วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประวัติศาสตร์จังหวัดสมุทรปราการ

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา เมืองสมุทรปราการ ยังไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์จะมีแต่เมืองพระประแดง ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่ขอมสร้างขึ้น เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของขอมซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาและเป็นที่คาดคะเนว่าเมืองพระประแดงก็ยังคงเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้มาจนตลอดสมัยสุโขทัย

สมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่ออำนาจของกรุงสุโขทัยอ่อนลง พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)   ได้
ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี และได้เลือกเอาระบบการปกครองของขอมและสุโขทัยมาปรับปรุงเสียใหม่ และประกาศใช้เป็นระบบการปกครองของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ซึ่งวิธีการจัดระบบการปกครองหัวเมืองแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ
- หัวเมืองชั้นใน มีเมืองป้อมปราการ เป็นด่านชั้นในกับหัวเมืองชั้นในที่อยู่รอบๆ เมืองป้อมปราการเหล่านั้น
- เมืองพระยามหานคร คือ หัวเมืองไกลๆ ที่มอบอำนาจให้เจ้าเมืองปกครองชาวเมืองอย่างเจ้าชีวิต แต่ต้องส่งส่วยให้แก่เมืองหลวง
- เมืองประเทศราช อันได้แก่ เมืองขึ้นต่างๆ
ในสมัยนี้เมืองป้อมปราการด่านชั้นในมี ๔ หัวเมือง คือ
ทิศเหนือ             เมืองลพบุรี
ทิศใต้                เมืองพระประแดง
ทิศตะวันออก       นครนายก
ทิศตะวันตก         สุพรรณบุรี
ต่อมาแผ่นดินที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาได้งอกลงมา ในท้องทะเลทางทิศใต้ ราวๆ ใต้คลองบางปลากดทางฝั่งขวา และแถบตำบลบางด้วน บางนางเกรง ทางฝั่งซ้าย ในปัจจุบันนี้ ฉะนั้นเมืองพระ-ประแดงจึงมิใช่เมืองที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำเช่นเดิม ด้วยแผ่นดินงอกใหม่เกิดขึ้นออกมามากในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมพระองค์ทรงโปรดให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้นให้เป็นหัวเมืองหน้าด่านทางใต้ ณ บริเวณฝั่งใต้ของคลองบางปลากด ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเมืองพระประแดงก็หมดความสำคัญลง และถูกยุบในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เมืองสมุทรปราการนี้มีชื่อปรากฏในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งตราขึ้นเมื่อ พ.. ๒๑๗๘ เวลานั้นตัวเมืองจะตั้งอยู่ที่ไหนยังไม่พบหลักฐาน แต่ได้ความตามจดหมายเหตุฝรั่งว่า ที่ปากคลองบางปลากดฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา มีพ่อค้าชาวฮอลันดามาตั้งห้างพักสินค้าที่นั่น เรียกว่า "นิวอัมสเตอร์ดัมและที่ตรงนี้คราวพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแต่งสมณฑูตไปลังกา กล่าวว่าออกเรือจากเมืองธนบุรีไปถึงตึกฮอลันดา ณ บางปลากด แสดงว่า ตำบลบางปลากดมีคนอยู่มาก อาจเป็นตัวเมืองสมุทรปราการครั้งนั้นก็ได้ และมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองสมุทรปราการ ดังนี้ ()
ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พ.. ๒๑๒๑ พระยาจีนจันตุ ขุนนางเขมรยกทัพไปตีเมืองเพชรบุรีไม่ได้เกิดเกรงความคิด จึงหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแต่ต่อมา เมื่อพระยาจีนจันตุทราบว่า พระยาละแวกไม่เอาโทษ จึงหนีกลับโดยลอบพาครอบครัวลงสำเภาที่ล่องลงไปขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จมาแต่เมืองพิษณุโลก ประทับอยู่ ณ วังใหม่  พระองค์จึงทรงประทับเรือพระ ที่นั่งออกติดตามสำเภาพระยาจีนจันตุไปในคืนวันเดียวกันนั้น ทันกันที่ปากน้ำรับสั่งให้เรือตามเสด็จเข้าล้อมสำเภาไว้ เกิดรบพุ่งกัน พระยาจีนจันตุได้ยิงปืนลงมาต้องพระแสงปืนต้นที่ทรงนั้นแตกออกพระยาจีนจันตุถือโอกาสนั้นโล้สำเภาหลบหนีไปได้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะเสด็จไล่ตามก็ไม่ทันจึงยกทัพเรือกลับ
ใน พ.. ๒๑๖๓ แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีเรือกำปั่นโปรตุเกส เข้ามาด้วยพบเรือฮอลันดา ที่บริเวณปากน้ำ ก็จับเรือฮอลันดาเอาไว้ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงทราบโปรดให้ทหารลงไปบังคับโปรตุเกสให้คืนเรือแก่ฮอลันดา เหตุนี้จึงทำให้โปรตุเกสเคืยงไทย เลิกห้างค้าขายในกรุงศรีอยุธยาแล้วให้กองทัพเรือมาปิดอ่าวเมืองมะริด
ใน พ.. ๒๑๗๓ พวกญี่ปุ่นที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เกิดขัดใจขึ้นกับไทย ถึงกับต่อญี่ปุ่นจึงลงเรือสำเภาหนีไป กองทัพเรือไทยตามทันที่ปากน้ำ ได้เกิดการต่อสู้กันที่บริเวณปากน้ำปรากฏว่าญี่ปุ่นพากันหนีไปได้
ใน พ.. ๒๒๐๗ พวกฮอลันดา ที่มาค้าขายอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เคืยงว่าทางราชการไทยทำการค้าขายผูกขาด แต่ผู้เดียวเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เสียประโยชน์ของพวกฮอลันดาจึงเลิกการค้าขายกับไทยและกลับไปเสียจากกรุงศรีอยุธยาแล้วเอาเรือรบมาปิดปากน้ำ
.. ๒๒๓๑ ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ไทยต่อสู้กับทหารฝรั่งเศสที่เข้ามารักษาป้อมวิชัยประสิทธิ์ครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในการต่อสู่กันนี้ไทยตั้งค่ายรายปืนที่บริเวณปากน้ำ และจับเรือฝรั่งเศสคุมมาได้ ๒ ลำ ครั้นเมื่อตกลงกันว่าต่างจะปล่อยกลับไปบ้านเมืองของตนเอง แต่ให้มีตัวประกันไปด้วย จนถึงปากน้ำจึงจะแลกเปลี่ยนตัวประกันกับฝ่ายไทย แต่พวกตัวประกันที่ไทยยึดไว้ได้หนีลงเรือฝรั่งเศสไปโดยไม่คืนตัวประกันฝ่ายไทยให้ตามที่ตกลงกัน ไทยจึงต้องจับพวกบาทหลวงที่เหลืออยู่ในกรุงศรีอยุธยาขังต่อไป

สมัยกรุงธนบุรี
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.. ๒๓๑๐ เมืองสมุทรปราการได้ถูกกองทัพพม่ากวาดต้อนผู้คนปล้นสดมภ์ยับเยิน วัดและบ้านเมืองกลายเป็นเมืองร้างอยู่พักหนึ่ง ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้า-ตากสินมหาราชทรงกู้บ้านเมืองเอาไว้ได้ และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีเมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ผู้คนในเมืองสมุทรปราการที่อพยพหนีภัยสงคราม จึงได้กลับมาตั้งถิ่นฐานเดิม
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินนี้ พระองค์ทรงรื้อกำแพงเมืองพระประแดงเดิมที่ตั้งอยู่เขตราษฎร์บูรณะในปัจจุบัน ไปก่อกำแพงพระราชวังธนบุรีและที่อื่นๆ อย่างรีบเร่ง เนื่องจากไม่มีเวลาเผาอิฐอีกทั้งกำแพงดังกล่าวก็อยู่ใกล้ สะดวกแก่การลำเลียง ดังนั้น เมืองพระประแดงเดิมจึงสิ้นซากนับแต่นั้นมา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสร้าง เมืองพระประแดงขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน สำหรับป้องกันศัตรูซึ่งมาทางทะเลแต่พระองค์ทรงสร้างเพียงป้อมขึ้นไว้ทางฝั่งตะวันออก ๑ ป้อม เรียกว่า ป้อมวิทยาคม
