สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ดินแดนอันเป็นที่ตั้งประเทศไทยปัจจุบันนี้ ในสมัยโน้นเรียกว่า อาณาจักรสุวรรณภูมิ เป็นถิ่นเดิมของชาติลาวหรือละว้า ยกเว้นดินแดนทางภาคใต้ซึ่งเป็นอาณาเขตของชาติมอญ อาณาจักรสุวรรณภูมิแบ่งแยกอำนาจการปกครองออกเป็น ๓ อาณาเขต คือ
๑. อาณาเขตทวาราวดี มีเนื้อที่อยู่ในตอนกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแผ่ออกไปจากชายทะเลตะวันตกของอ่าวไทยจนถึงชายทะเลตะวันออก มีเมืองนครปฐมเป็นราชธานี
๒. อาณาเขตยาง หรือ โยนก อยู่ตอนเหนือ ตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองเงินยาง
๓. อาณาเขตโคตรบูร ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้ง ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีเมืองนครพนมเป็นราชธานี
ชาวอินเดียผู้เจริญรุ่งเรืองด้วยความรู้ทางศาสนา ปรัชญา และสรรพศิลปวิทยาการได้อพยพเข้ามาในดินแดนเหล่านี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ชาวอินเดียได้พากันเข้าไปตั้งอาณานิคมอยู่ในดินแดนเขมรและมอญอีกด้วย เขมรหรือขอมได้รับความรู้ถ่ายทอดมาจากอินเดีย จึงปรากฏว่าขอมเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่าชนชาติใดในสุวรรณภูมิราว พ.ศ. ๑๕๐๐ ขอมได้ขยายอำนาจครอบครองอาณาเขตลาวไว้ได้ทั้งหมด ขอมรุ่งโรจน์อยู่ประมาณสองศตวรรษ ไม่ช้าก็เสื่อมอำนาจลง ในเวลานั้นชนชาติพม่าซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในธิเบต ได้รุกลงมาสู่ดินแดนลุ่มแม่น้ำอิรวดี และสถาปนาอาณาจักรขึ้น มีกษัตริย์พม่าพระองค์หนึ่งพระนามว่า อโนระธามังช่อ มีอานุภาพปราบลาวและมอญไว้ในอำนาจ เมื่อกษัตริย์พม่าองค์นี้สิ้นอำนาจลง ขอมก็รุ่งโรจน์ขึ้นอีกวาระหนึ่ง แต่เป็นความรุ่งโรจน์เมื่อใกล้จะเสื่อม พอดีชนชาติซึ่งรุกล้ำลงมาสู่ดินแดนนี้นับกาลนานมาได้สถาปนาอาณาจักรมีอานุภาพขึ้น
ในสมัยขอมรุ่งโรจน์ตอนบั้นปลายนั้น ในดินแดนสุวรรณภูมินี้มีชื่อเมืองโบราณอยู่ ๓ ชื่อ มีลักษณะใกล้เคียงกันคือ โคตรบูร เพชรบูรณ์ และจันทบูร ซึ่งทั้งสามนี้ตามรูปศัพท์บอกว่าไม่ใช่ภาษาไทย สมัยนั้นเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าชาวอินเดียไม่ใช่ปฐมาจารย์แห่งสรรพวิทยาการของขอมมาก่อน ที่ขอมเจริญรุ่งเรืองก็เพราะได้อาศัยชาวอินเดียเข้ามาเป็นครูสั่งสอนให้
จากราชธานีนครธม ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางขึ้นไปทางภาคเหนือตามแม่น้ำโขง ขอมได้ตั้งเมืองนครพนมขึ้นไว้เป็นด่านแรกจากนครธมตรงไปสู่ดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือ ขอมได้ตั้งเมือง พิมายขึ้นเป็นเมืองอุปราช และจากเมืองพิมายตรงขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองเพชรบูรณ์เป็นปากทางแรกสำหรับให้อารยธรรมและวัฒนธรรมของขอมเดิมเข้าสู่แคว้นโยนก ในเขตทวาราวดีที่ตอนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขอมได้สถาปนาเมืองลพบุรีขึ้นเป็นเมืองสำคัญคือ เป็นเมืองลูกหลวง อนึ่ง จากราชธานีนครธม เมื่อตัดตรงลงมาสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมืองด่านแรกที่ขอมตั้งขึ้นคือ เมืองจันทบุรี ต้นทางแพร่วัฒนธรรมและอารยธรรมขอมเข้าสู่ดินแดนชายทะเลและไปบรรจบกันที่เขตทวาราวดี
อาศัยเหตุนี้เมื่ออนุมานดู จากเหตุผลในประวัติศาสตร์ประกอบกับภูมิศาสตร์ ก็น่าจะเชื่อว่า อาณาเขตจันทบูรหรือจันทบุรีในปัจจุบันนี้เป็นเมืองที่ขอมสร้างขึ้นร่วมสมัยเดียวกันกับลพบุรี พิมาย และเพชรบูรณ์ แต่ขอมจะสร้างเมืองจันทบุรีนี้ขึ้นแต่ศักราชใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏชัดแจ้ง นอกจากจะสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยที่ขอมเริ่มแผ่อำนาจเข้าสู่เขตแดนลาวโดยอาศัยหลักโบราณคดีวินิจฉัยเปรียบเทียบดูศิลาแลงที่ใช้ก่อสร้าง วิธีการสร้างเทวสถานแกะสลักซุ้มประตู ฝาผนัง และระเบียงเป็นรูปโพธิสัตว์ เทวดา ประกอบทั้งลักษณะท่าทางของรูปสลักแล้ว เห็นได้ว่ามีส่วนคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุที่ปราสาทหินโบราณที่พิมาย นั่นหมายถึงว่า มีอายุก่อน ๑,๐๐๐ ปีขึ้นไป
เศษจากศิลาแลงแผ่นใหญ่สลักลวดลายกนกต่าง ๆ รูปเทวดาพระโพธิสัตว์ที่ยังเหลืออยู่ เนินดินรอบถนนและซากแสดงภูมิฐานของที่ตั้งเมืองเหล่านี้ ที่มีอยู่ในสถานที่ที่เรียกว่า เมืองเก่าหน้าเขาสระบาป ในท้องที่ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมืองจันทบุรีนั้นทำให้สันนิษฐานได้ว่า เมืองเก่าเป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยขอมเป็นใหญ่ แต่ก็ยังไม่สามารถจะชี้ชัดว่าบุคคลหรือกษัตริย์องค์ใดเป็นผู้สร้าง ปัจจุบันนี้ยังมีซากกำแพงก่อด้วยศิลาแลง มีเชิงเทินเศษอิฐและหิน ถนนปูด้วยศิลาแลง ปรากฏเป็นเค้าเมืองเดิมอยู่ นอกจากนี้ยังมีศิลาแลงแผ่นใหญ่สลักเป็นลวดลายและกนกต่าง ๆ มีรูปคนท่อนบนเปลือย ท่อนล่างถือชายผ้าพกใหญ่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพแกะสลักและกนกซุ้มประตูหน้าต่างและธรณีประตูที่ปราสาทหินพิมาย นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า เมืองที่กล่าวนี้ เป็นเมืองควนคราบุรี ส่วนจันทบูรหรือจันทบุรี นั้น น่าจะเป็นชื่อเสียงหรือชื่ออาณาเขตอย่างใดอย่างหนึ่ง และควนคราบุรีก็น่าจะเป็นเมืองสำคัญในอาณาเขตจันทบูร เช่นเดียวกับที่เมืองพิมายเป็นเมืองสำคัญในอาณาเขตโคตรบูร เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ร.ต. แชน ปัจจุสานนท์ ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจและได้ทำการค้นคว้าในเรื่องชื่อเมืองจันทบุรีมีความเห็นว่า คำว่า "ควนคราบุรี" น่าจะเป็นคำเดียวกันกับ "จันทบุรี" นั่นเอง แต่มีผู้เขียนหรือแปลผิดเพี้ยนไป อย่างไรก็ดี เรื่องเกี่ยวกับชื่อเมืองนี้ยังหาข้อยุติมิได้
