนั้น ยังมีร่องรอยเป็นคูคันดินปรากฏอยู่ที่ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี ส่วนหนึ่งของคูนี้ถนนสายเอเซียได้ตัดผ่าน คูค่ายพม่ามีลักษณะเป็นคันดินยาวเป็นรูปปีกกา สูง ๔.๕๐ เมตร ฐานกว้างประมาณ ๕ เมตร ยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร
ครั้งที่สองในปี พ.. ๒๓๐๘ พระเจ้ามังระได้ให้มังมหานรธายกทัพเจ้ามาทางเมืองมะริดส่วนทางเหนือให้เนเมียวสีหบดีเคลื่อนกองทัพออกจากเชียงใหม่ตีหัวเมืองต่าง ๆ เรื่อยมา ในระยะแรกที่ฝ่ายไทยได้ทราบข่าวศึกและเห็นว่าพม่าจะต้องยกมาตีไทยแน่นอน จึงได้เตรียมการต่อสู้พม่าเป็นขั้น ๆ พอสรุปได้ คือ
ขั้นที่ ๑ ให้เกณฑ์ทหารออกไปรักษาด่าน แบ่งกองทัพเรือออกเป็น ๙ กอง ๆ ละ ๒๐ ลำ แต่ละกองมีกำลังทหารประจำกองละ ๑,๔๐๐ คนพร้อมด้วยเครื่องศาสตรวุธ เรือรบ ๑ ลำมีปืนใหญ่ ๑ กระบอก ปืนขนาดเล็ก ๑ กระบอก แล้วแบ่งไปประจำที่ต่าง ๆ ดังนี้
. ให้พระราชสงกรานต์ ไปตั้งทางปากน้ำเจ้าพระยา
. ให้หลวงหรทัยคุมออกไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำลำทอง
. ให้พระยาจุหล่า (แขก) ไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำพระประแดง (พระมะดัง)
. ให้ศรีวรข่าน ไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำประสบ
. ให้หลวงศรียุทธ ไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำหิงสา
. ให้หม่อมมหาดเล็กวังหน้า ไปตั้งรับพม่าทางแม่น้ำเมืองสิงห์บุรี
. ให้หม่อมเทไพ ไปตั้งรับพม่าทางเมืองอินทร์บุรี
. ให้หม่อมทิพยุพัน ไปตั้งรับพม่าทางแม่น้ำเมืองพรหมบุรี
. ให้ศรีภูเบศร์ ไปตั้งรับพม่าทางแม่น้ำเมืองพรหมบุรี
ชั้นที่ ๒ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงจัดทัพให้ไปตั้งรับพม่าห่างไกลออกไปตามจุด    ต่าง ๆ ดังนี้
กองทัพที่ ๑ ให้พระยาพิพัฒน์โกษา เป็นแม่ทัพใหญ่ใหญ่คุมกองทัพ ๑๓ กอง แต่ละกองมีกำลัง ๑,๐๐๐ คน มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ เชือก ช้างเชือกหนึ่งมีปืนใหญ่ขนาดเล็ก ๒ กระบอก มีควาญหัว ๑ คน กลาง ๑ คน ท้ายช้าง ๑ คน มีพลทหารถือทวนตามช้างอีกข้างละ ๑๐๐ คน ให้ไปตั้งรับทัพพม่าที่เมืองมะริด เมืองตะนาวศรี
กองทัพที่ ๒ ให้พระยาเพชรบุรี เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพ ๑๑ กอง แต่ละกองจัดกำลังเหมือนกองทัพที่ ๑ ให้ไปตั้งรับพม่าทางเมืองสวรรคโลก
กองทัพที่ ๓ ให้ศิริธรรมราชา เป็นปลัดทัพ ให้พระยาพิพัฒน์โกษาเป็นแม่ทัพคุมกองทัพ ๗ กองอีกทางหนึ่ง เพราะอยู่ในเขตใกล้เคียงกัน ให้ไปตั้งที่ตำบลท่ากระดาน เขตแดนเมืองกาญจนบุรี