นิโคลาส เจอร์แวส (Nicolas Gervais) ผู้เขียนเรื่องเมืองไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์-มหาราช ได้กล่าวถึงเมืองจันทบูร (Chantaboun) ว่า *"จันทบูนเป็นเมืองที่สวยงามที่สุด โดยปราศจากการโต้แย้งใด ๆ (ของหัวเมืองทางใต้) มีป้อมปราการเข็งแรงมาก เจ้าเมืองหาง (Chaou Moeung Hang) ผู้มีฉายาว่า พระองค์ดำ ซึ่งเป็นผู้สร้างพิษณุโลกได้เป็นผู้ก่อตั้งเมืองนี้บนฝั่งแม่น้ำสายหนึ่งซึ่งมีชื่ออย่างเดียวกัน จันทบูรเป็นเมืองชายแดนของเขมร อยู่ห่างจากฝั่งทะเลเป็นระยะทางวันหนึ่งเต็ม ๆ
อนึ่ง มีกล่าวกันว่าไทยกับเขมรได้รบกันเมื่อ (ค.ศ. ๑๓๗๓-๑๓๙๓) เพื่อแย่งกันครอบครองเมืองจันทบูน ซึ่งบางทีก็เรียกว่า เมืองจันทบุรี (Chandraburi) เมืองแห่งพระจันทร์ และอีกเมืองหนึ่งที่ชื่อว่า เมืองชลบุรี (Choloburi) หรือเมืองจุลบุรี (Culapuri) เมืองเล็ก"
ตัวเมืองจันทบุรีเดิมตั้งอยู่หน้าเขาสระบาปฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี ในบริเวณใกล้เคียงกับวัดทองทั่ว ปัจจุบันนี้ยังมีซากตัวเมือง กำแพงเมือง ก่อด้วยศิลาแลงและเชิงเทินปรากฏอยู่ให้เห็นเป็นเค้าอยู่บ้าง และสิ่งที่ขุดค้นพบมีศิลาจารึกและศิลารูปซุ้มประตู สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าที่ตรงนั้นเคยเป็นเมืองขอมมาแต่โบราณกาล แต่นามเมืองเก่าจะได้ชื่อว่า "จันทบุรี" หรือ "จันทบูน" อย่างไรไม่ทราบชัด แต่ชาวบ้านยังพากันเรียกว่า "เมืองนางกาไว" ตามชื่อผู้ปกครองเมืองสมัยนั้น ซึ่งมีเรื่องราวเป็นนิยายอันจะเชื่อถือเอาเป็นจริงจังไม่ได้ และยังมีผู้ยืนยันต่อไปอีกว่าได้พบศิลาจารึกอันเป็นอักษรสันสกฤตที่ตำบลเขตสระบาป มีเนื้อความว่า "เมืองจันทบุรีแต่เดิมชื่อ เมืองควนคราบุรี ตั้งมาประมาณ ๑,๐๐๐ ปีแล้ว พลเมืองเป็นชาติชอง เป็นที่น่าเชื่อว่าเมืองนี้เป็นเมืองขอมมาแต่โบราณ ก็เพราะยังมีชื่อตำบลบ้านขอมปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ และในท้องที่อำเภอมะขาม อำเภอโป่งน้ำร้อน ก็มีพลเมืองที่เป็นเชื้อชาติชองอยู่อีกมาก มีผู้เข้าใจว่าชาติชองนี้น่าจะสืบสายมาจากขอมโบราณ พวกชองในปัจจุบันตั้งภูมิลำเนาทำมาหากินอยู่ในป่าซึ่งอยู่ติดกับเขตแดนเมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชาประชาธิปไตยมีภาษาพูดอย่างหนึ่งต่างหากจากภาษาไทยและภาษาเขมร นักปราชญ์ในทางมนุษย์วิทยาได้จัดให้อยู่ในจำพวกตระกูลมอญ-เขมร เช่นเดียวกันกับพวกขอมโบราณเหมือนกัน พวกชองชอบลูกปัดสีต่าง ๆ และนิยมใช้ทองเหลืองเป็นเครื่องประดับเหมือนอย่างเช่นพวกกระเหรี่ยงที่อยู่ในเขตเมืองกาญจนบุรี เข้าใจว่าเดิมทีเดียวชนจำพวกนี้คงจะตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ตามท้องที่ต่าง ๆ ในเขตเมืองจันทบุรีเต็มไปหมด เพิ่งจะถอยร่นเข้าป่าเข้าดงไปเมื่อพวกไทยมีอำนาจเข้าครอบครองเมืองจันทบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยา
สมัยกรุงศรีอยุธยา
พวกขอมคงจะปกครองเมืองจันทบุรีอยู่ประมาณ ๔๐๐ ปี จนกระทั่งเสื่อมอำนาจลงในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พวกไทยทางอาณาจักรฝ่ายใต้ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิ (เมืองอู่ทอง) จึงเข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้ได้ จันทบุรีจึงรวมอยู่ในอาณาจักรไทยทางฝ่ายใต้เรื่อยมา มีหลักฐานที่ควรจะเชื่อได้ว่าเมืองนี้เคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแล้วแต่ในสมัยอู่ทองก็คือ เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นใน พ.ศ. ๑๘๙๓ ทรงประกาศว่า กรุงศรีอยุธยา มีประเทศราช ๑๖ หัวเมือง มีเมืองจันทบุรีรวมอยู่ด้วยเมืองหนึ่ง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่า พระราเมศวร เสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๗ แล้วกวาดต้อนเชลยชาวลานนาลงมาไว้ในเมืองต่าง ๆ ทางปักษ์ใต้และชายทะเลตะวันออกหลายเมือง เช่น เมืองนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และจันทบุรี จึงน่าจะอนุมานได้ว่าพวกไทยเราคงจะออกมาตั้งถิ่นฐานบ้านช่องกันอยู่อย่างมากมายแล้ว ตั้งแต่ในแผ่นดินพระราเมศวรเป็นต้น ครั้นต่อมาชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในครั้งนั้นคงจะได้สมพงษ์กับชาวพื้นเมืองเดิม เช่น พวกขอมและพวกชอง เป็นต้น จึงทำให้สำเนียงและคำพูดบางคำตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีผิดแผกแตกต่างไปจากทางภาคกลางและภาคพายัพบ้าง แต่แม้จะผิดแผกแตกต่างกันไปประการใดก็ตาม ชาวเมืองจันทบุรีก็ยังคงใช้ภาษาไทยเป็นภาษาท้องถิ่นพูดกันอยู่โดยทั่วไปตลอดทั้งจังหวัด ยกเว้นแต่คนหมู่น้อย เช่น พวกจีนและญวนซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ใหม่ ในชั้นหลังเท่านั้นที่ยังคงพูดภาษาของตนอยู่
ต่อมาได้มีการย้ายตัวเมืองจากเมืองเดิมที่เขาสระบาป ตำบลคลองนารายณ์ มาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่มซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งเข้าใจกันว่าจะย้ายมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ เป็นต้นมา เพราะในรัชกาลนี้ทรงจัดระเบียบการปกครองใหม่คือ ทรงจัดตั้งตำแหน่งจตุสดมภ์ มีเวียง วัง คลัง นา ขึ้น และทรงตั้งตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีขึ้นอีก ๒ ตำแหน่ง คือ ฝ่ายทหารตำแหน่งหนึ่งมีชื่อเรียกว่า สมุหกลาโหม และฝ่ายพลเรือนตำแหน่งหนึ่งมีชื่อเรียกว่า สมุหนายก ส่วนนอกราชธานีออกไปก็จัดการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ลดหลั่นกันลงไปตามความสำคัญของเมืองนั้น ๆ โดยทรงตั้งเป็นเมืองเอก โท ตรี และจัตวาขึ้นตามลำดับไป จึงทำให้เข้าใจว่าเมืองจันทบุรีน่าจะย้ายมาตั้งที่ตรงบ้านลุ่มในสมัยนี้ด้วย เพราะเมืองเดิมที่เขาสระบาปนั้นมีภูเขากระหนาบอยู่ข้างหนึ่ง คงไม่มีทางที่จะขยายให้ใหญ่โตออกไปกว่าเดิมได้ เหตุผลที่ต้องย้ายเมืองมาตั้งใหม่ ก็คงเนื่องมาจากเมืองเก่าอยู่ห่างไกลลำน้ำมาก การคมนาคมไม่สะดวกแก่พลเมืองในการไปมาค้าขาย เมื่อสร้างเมืองใหม่ได้มีการขุดดินถมเป็นเชิงเทินมีร่องคูรอบเมือง ภายในเมืองได้สร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง วัดวาอาราม แต่บัดนี้ได้ปรักหักพังจนแทบไม่มีอะไรเหลือ ต่อมาภายหลังทางราชการได้จัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพบ้านเมืองมาหลายครั้งหลายคราว จึงทำให้รูปร่างของเมืองเดิมลางเลือนไปจนไม่มีอะไรจะเป็นที่สังเกตได้
การสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่มนี้ คงทำเป็นเมืองป้อมเหมือนอย่างเมืองโบราณทั้งหลายคือ มีคูและเชิงเทินดินรอบเมืองทำรูปเป็นสี่เหลี่ยม กว้างยาวประมาณด้านละ ๖๐๐ เมตร ยังมีแนวกำแพงเหลืออยู่ทางหลังกองพันนาวิกโยธินประมาณสัก ๑๐๐ เมตร นอกนั้นถูกรื้อไปหมดแล้ว เมืองจันทบุรีตั้งอยู่ที่ตำบลนี้ตลอดมาจนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยจราจล เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีทรงยกพลออกจากเมืองระยองมาตีเมืองจันทบุรี ก็มาตีเมืองซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านลุ่มนี้ด้วย
ประวัติของเมืองจันทบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกสงครามมากเท่าใดนัก อาจจะกล่าวได้โดยเต็มปากว่า จันทบุรี เป็นเมืองที่สงบสุขเรื่อยมา ทั้งนี้ เพระเหตุว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไทยเราทำสงครามติดพันกันกับพม่าซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันแต่เฉพาะทางภาคพายัพและภาคตะวันตกเท่านั้น เมืองที่ตั้งอยู่ทั้งสองภาคนี้จึงมีประวัติการสงครามกับพม่าตลอดมาจนถึงตอนต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนเมืองจันทบุรีนั้นอยู่ทางชายทะเลตะวันออก อาณาเขตไม่ติดต่อกันกับประเทศพม่าจึงไม่ปรากฏว่าพม่ายกกองทัพเข้ามาตีเมืองนี้เลย แม้ในสมัยที่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในครั้งหลัง พม่าก็ไม่ได้ยกกำลังทหารเข้ามาย่ำยีเมืองจันทบุรีแต่อย่างใด คงปล่อยให้เมืองจันทบุรีและเมืองชายทะเลตะวันออกอีกหลายเมืองเป็นอิสระ ซึ่งเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมีโอกาสมาตั้งตัวและรวบรวมรี้พลอยู่ในบริเวณเมืองเหล่านี้ แล้วต่อมาได้ขับไล่พม่าที่ยึดครองประเทศไทยอยู่ ณ ตำบลโพธิ์สามต้นแตกกระจัดกระจายพ่ายแพ้ไป นับว่าเป็นบุญญาภินิหารของชาติไทยอย่างหนึ่งที่ดลบันดาลให้พม่าไม่ยกกองทัพมาย่ำยีหัวเมืองเหล่านี้ เพราะถ้าหากว่าหัวเมืองทางชายทะเลตะวันออกถูกย่ำยีหมดแล้ว กำลังรี้พลตลอดจนสะเบียงอาหารคงจะหาได้ยากอย่างยิ่ง และสมเด็จพระเจ้าตากสิน-กรุงธนบุรีก็จะต้องเสียเวลารวบรวมรี้พลตลอดจนสะเบียงอาหารเป็นเวลาไม่น้อยทีเดียว คือกว่าจะรวบรวมกำลังพอจะยกไปขับไล่พม่าซึ่งยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ได้ ก็จะต้องใช้เวลาหลายปี ไม่ใช่ ๕ หรือ ๖ เดือน อย่างที่ได้กระทำมาแล้ว