กองทัพที่ ๔ ให้เจ้าพระยากลาโหม คุมกองทัพ ๑๕ กอง การจัดกำลังทัพจัดแบบเดียวกับกองทัพที่ ๑ ให้ไปตั้งรับทัพพม่าทางเมืองราชบุรี
กองทัพที่ ๕  ให้พระยาธิเบศร์เป็นแม่ทัพ คุมกองทัพ ๑๔ กอง การจัดกำลังกองทัพเหมือนกองทัพที่ ๑ ให้ไปตั้งรับพม่าทางเมืองราชบุรี
การที่กรุงศรีอยุธยาได้จัดเตรียมการป้องกันพระนครและเตรียมสู้รบพม่า โดยจัดแบ่งออกเป็นกองย่อย ๆ มากมายและแยกไปตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ โดยพม่ายกทัพมาจริง ๆ ยกมาเพียง ๒ ทางเท่านั้น ดังนั้น กองทัพไทยที่ไปอยู่อีกหลายจุด จึงไม่ได้สู้รบกับพม่าเลย ทำให้เสียกำลังทัพ ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สอง
ในขณะที่พม่าตั้งค่ายขยายวงล้อมกรุงศรีอยุธยา โดยมีทัพของเนเมียวสีหบดี ตั้งค่ายทางเหนือของอยุธยาแถบบ้านประสบ (พระประสบ) เนเมียวสีหบดีได้ให้ทหารพม่าจำนวนหนึ่ง ไปเที่ยวค้นทรัพย์จับผู้คนทางเมืองวิเศษไชยชาญและได้ตั้งค่ายอยู่ที่เมืองวิเศษไชยชาญ ได้เกลี้ยกล่อมให้พวกราษฎรให้ยอมอยู่ในอำนาจเป็นพวกของพม่า ขณะนั้นราษฎรในเขตเมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรค์บุรี และเมืองสุพรรณบุรี ได้อพยพไปพึ่งอาจารย์ธรรมโชติ ที่บ้านบางระจัน ซึ่งอยู่ในท้องที่เมืองสิงห์บุรี พม่าได้ส่งคนไปเกลี้ยกล่อมให้เข้าเป็นพวกของพม่า แต่ชาวไทยกลุ่มนี้มีความรักชาติ ไม่ยอมเข้ากับพม่า ได้รวมกำลังกันต่อสู้กับพม่าและสามารถเอาชนะกองทหารพม่าถึง ๗ ครั้ง ในการรบครั้งที่ ๘ ชาวบ้านบางระจันจึงพ่ายแพ้พม่า เพราะไม่ได้รับกำลังช่วยเหลือจากทางกรุงศรีอยุธยา แม้ทางชาวบ้านบางระจันจะส่งคนมาขอปืนใหญ่จากรุงศรีอยุธยา ๒ กระบอกแต่ทางกรุงไม่ให้ เสนาบดีกราบทูลสมเด็จพระยาเอกทัศน์ว่า “…ถ้าค่ายบ้านบางระจันเสียแก่พม่า พม่าก็จะเอาปืนเข้ามารบกรุงจะให้ไปนั้นมิบังควร…” พระเจ้าแผ่นดินทรงเชื่อตามคำกราบทูล จึงไม่ทรงให้ปืนใหญ่แก่ชาวบ้านบางระจัน แต่ให้ได้พระยารัตนาธิเบศร์ออกไปหล่อปืนที่บ้านบางระจัน การหล่อปืนใหญ่จะต้องใช้เวลานานพอสมควร ชาวบางระจัน จึงถูกพม่าซึ่งนำโดยพระนายกองตีแตกชาวบ้านบางระจันได้ยืนหยัดต่อสู้พม่าเป็นเวลานานถึง ๕ เดือนจึงเศษจึงเสียทีแก่พม่า ชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่รวมทั้งเด็กและสตรีถูกพม่าจับไปเป็นเชลยเป็นส่วนใหญ่ ที่หนีรอดไปได้นั้นมีน้อย ชาวบ้านบางระจัน เป็นตัวอย่างอันดีในการแสดงออก ซึ่งความรักชาติบ้านเมืองยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ

สมัยกรุงธนบุรี

หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ กล่าวได้ว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพยับเยินเสียหายมาก ทั้งปราสาทราชวัง วัดวาอาราม และบ้านเรือนของประชาชนถูกเพลิงไหม้เสียหายเป็นส่วนใหญ่ บรรดาประชาชนถูกพม่ากวาดต้อนไปเป็นเชลยประมาณ ๑ แสนครอบครัวส่วนที่เหลืออยู่ ก็มีความทุกข์ยากลำบากล้มตายและฆ่าฟันกันเองทุกหนทุกแห่งเป็นสภาพที่นับว่าเสียหายมาก ซึ่งไม่เคยปรากฏผลความเสียหายเช่นนี้มาเลยในอดีต กรุงศรีอยุธยาซึ่งได้ดำรงปกครองตนเองมาเป็นเวลานานถึง ๔๑๗ ปี มีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง ๓๔ องค์ ก็ต้องถึงแก่กาลอวสานเสียบ้านเมืองให้แก่พม่า เพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินอ่อนแอและคนไทยแตกความสามัคคี แต่เมืองไทยก็ยังโชคดีที่มีคนดีมีความสามารถมากอบกู้ชนชาติไทยให้รวมกันเป็นปึกแผ่นได้อีกสมกับที่ว่ากรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี บุคคลผู้นั้นคือ “พระยาวชิระปราการ” หรือที่รู้จักกันในนามของ “พระยาตาก” ได้ทำสงครามขับไล่พม่าออกจากค่ายโพธิ์สามต้นแล้ว จึงเลือกเอากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงสืบต่อมา กรุงศรีอยุธยาจึงได้กลายเป็นอดีต “กรุงเก่า” ไป
ภายหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.. ๒๓๑๐ แล้วปรากฏว่ามีหัวเมืองชั้นนอกหัวเมืองชั้นในไม่ว่าจะเป็นเมืองเอก เมืองโท หรือเมืองจัตวา และบรรดาเมืองประเทศราชทั้งหลายได้พากันตั้งตัวเป็นอิสระได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ กลุ่มชนต่าง ๆ ก็ต้องรวมกันเพื่อป้องกันโจรภัยเพราะในระยะนี้ปรากฏมีโจรผู้ร้ายชุกชุม สภาพของเมืองไทยภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แล้ว ปรากฎบ้านเมืองแตกแยกออกเป็นหลายกลุ่ม กลุ่มที่สำคัญ ๆ ได้แก่ กลุ่มเมืองธนบุรี กลุ่มเมืองพิษณุโลก กลุ่มเมืองนครศรีธรรมราช กลุ่มเมืองนครราชสีมา เมืองสรรคบุรี และยังมีกลุ่มเล็ก ๆ อีกมากมายที่มักก่อปัญหาความวุ่นวาย
เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองสิงห์ ได้เข้าอยู่ในกลุ่มเมืองธนบุรี ซึ่งมีพระเจ้าตากเป็นผู้นำกลุ่มมาตั้งแต่ต้น กลุ่มนี้มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองธนบุรีมีเมืองที่อยู่ในอำนาจในส่วนกลางขึ้นมาถึงเมืองลพบุรีภายหลังได้รวบรวมกลุ่มต่าง ๆ ไว้ได้หมด และปรับปรุงฟื้นฟูบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงถาวรขึ้นการ   ปกครองส่วนใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรียังใช้หลักการปกครอง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการปรับปรุงบ้างในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนภูมิภาคก็คือการแต่งตั้งคนสนิทหรือบุคคลที่สวามิภักดิ์เป็นผู้ปกครองเมือง ให้เมืองใหญ่ช่วยควบคุมดูแลเมืองเล็กและตั้งนายทหารสำคัญไปครองเมือง จุดมุ่งหมายการปรับปรุงก็เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันตนเองให้พ้นอันตรายจากการที่พม่าจะรุกรานเข้ามา
ในยุคสมัยกรุงธนบุรี ตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒ ถึง พ.. ๒๓๒๕ เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองสิงห์ ก็ยังโชคดีมีแต่ความสงบสุข ไม่มีการรุกรานจากฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไทยด้วยกันเองหรือพม่า