เนื่องจากจันทบุรีมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นจึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศกัมพูชาประชาธิปไตยบ้างแต่ก็ไม่มากนัก และไม่เคยปรากฏว่าได้รบกันที่เมืองจันทบุรีนี้เลยสักครั้งเดียว เพราะประเทศกัมพูชาประชาธิปไตยในเวลานั้นมีกำลังไม่มากเหมือนประเทศพม่าจึงไม่สามารถจะยกกองทัพบกใหญ่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาได้ คอยฉวยโอกาสแต่เมื่อเวลาที่ไทยหย่อนกำลังลงแล้ว จึงยกกองทัพเข้ามากวาดต้อนผู้คน ทางหัวเมืองชายแดนไป ไม่เคยได้รบกันเป็นศึกใหญ่ในเขตประเทศไทยสักครั้งเดียว เช่น ในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร พระเจ้ากรุงกัมพูชาก็ยกกองทัพมากวาดต้อนผู้คนในเมืองชลบุรีและเมืองจันทบุรีไปประมาณ ๖-๗ พันคน สมเด็จพระราเมศวรจึงทรงยกกองทัพไปตีกรุงกัมพูชา และได้รบพุ่งกันชั่วระยะเวลาเพียง ๓ วันเท่านั้น กรุงกัมพูชาก็แตก สมเด็จพระราเมศวรจึงโปรดให้รับครอบครัวไทยซึ่งถูกพวกเขมรกวาดต้อนไปกลับคืนมาไว้ยังภูมิลำเนาเดิม
ในแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๑ (พระมหาธรรมราชา) ก็อีกครั้งหนึ่ง ในเวลานั้นเป็นสมัยที่ไทยกำลังบอบช้ำมาก เพราะแพ้สงครามพม่ามาใหม่ ๆ เพิ่งจะสร้างตัวขึ้นยังไม่มีกำลังเข้มแข็งเท่าใดนัก พระยาละแวกจึงฉวยโอกาสยกกองทัพเข้ามากวาดต้อนชาวไทยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ตามหัวเมืองชายทะเลตะวันออกรวมทั้งเมืองจันทบุรีไปไว้ ณ กรุงกัมพูชา เป็นจำนวนไม่น้อย และยังยกกองทัพเข้ามาย่ำยีประเทศไทยอีกหลายครั้ง เป็นเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพิโรธ จึงทรงยกกองทัพไปตีกรุงกัมพูชาแตกแล้วทรงจับพระยาละแวกสำเร็จโทษเสีย
นับแต่นั้นชาวเมืองจันทบุรีก็อยู่กันอย่างสงบสุขตลอดมา จนกระทั่งถึงปลายสมัยกรุงศรี-อยุธยา ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พระเจ้าบรมโกศ) ปรากฏว่ามีเรื่องยุ่งยากในการสืบราชสมบัติเนื่องจากพระเจ้าลูกเธอไม่ทรงสามัคคีปรองดองกัน ทั้งนี้เพราะพระมหาอุปราชสิ้นพระ-ชนม์เสียก่อน พระราชโอรสองค์กลางคือ เจ้าฟ้าเอกทัศ ซึ่งทรงกรมเป็น กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้น เป็นผู้โฉดเขลา เบาปัญญา และไม่มีความอุตสาหพยายาม พระเจ้าบรมโกศทรงเห็นว่า ถ้าจะให้ครอบครองแผ่นดินบ้านเมืองจะเกิดภัยพิบัติ จึงรับสั่งให้เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีไปผนวชเสีย แล้วทรงตั้งเจ้า-ฟ้ากรมขุนพรพินิต พระราชโอรสองค์เล็กเป็นพระมหาอุปราช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๐
แม้จะทรงแต่งตั้งพระมหาอุปราชไว้ตามโบราณราชประเพณีแล้วก็ตาม แต่สมเด็จพระเจ้า-บรมโกศก็มิได้ทรงคลายความห่วงใยต่อราชบัลลังก์ ทั้งนี้ เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าพระราชโอรสมิได้ทรงสมัครสมานสามัคคีกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาที่พระองค์ใกล้จะเสด็จสวรรคตจึงโปรดให้พระเจ้าลูก-เธออันเกิดแต่พระสนมทั้งสี่พระองค์ คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ กรมหมื่นจิตสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพย์ภักดี เข้าไปเฝ้าถึงข้างที่พระบรรทม ทรงโปรดให้พระเจ้าลูกเธอทั้งสี่พระองค์นี้กระทำสัตย์ถวายต่อหน้าพระที่นั่งว่าจะทรงสามัคคีปรองดองกันกับพระมหาอุปราช ด้วยความกลัวพระราชอาญา พระเจ้าลูกเธอทั้งสี่พระองค์จึงจำพระทัยกระทำสัตย์ถวาย
แต่ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศสวรรคตแล้ว พระเจ้าลูกเธอเหล่านั้นก็มิได้กระทำตามที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณไว้ ยังทรงถือทิฐิมานะอยู่ พอพระมหาอุปราชเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติได้สักหน่อย กรมหมื่นจิตสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพย์ภักดี ซึ่งเป็นอริกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อยู่แต่เดิมแล้ว ก็ทรงคบคิดกันจะช่วงชิงราชบัลลังก์แต่ปรากฏว่าไม่ค่อยมีข้าราชการสนับสนุนจึงไม่ทรงสามารถช่วงชิงราชสมบัติได้สำเร็จ ในที่สุดก็ถูกจับและถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
ส่วนกรมหมื่นเทพพิพิธนั้น ทรงสนับสนุนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อยู่แต่เดิมแล้วจึงไม่ปรากฏว่าได้ทรงร่วมมือกับพระเจ้าน้องยาเธอทั้งสามพระองค์นั้น แต่กรมหมื่นเทพพิพิธเป็นอริกันกับกรมขุนอนุรักษ์มนตรี ฉะนั้น เมื่อกรมขุนพรพินิตถวายราชสมบัติแก่กรมขุนอนุรักษ์มนตรีซึ่งเป็นพระ-เชษฐาแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธก็คิดจะชิงราชสมบัติจากพระเจ้าเอกทัศมาถวายกรมขุนพรพินิต แต่กรมขุนพรพินิตนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าเอกทัศให้ทรงทราบเสียก่อน กรมหมื่นเทพพิพิธจึงถูกเนรเทศไปอยู่เกาะลังกา
กรมหมื่นเทพพิพิธต้องจำพระทัยประทับอยู่ ณ เกาะลังกา เป็นเวลา ๒ ปีเศษ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๓๐๓ พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่ายกกองทัพมาประชิดพระนครมีข่าวลือออกไปยังเกาะลังกาว่า พระนครศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว พระองค์จึงลอบเสด็จเข้ามายังเมืองมะริด โดยหวังพระทัยจะทรงช่วยกู้อิสรภาพต่อไป แต่การหาได้เป็นดังข่าวลือไม่ เผอิญพระเจ้าอลองพญาทรงประชวรหนักเนื่องจากปืนใหญ่ซึ่งพระองค์ทรงบัญชาการยิงด้วยพระองค์เองได้เกิดระเบิดขึ้น สะเก็ดระเบิดกระเด็นมาต้องพระองค์ถึงบาดเจ็บสาหัส จึงรีบเสด็จยกกองทัพกลับคืนไปทางเหนือและไปสิ้นพระชนม์ลงกลางทาง กรมหมื่นเทพพิพิธจึงต้องถูกคุมตัวอยู่ที่เมืองมะริดนั้นเอง
ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๗ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองมะริดแตก กรมหมื่นเทพพิพิธจึงหนีเข้ามาในเขตแดนไทยเรื่อยเข้ามาจนถึงเมืองเพชรบุรี เมื่อพระเจ้าเอกทัศทรงทราบจึงมีรับสั่งให้คุมตัวไปไว้ที่เมืองจันทบุรี
เนื่องด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นเจ้านาย และมิได้ทรงกระทำผิดคิดร้ายประการใด ประชาชนยังคงเคารพนับถือพระองค์อยู่มาก โดยเฉพาะชาวเมืองจันทบุรีก็ได้ช่วยเหลือพระองค์เป็นอย่างมากเหมือนกัน คือ ปรากฏว่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อคราวจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า กรมหมื่น-เทพพิพิธทรงได้กำลังชายฉกรรจ์จากเมืองจันทบุรีจนสามารถจัดเป็นกองทัพน้อย ๆ ยกออกไปเพื่อจะช่วยตีกองทัพพม่าซึ่งกำลังล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ เมื่อเสด็จผ่านหัวเมืองรายทางเข้ามาประชาชนพลเมืองในเขตเมืองเหล่านั้นก็พากันอาสาสมัครเข้าในกองทัพเป็นจำนวนมาก กรมหมื่นเทพพิพิธได้เสด็จเข้ามาจนกระทั่งถึงเมืองปราจีนบุรี และโปรดให้นายทองอยู่น้อยเป็นแม่ทัพหน้ายกพลไปตั้งมั่นอยู่ ณ ปากน้ำโยทะกา
กิตติศัพท์ที่กรมหมื่นเทพพิพิธยกพลเข้ามานี้ได้พัดกระพือไปถึงกองทัพพม่าซึ่งตั้งล้อม กรุงศรีอยุธยาอยู่ พม่าจึงจัดส่งทหารเข้าตีโต้กองทัพไทยซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่ปากน้ำโยทะกาแตกกระจัดกระจายไป ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเมื่อทรงทราบข่าวว่ากองทัพหน้าแตกก็เสด็จหนีไปอยู่เมืองนครราชสีมา
สมัยกรุงธนบุรี
หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชแก่พม่าข้าศึก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าตั้งใจจะมิให้ไทยตั้งตัวได้อีก จึงเผาผลาญทำลายปราสาทราชมณเฑียร วัดวาอาราม ตลอดจนบ้านเรือนของราษฎรแล้วได้เก็บทรัพย์สมบัติของมีค่า ทั้งกวาดต้อนชาวไทยไปเกือบหมดสิ้นกรุงศรีอยุธยาไม่เหลืออะไรอยู่เลย นอกจากซากอิฐปูนปรักหักพังสภาพเหมือนเมืองร้าง อยุธยาเมืองหลวงของไทยอันรุ่งเรืองมาแล้วหลายร้อยปี มีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง ๓๔ องค์ ต้องมาเสียแก่พม่าก็เพราะการที่คนไทยแตกความสามัคคีกันเอง พระเจ้าแผ่นดินก็อ่อนแอ แต่กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี ต่อจากเหตุการณ์อันน่าเอน็จอนาถของเมืองไทยไม่นานนัก เมืองจันทบุรีก็ได้ต้อนรับมหาวีรบุรุษของไทยอีกองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้า-ตากสินมหาราช ซึ่งได้เสด็จมาตั้งรวบรวมกำลังพลทแกล้วทหารหาญเพื่อกอบกู้เอกราชของไทยให้กลับคืนมาจากอำนาจพม่าข้าศึก ราชกิจซึ่งพระองค์ทรงบำเพ็ญเป็นองค์คุณธรรม ประกอบด้วยเกียรติยศแก่ประเทศชาติไทยเป็นอเนกประการ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือเรียกอีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุง-ธนบุรี เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น พระยาวิเชียรปราการ ทรงเห็นว่าพระนครศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าเพราะความอ่อนแอของผู้บังคับบัญชาและเพราะการแตกความสามัคคีกันเป็นแน่แท้ ดังนั้น เมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้นสี่ค่ำ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ ขณะพม่าตั้งล้อมประชิดเข้ามาจวนถึงคูพระนคร พระยาวิเชียร-ปราการจึงรวบรวมพลได้ประมาณ ๕๐๐ คน ตีฝ่าหนีออกไปทางทิศตะวันออก พม่าออกติดตามตีกระชั้นชิดแต่ก็พ่ายแพ้ทุกคราวไป จนกระทั่งบรรลุถึงเมืองระยอง พระยาระยอง ชื่อ บุญ ได้พาสมัครพรรคพวกออกมาอ่อนน้อม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ยกกองทัพเข้าไปตั้งมั่นอยู่ที่วัดลุ่ม นอกบริเวณค่ายเก่าซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองระยอง ขณะนั้นกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่า มีพวกกรมการเมืองเก่าหลายคน คือ หลวงพล ขุนจ่าเมือง ขุนราม หมื่นซ่อง บังอาจขัดขืนคบคิดกันต่อสู้พระองค์แล้วรวบรวมกำลังกันประทุษร้ายเข้าปล้นค่าย แต่กลับพ่ายแพ้ต่อพระองค์ จึงทรงชิงเอาเมืองระยองได้เป็นสิทธิ และประกาศพระองค์เป็นอิสรภาพมีอำนาจในอาณาเขตเมืองระยอง
ครั้งนั้น ทรงเห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นหัวเมืองใหญ่และยังมีเจ้าเมืองปกครองเป็นปกติอยู่ แต่ก็ไม่ทรงทราบว่าเมืองจันทบุรีจะคิดร่วมมือกอบกู้เอกราชของประเทศให้พ้นจากอำนาจพม่าข้าศึกด้วยหรือไม่ ขณะที่ประทับอยู่ ณ เมืองระยอง จึงทรงแต่งตั้งให้ทูตถือศุภอักษรไปถึงพระยาจันทบุรี ขอให้พระยาจันทบุรีร่วมมือช่วยกันปราบปรามพม่าข้าศึกให้กรุงศรีอยุธยาเป็นที่ผาสุกเหมือนดังก่อน พระยา-จันทบุรีได้ทราบความและรับว่าจะลงมาปรึกษาด้วยตนเองที่เมืองระยอง แต่พระยาจันทบุรีหาได้ปฏิบัติตามไม่