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์


การปกครองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะคล้าย ๆ กับการปกครอง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างในส่วนที่เกี่ยวกับการ          ปกครองในส่วนภูมิภาคที่สำคัญคือ ได้มีการจัดแบ่ง หัวเมืองขึ้นกลาโหม มหาดไทย และกรมท่าใหม่ กล่าวคือ รัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชดำริว่า เมื่อครั้งกรุงเก่าเมืองปักษ์ใต้ยกมาขึ้นแก่กรมท่านั้น เพราะกลาโหมมีความผิด บัดนี้ เจ้าพระยามหาเสนา ที่สมุหกลาโหมมีความชอบมาก จึงให้แบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกซึ่งขึ้นกรมท่า ๑๙ เมืองขึ้นมหาดไทย ๑ เมือง รวม ๒๐ เมือง ซึ่งต่อสมุหกลาโหมทำให้การบังคับบัญชาหัวเมืองในส่วนภูมิภาคอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายต่าง ๆ ดังนี้
ก.       สมุหนายก มีอำนาจปกครองดูแลหัวเมืองทางฝ่ายอีสานและทางเหนือทั้งทางด้านการทหาร พลเรือน เศรษฐกิจ การศาล การยุติธรรม การป้องกันประเทศและด้านอื่น ๆ ทุกด้านหัวเมืองที่อยู่ในอำนาจได้แก่ เมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัย เมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร เมืองมโนรมย์ เมืองชัยนาท เมืองอุทัยธานี เมืองอินทร์บุรี เมืองพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี เมืองวิเศษไชยชาญ กรุงเก่า เมืองนครนายก เมืองประจิม เมืองฉะเชิงเทรา เมืองสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองเพชรบูรณ์ เมืองท่าโรง เมืองบัวชุม เมืองชัยบาดาล เมืองกำพรานและเมืองนครศรีธรรมราช
ข.       สมุหกลาโหม มีอำนาจปกครองดูแลหัวเมืองปักษ์ใต้ทุก ๆ ด้านเช่นเดียวกับ     สมุหนายก หัวเมืองที่อยู่ในอำนาจสมุหกลาโหมได้แก่ เมืองสงขลา เมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา เมืองหลังสวน เมืองชุมพร เมืองประทิว เมืองคลองวาฬ เมืองกุย เมืองปราณ เมืองตะนาวศรี เมืองมะริด เมืองกระ เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองพังงา เมืองถลาง เมืองทวาย เมืองไทรโยค
ค.       กรมท่า มีอำนาจดูแลหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ได้แก่เมืองจันทบุรี เมืองตราด เมืองระยอง เมืองบางละมุง เมืองนนทบุรี เมืองสมุทรปราการ เมืองสมุทรสงคราม และเมืองสาครบุรี