ขณะนั้น นายเรือง มหาดเล็ก ผู้รั้งเมืองบางละมุง ถือหนังสือของเนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่พม่า มีข้อความเป็นเชิงบังคับให้พระยาจันทบุรีตัดสินใจเลือกว่าจะเข้าด้วยกับพม่าหรือกับพวกไทยด้วยกัน พระองค์ทรงทราบความตลอด จึงทรงแต่งทูตให้ถือศุภอักษรไปถึงพระยาราชาเศรษฐีญวนเจ้าเมืองบันท้ายมาศ ให้ยกกองทัพขึ้นมาสมทบช่วยกันกู้กรุงศรีอยุธยาให้พ้นมือข้าศึก และก็ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะทำให้พระยาจันทบุรีเกรงกลัว พร้อมกันนั้นพระองค์จึงทรงสั่งให้ผู้รั้งเมืองบางละมุงลงไปชี้แจงแก่พระยาจันทบุรี แล้วให้ทูตที่จะลงไปเมืองบันท้ายมาศรับผู้รั้งเมืองบางละมุงเพื่อไปส่งที่เมืองจันทบุรี พระยาราชาเศรษฐีญวน รับรองเป็นทางไมตรีว่า สิ้นฤดูมรสุมแล้วจะยกกองทัพขึ้นมาช่วย
ครั้นเดือน ๕ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระยาจันทบุรีไม่รับเป็นไมตรี ส่วนขุนราม หมื่นซ่อง ซึ่งเคยปล้นค่ายที่เมืองระยองแล้วแตกหนีไปตั้งซ่องสุมผู้คนอยู่ในเขตเมืองแกลงก็คุมพลออกประทุษร้ายต่อพระองค์เป็นเนืองนิจ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงดำริว่าหมดลู่ทางที่จะทำอย่างอื่นได้ นอกจากจะใช้กำลังปราบปรามจึงจะตั้งตัวอยู่ได้ จึงยกกองทัพลงไปตีขุนราม หมื่นซ่อง ซึ่งสู้ไม่ได้ก็พ่ายแพ้หนีลงไปอยู่กับพระยาจันทบุรี
ขณะนั้นพระยาจันทบุรีได้กำลังขุนราม หมื่นซ่อง ช่วยกันคิดเป็นกลอุบายจะล่อเอาพระองค์เข้าไปไว้ในเมืองแล้วคิดกำจัดเสีย จึงนิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูป ให้เป็นทูตมาเชิญพระองค์ลงไปยังเมืองจันทบุรี เป็นทำนองปรึกษาตระเตรียมกองทัพจะเข้าไปรบพุ่งพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบก็ทรงพอพระทัย จึงให้พระสงฆ์ทูตนำทางยกลงไปเมืองจันทบุรี เมื่อพระองค์ยกไปถึงบางกะจะ ระยะทางห่างจากเมืองประมาณ ๘ กิโลเมตร พระยาจันทบุรีให้หลวงปลัดลงมารับเพื่อนำพระองค์เข้าไปพัก ณ ทำเนียบ ซึ่งได้จัดรับรองไว้ที่ริมแม่น้ำ ขณะที่ยกกองทัพไปพระองค์ได้ทราบเป็นรหัสว่า พระยาจันทบุรีกับขุนราม หมื่นซ่อง ได้เรียกระดมพลขึ้นประจำหน้าที่ พระองค์จึงตรัสให้กองทัพเลี้ยวขบวนไปทางเหนือตรงเข้าไปตั้งที่วัดแก้วห่างจากประตูเมืองท่าช้างประมาณ ๒๐๐ เมตร พระยาจันทบุรีตกใจรีบให้ไพร่พลขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทิน แล้วให้ขุนพรหมธิบาล ซึ่งเป็นพระยาท้ายน้ำออกไปเจรจาเพื่อเชิญเสด็จเข้าไปพบปะกับพระยาจันทบุรี พระองค์ขอให้พระยาจันทบุรีส่งตัวขุนรามกับหมื่นซ่องออกมาทำสัตย์สาบานเพื่อให้เห็นน้ำใจสุจริตต่อกันเสียก่อน เมื่อขุนพรหมธิบาลกลับเข้าไปแล้ว พระยาจันทบุรีก็นิ่งเฉยอยู่ พระองค์ทรงประจักษ์แน่ว่าพระยาจันทบุรีมิได้ตั้งอยู่ในไมตรีสัตย์สุจริต จึงตรัสให้พระยาจันทบุรีรักษาเมืองไว้
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตกอยู่ในที่คับขัน เพราะเข้าไปตั้งอยู่ในชานเมืองข้าศึกแล้วประกอบทั้งพระองค์ทรงเป็นนักรบ ทรงแลเห็นทันทีว่าต้องรีบชิงทำศึกก่อน จึงทรงเรียกบรรดานายทัพนายกองทั้งปวงมาประชุมว่า พระองค์จะตีเอาเมืองจันทบุรีในเพลาค่ำให้จงได้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้วก็ให้ต่อยหม้อข้าวเสียให้หมด และให้ไปกินข้าวเช้าเอาในเมือง หากตีเมืองไม่ได้ก็ให้ตายเสียด้วยกันให้หมด
ครั้นได้ฤกษ์เวลาสามยาม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงช้างพังคีรีบัญชร ทรงให้อาณัติสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน ชาวเมืองระดมยิงปืนใหญ่น้อยลงมาเป็นอันมาก นายท้ายช้างพระที่นั่งเกรงว่าพระองค์จะได้รับอันตรายจึงเกี่ยวช้างพระที่นั่งถอยออกมา พระองค์ขัดพระทัยเงื้อพระแสงหันมาจะฟัน นายท้ายช้างทูลขอชีวิตแล้วไสช้างกลับเข้าชนประตูเมืองพังลงทหารก็ตรูกันเข้าเมืองได้เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๗ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงเมืองให้เป็นปกติเรียบร้อยแล้วตรัสสั่งให้ต่อเรือรบได้ประมาณ ๒๐๐ ลำ เตรียมการเข้ามาทำสงครามกู้กรุงศรีอยุธยาต่อไป นับว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองสำคัญ เคยเป็นที่ตั้งมั่นของวีรกษัตริย์มหาราชเจ้าพระองค์หนึ่งของไทยมาก่อน
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ครั้นต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยเกิดพิพาทกับประเทศญวนถึงกับทำสงครามกันด้วยเรื่องเจ้าอนุ การสงครามระหว่างญวนกับไทยในครั้งนั้นใช้กองทัพบกและกองทัพเรือ เมืองจันทบุรีเป็นเมืองชายทะเลทางทิศตะวันออกอยู่ใกล้ชิดกับญวนมาก สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าญวนจะมายึดเอาเมืองจันทบุรีเป็นที่มั่นเพื่อทำการต่อสู้กับไทย และตัวเมืองจันทบุรีตั้งมาแต่สมัยโน้นก็อยู่ในที่ลุ่ม ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นฐานทัพต่อสู้กับญวน ฉะนั้น จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กองออกมาสร้างป้อมค่ายและเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านเนินวง ตำบลบางกะจะ ตำบลที่จะสร้างเมืองใหม่นี้ตั้งอยู่ในที่สูงเป็นชัยภูมิดี เหมาะแก่การสร้างฐานทัพต่อสู้ข้าศึก ลักษณะของเมืองที่สร้างมีกำแพง ป้อม คู ประตู ๔ ทิศ เป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ ๑๔ เส้น ยาว ๑๕ เส้น มีปืนจุกอยู่ตามช่องใบเสมา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗ ใช้เวลาแรมปีและกำลังคนมากมายจนแล้วเสร็จ ภายในเมืองได้สร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง คลังเก็บอาวุธ และวัดซึ่งมีชื่อว่า “วัดโยธานิมิต” เมืองที่สร้างใหม่ยังคงปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ พร้อมกับการสร้างเมืองใหม่นั้น ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เป็นแม่กองสร้างป้อมที่หัวหาดปากน้ำแหลมสิงห์ป้อมหนึ่ง และให้พระยาอภัยพิพิธ เป็นแม่กองสร้างไว้บนเขาแหลมสิงห์อีกป้อมหนึ่ง เดิมป้อมทั้งสองยังไม่มีชื่อ ต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังมิได้ เสวยราชย์ได้เสด็จประพาสเมืองจันทบุรี จึงได้พระราชทานนามป้อมที่อยู่บนเขาแหลมสิงห์ว่า “ป้อมไพรีพินาศ” และป้อมที่อยู่หัวหาดแหลมสิงห์ว่า “ป้อมพิฆาตปัจจามิตร” (หนังสือของหลวง-สาครคชเขต ว่าชื่อ “ป้อมพิฆาตข้าศึก”) แต่ป้อมพิฆาตปัจจามิตรได้ถูกฝรั่งเศสรื้อเสียแล้วเมื่อคราวฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีเพื่อสร้างที่พักทหารฝรั่งเศสซึ่งเรียกกันว่า “ตึกแดง” ในเวลานี้
เมื่อได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นแล้ว รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้สั่งย้ายเมืองจันทบุรีจากที่ตั้งอยู่เดิม ไปอยู่ที่เมืองใหม่ และมีความปรารถนาที่จะให้ประชาชนอพยพจากเมืองเก่าที่ตั้งเป็นตัวจังหวัดเดี๋ยวนี้ไปอยูที่เมืองใหม่ด้วย แต่เนื่องด้วยตัวเมืองใหม่ตั้งอยู่บนที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๓๐ เมตร และตั้งอยู่ห่างจากคลองน้ำใสซึ่งเป็นคลองน้ำจืดประมาณ ๑ กิโลเมตร ไม่สะดวกแก่ประชาชนในเรื่องน้ำใช้ ประชาชนจึงไม่ใคร่สมัครใจอยู่คงอยู่ที่เมืองเก่าเป็นส่วนมาก พวกที่อพยพไปอยู่จนตั้งเป็นหลักฐานก็มีแต่หมู่ข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันยังมีบุตรหลานของข้าราชการสมัยนั้น ตั้งเคหสถานอยู่ที่บ้านทำเนียบในเมืองใหม่มาจนทุกวันนี้และเมื่อการสงครามระหว่างไทยกับญวนสงบลงแล้ว เมืองใหม่ก็ไม่มีความสำคัญอย่างไรที่ประชาชนในเมืองเก่าจะต้องอพยพไปอยู่ ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองจันทบุรีจากเมืองใหม่ที่บ้านเนินวงกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเก่าตามเดิมและได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เมืองใหม่จึงกลายเป็นเมืองร้างมาแต่ครั้งนั้น
ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ไทยกับฝรั่งเศสได้เกิดกรณีพิพาทกันด้วยเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยฝรั่งเศสกล่าวหาว่าไทยรุกล้ำเข้าไปในดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสและได้ทำร้ายเจ้าพนักงานฝรั่งเศสด้วย ฝ่ายไทยได้แก้ว่าดินแดนนั้นเป็นของไทยฝรั่งเศสบุกรุกเข้ามา ฝ่ายไทยจำเป็นต้องขัดขวาง เมื่อการโต้เถียงไม่เป็นที่ตกลงปรองดองกันแล้ว ฝรั่งเศสจึงได้ใช้อำนาจโดยส่งเรือรบเข้าไปปิดปากน้ำเจ้าพระยา ไทยกับฝรั่งเศสจึงเกิดปะทะกันด้วยอาวุธเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความเสียหายด้วยกัน ฝ่ายไทยเห็นว่าจะสู้ฝรั่งเศสในทางกำลังอาวุธมิได้แล้วจึงได้ขอเปิดการเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยสันติวิธี ฝ่ายฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ รวม ๖ ข้อด้วยกัน มีใจความสำคัญที่ควรกล่าวคือ ให้รัฐบาลไทยยอมสละสิทธิดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดจนเกาะทั้งหลายในลำน้ำนั้นเสีย กับให้ไทยต้องเสียเงินเป็นค่าปรับให้แก่ฝรั่งเศส เป็นจำนวนเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ แฟรงค์ และก่อนที่จะได้ตกลงทำสัญญากันนี้ฝรั่งเศสจะต้องยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน ฝ่ายไทยต้องยอมฝรั่งเศสทุกประการ
ในระหว่างที่มีการปะทะกับฝรั่งเศสนั้น ทางจันทบุรีได้เตรียมต่อสู้ป้องกันตามกำลังที่พอจะทำได้ เพราะในเวลานั้นมีกองทหารเรือตั้งอยู่ในตัวเมืองและที่ป้อมปากน้ำแหลมสิงห์ แต่เมื่อได้ทราบว่ารัฐบาลยอมให้ผรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรี กองทหารเรือทั้งสองแห่งก็ได้รีบโยกย้ายไปอยู่ที่เกาะจิก และอำเภอขลุง ต่อมาอีกไม่กี่วัน ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ นั้นเอง ฝรั่งเศสก็ได้ยกกองทหารเข้าสู่เมืองจันทบุรี ทหารโดยมากเป็นทหารญวนที่ส่งมาจากไซ่ง่อนที่เป็นฝรั่งเศสมีไม่มากนัก และส่วนมากเป็นนายทหาร จำนวนทหารฝรั่งเศสและญวนรวมกันทั้งสิ้นประมาณ ๖๐๐ คนเศษ ได้แยกกันอยู่เป็น ๒ แห่ง คือ ที่ป้อมปากน้ำแหลมสิงห์พวกหนึ่ง ได้รื้อป้อมพิฆาตปัจจามิตรเสียแล้วสร้างตึกแถวเป็นที่พัก ทั้งได้สร้างที่คุมขังนักโทษทหารไว้ด้วย อีกพวกหนึ่งตั้งอยู่ในเมืองจันทบุรี ในบริเวณที่เรียกว่า “ค่ายทหาร” เดี๋ยวนี้ได้จัดสร้างที่พักทหาร โรงพยาบาล ที่ขังนักโทษ ที่เก็บอาวุธขึ้นในค่ายหลายคลัง ซึ่งยังคงอยู่ต่อมาจนทุกวันนี้