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

การจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยอยุธยาตอนต้นก่อนที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงปรับปรุงใหม่นั้น ได้แบ่งอำนาจการปกครองออกเป็นเขต ๆ คือ เขตราชธานี เมืองหน้าด่าน (เมืองลูกหลวง) จะมีเมืองพระยามหานครและประเทศราช แต่ละเขตราชธานีและเมืองหน้าด่าน (เมืองลูกหลวง) จะมีเมืองเอกบังคับบัญชา เมืองโท ตรี จัตวา ที่อยู่ในเขตนั้น ๆ มีรูปลักษณะอย่างเดียวกับการจัดมณฑลนั่นเอง ส่วนประเทศราชหรือเมืองพระยามหานครนั้น ได้จัดให้เมืองเล็กขึ้นกับเมืองใหญ่เป็น ๒ ชั้น เช่นกัน การจัดปกครองเช่นนั้น มีข้อบกพร่องสำคัญอยู่ที่รัฐบาลกลาง ไม่สามารถควบคุมการบริหารราชการของบรรดาหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปจากราชธานีมาก ๆ ได้ ทั้งนี้เพราะการคมนาคมยังไม่เจริญ การเดินทางติดต่อประสานงานระหว่างเมืองจึงทำได้ยาก และเสียเวลามาก ทั้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าเมืองมีอิสระในทางการปกครองมาก เพราะมีฐานะเป็นผู้ “กินเมือง” โดยสมบูรณ์แทบจะไม่ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางเลย
โดยเหตุนี้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงทรงพยายามแก้ไขข้อบกพร่องนี้ โดยรวบอำนาจการปกครองเข้ามาไว้ในส่วนกลางให้มากที่สุด ด้วยการขยายอำนาจการปกครองของราชธานีออกไปครอบคลุมเอาเมืองหน้าด่านทั้งสี่ทิศเข้ามาไว้ในอำนาจ (เลิกเมืองหน้าด่านนั่นเอง) ให้หัวเมืองในเขตราชธานีหรือหัวเมืองชั้นในเหล่านั้นมีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ เรียกผู้ปกครองว่า “ผู้รั้ง” ไม่ใช่ “เจ้าเมือง” อย่างเมื่อก่อน
ความพยายามที่จะรวบอำนาจของการปกครอง ให้เข้ามาอยู่กับส่วนกลาง ได้ปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงจะขอนำคำจำกัดความของ “การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า
การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาค อันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่อาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑลรองถัดลงไปเป็นเมือง คือ จังหวัด รองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวง ทบวง กรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้ สติปัญญา ความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็ว แก่ราชการและธุรกิจของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจทางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้
การเทศาภิบาลนั้น หมายความรวมว่า เป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขต ชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน “มณฑลเทศาภิบาล” นั้น คือ ส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหาร      ราชการในท้องที่ต่าง ๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเอง เช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิมอันเป็นระบบยกกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครอง ซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางและริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกันแต่มณฑลสมัยนั้นหาใช้มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่าควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงเหนือ มณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาว หรือ มณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตก บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาลการจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมาและก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีน มณฑลราชบุรี
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๔ มณฑล คือ มณฑลนครไชยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยาในรัชกาลที่ ๖) มณฑลกรุงเก่าประกอบด้วยเมือง ๘ เมือง คือ กรุงเก่า พระพุทธบาท พรหมบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และอินทร์บุรี  ข้าหลวงอยู่ที่กรุงเก่า
(พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ยุบเมืองพุทธบาทลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองสระบุรี และยุบเมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี ลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองสิงห์บุรี)
พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลชุมพร
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๑ มณฑล คือ มณฑลไทรบุรี
พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๑ มณฑล คือ มณฑลเพชรบูรณ์
พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลจันทบุรี และมณฑลปัตตานี
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบล
พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๑ มณฑล คือ มณฑลมหาราษฎร์

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัด และอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสียเหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑) การคมนาคมสื่อสารสะดวก และรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓) เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔) รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วน      ภูมิภาคยิ่งขึ้นและการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒) อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓) ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการ     แผ่นดินในจังหวัดได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑) จังหวัด
๒) อำเภอ
จังหวัดนั้น ให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น


 


ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสิงห์บุรี. สิงห์บุรี. หัตถโกศลการพิมพ์, ๒๕๓๗.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น