ในระหว่างที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีนั้น ฝรั่งเศสได้ช่วยเหลือไทยทำการปราบปรามพวกอั้งยี่และช่วยเหลือพยาบาลประชาชนที่ป่วยไข้อันเป็นบุญคุณที่ได้กระทำไว้ในครั้งนั้น แต่สิ่งที่ชั่วร้ายเลวทรามที่ทหารฝรั่งเศสและทหารญวนได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้ก็มิใช่น้อย ทหารฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครองจันทบุรีไม่มีอำนาจในการปกครองประชาชน อำนาจการปกครองยังเป็นของไทยอยู่ตลอดเวลาที่ฝรั่งเศสยึดครอง ฝรั่งเศสมีอำนาจเพียงปกครองทหารและคนที่ขึ้นในบังคับฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ในบางคราวฝรั่งเศสก็ก้าวก่ายอำนาจการปกครองของไทยบ้าง ฝ่ายไทยต้องพยายามผ่อนผันอะลุ้มอล่วยเสมอมาจึงไม่ใคร่มีเรื่องขัดใจกัน จนถึงเวลาที่ฝรั่งเศสถอนทหารออกไปจากจันทบุรี และเนื่องด้วยไทยยังมีอำนาจในการปกครองในขณะที่ฝรั่งเศสยึดครองอยู่ จึงได้มีชาวจีนและญวนพื้นเมืองบางคนไม่อยากอยู่ใต้อำนาจการปกครองของไทยพากันไปเข้าอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสเพื่อหวังประโยชน์บางประการ จึงทำให้การบังคับบัญชาบุคคลจำพวกนี้ลำบากยิ่งขึ้น แต่พอฝรั่งเศสออกจากจันทบุรีไปแล้ว คนจำพวกนี้ก็พลอยหมดไปด้วยกลายเป็นไทยแท้ไม่มีคนในปกครองของฝรั่งเศส
กองทหารฝรั่งเศสได้ทำการยึดจันทบุรีอยู่เป็นเวลาถึง ๑๑ ปีเศษ เมื่อรัฐบาลไทยและฝรั่งเศสได้ทำสัญญาตกลงกันเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยฝ่ายไทยยินยอมยกดินแดนจังหวัดตราด ตลอดจนถึงจังหวัดประจันตคีรีเขตให้แก่ฝรั่งเศส กองทหารฝรั่งเศสทั้งหมดก็เริ่มถอนออกไปจากจันทบุรีจนหมดสิ้น เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๔๗ และรัฐบาลไทยได้ย้ายกองทหารเรือที่เกาะจิกและที่อำเภอขลุงกลับเข้ามาตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรีตามเดิม
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลางโดยมีกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นส่วนราช-การที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศและควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว การจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น การปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อย และเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือระบบกินเมือง ให้หมดไป
การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใด ก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ ๆ ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ-กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดี พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงจะขอนำคำจำกัดความของ “การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า
“การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาค อันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑลรองถัดลงไปเป็นเมือง คือ จังหวัดรองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็ว แก่ราชการและธุรกิจของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย”
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้
การเทศาภิบาล นั้น หมายความร่วมว่า เป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน “มณฑลเทศาภิบาล” นั้น คือ ส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม อันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จ-พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่า ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตก บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาล การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรก ที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายนี้ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่า ๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด
พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสียเหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑) การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓) เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔) รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒) อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัด นั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓) ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑) จังหวัด
๒) อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดจันทบุรี . กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง, ๒๕๒๔ .
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น