ใน พ.. ๒๓๕๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เป็นแม่กองสร้างปราการเมืองพระประแดงขึ้น ต่อจากที่รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างไว้ทางฝั่งตะวันออกและสร้างป้อมเพิ่มเติมทางฝั่งตะวันตก (ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา) ๕ ป้อม คือ
. ป้อมแผลงไฟฟ้า
. ป้อมมหาสังหาร
๓. ป้อมศัตรูพินาศ
๔. ป้อมจักร์กรด
๕. ป้อมพระจันทร์ พระอาทิตย์
ป้อมทางฝั่งตะวันออก (ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา)
มี ๔ ป้อม คือ
๑. ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย
๒. ป้อมปีศาจสิง
๓. ป้อมราหูจร
๔. ป้อมวิทยาคม
ป้อมเหล่านี้ชักปีกกาถึงกัน ทางหลังเมืองกำแพงล้อมรอบ มียุ้งฉาง ตึกดินและศาลาไว้เครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงขนานนามเมืองพระประแดงนี้ว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์ การสร้างเมืองเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ พ.. ๒๓๕๘ แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายครัวมอญ เมืองปทุมธานี พวกเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ซึ่งหนีภัยพม่าเข้ามาพึ่งพระ-บรมโพธิสมภาร ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นชายฉกรรจ์ ๓๐๐ คน ให้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ เมืองนี้ และทรงแต่งตั้งสมิงทอมา บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ซึ่งเป็นพระยาราม น้องเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย) เป็นพระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม เป็นผู้รักษาเมือง
เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช        องเชียงสือเจ้า
ราชวงศ์ของญวนหนีภัยการเมืองเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  เมื่อองเชียงสือได้กลับไปเป็นใหญ่ในญวนสัมพันธภาพระหว่างไทยกับญวนจึงเป็นไปอย่างแน่นแฟ้นดุจพี่น้อง ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สัมพันธไมตรีที่มีอยู่ด้วยกันเสื่อมคลายลง เกิดกินแหนงแคลงใจกันสาเหตุจากญวนคิดเป็นเจ้าใหญ่นายโตปกครองประเทศเขมร
องต๋ากุน เจ้าเมืองญวน ได้เกณฑ์ไพร่พลญวน - เขมร ผลัดละ ๑๐,๐๐๐ คน ขุดคลองใหญ่จากทะเลสาบเขมร มาออกเมืองบันทายมาศ ใกล้ชายแดนไทยอันจะเป็นเหตุให้ไทยเราได้รับความกระทบกระเทือน เพราะถ้าญวนขุดคลองนี้สำเร็จญวนอาจยกกองทัพเรือมารุกรานไทยเข้าตีหัวเมืองไทยได้ง่ายเข้า เนื่องจากไม่ต้องอ้อมแหลมใหญ่ผ่านทะเล และเมืองบันทายมาศอยู่ใกล้ชายแดนไทยอีกทั้งยังเคยเป็นของไทยมาเก่าก่อน แต่เนื่องจากญวนได้แต่งทูตเข้ามาบังคมพระบรมศพรัชกาลที่ ๑  เลยถือโอกาสถวายสาส์นรัชกาลที่ ๒ ขอเมืองบันทายมาศ โดยที่ไทยเห็นแก่ไมตรีที่มีมาดั้งเดิม พระองค์มิได้เฉลียวพระทัยว่าญวนจะคิดหักหลัง จึงยอมยกเมืองบันทายมาศให้ญวนไป
ฉะนั้น พระองค์จึงแน่พระทัยว่าการขุดคลองของญวนในครั้งนี้นั้น เป็นแผนการของญวนที่คิดจะรุกรานไทย พระองค์จึงทรงพระราชดำริว่า เมืองสมุทรปราการเดิมที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงสร้างไว้ทรุดโทรมลงมากแล้ว ประกอบทั้งอยู่ห่างไกลจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องป้องกันพระนครทางน้ำให้แข็งแกร่งกว่าที่เป็นอยู่ เห็นควรให้สถาปนาเมืองสมุทรปราการขึ้นใหม่ และเลื่อนออกไปให้ใกล้ปากแม่น้ำ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่น-เจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓) เป็นแม่กองร่วมด้วย เจ้าพระยาพระคลัง   (ดิศ บุนนาค) จัดการสร้างเมืองสมุทรปราการขึ้นใหม่ ใน พ.. ๒๓๖๒ เป็นการด่วน โดยทรงกำหนดเขตให้ตรงบริเวณพื้นที่ที่ชาวบ้าน เรียกว่า "บางเจ้าพระยา" (เป็นเทศบาลเมืองสมุทรปราการ กับตำบลบางเมืองในปัจจุบัน) อยู่ระหว่างปากคลองปากน้ำคลองมหาวงศ์ มีป้อมปราการเป็นเมืองหน้าศึก ๖ ป้อมปราการ คือ ()
- ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา (ตะวันออก)
๑. ป้อมประโคนชัย อยู่ที่ปากคลองปากน้ำ
๒. ป้อมนารายณ์ปราบศึก อยู่ในตำบลบางเมือง
๓. ป้อมปราการ อยู่ในตำบลบางเมือง
๔. ป้อมกายสิทธิ์ ในตำบลบางเมือง



- ทางฝั่งขวาของแม่เจ้าพระยา (ตะวันตก) มีป้อมนาคราช
- ส่วนกลางแม่น้ำมีเกาะใหม่เกิดขึ้น จึงสร้างป้อมขึ้นบนเกาะนั้น เรียกว่า "ป้อมผีเสื้อสมุทร" และในครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองปากลัด ในเมืองนครเขื่อนขันธ์ขึ้นมาด้วย
ในการสร้างเมืองสมุทรปราการใหม่นี้ ได้สร้างเสร็จเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ พ.. ๒๓๖๕ ครั้นในวันพุธ เวลา ๐๔.๒๔ น. ได้ฤกษ์เอาแผ่นยันต์ทอง เงิน ทองแดง ดีบุก และศิลา ลงสู่ภูมิบาทแล้วยกเสาหลักเมือง พอวันเสาร์  ๐๕.๒๔ น. ทำพิธีฝังอาถรรพ์แผนยันต์องครักษ์อีกครั้งหนึ่ง เสาหลักเมืองที่ทำพิธียกขึ้นครั้งนั้น เป็นที่ตั้งของ "ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง" ในปัจจุบัน
ใน ปี พ.. ๒๓๖๕ ก่อนหน้าที่จะทำพิธีฝังหลักเมืองไม่นาน อุปราชเมืองนครพนมได้พาสมัครพรรคพวกและบริวารเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารประมาณ ๒,๐๐๐ คน รัชกาลที่ ๒ โปรดให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบคลองมหาวงษ์ในเมืองสมุทรปราการ กับให้ท้าวอินทพิศาล บุตรชายคนโตของอุปราชเมืองนครพนมเป็นพระยาปลัดเมืองสมุทรปราการ
ในระหว่างที่สร้างเมืองสมุทรปราการใหม่อยู่นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จทอดพระเนตรงานก่อสร้างอยู่เสมอ ครั้นวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พ.. ๒๓๖๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ วัดพิชัยสงคราม (วัดนอก) เมืองสมุทรปราการทรงทอดพระเนตรเห็นเกาะหาดทรายข้างป้อมผีเสื้อสมุทร จึงทรงพระราชดำริจะสร้างมหาเจดีย์เพื่อคู่กับชาวเมืองสมุทรปราการที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นไว้ ดังนั้นจึงโปรดให้สร้าง" พระสมุทรเจดีย์" ขึ้นบนเกาะกลางน้ำตรงท้ายป้อมผีเสี้อสมุทรแต่การสร้างได้เริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และเสร็จสิ้นในรัชสมัยของพระองค์
() ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปราบกบฏเวียงจันทน์เสร็จแล้วจะทำสงครามกับญวน พระองค์จึงโปรดให้สร้างป้อมเพิ่มเติมที่เมืองสมุทรปราการ เมื่อปีชวด พ.๒๓๗๑ โปรดให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองสร้างป้อมฝั่งตะวันตก (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อป้อม  ปีกกาต่อจากป้อมประโคมชัยของเดิม, ป้อมตรีเพ็ชร์ สร้างที่บางจะเกรง (บางนาเกรงในปัจจุบัน) เหนือเมืองขึ้นไป
ต่อมา ปีมะเมีย พ.. ๒๓๗๗ โปรดให้กรมสมเด็จพระเคชาดิศร ครั้งดำรงพระยศเป็นกรมขุนเดชาอดิสรกับกรมหมื่นเสพสุนทร กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ สร้างป้อมที่บางปลากด ทางฝั่งตะวันตกข้างเหนือเมืองสมุทรปราการ ชื่อป้อมคงกระพัน ในปีมะเส็ง พ.. ๒๓๘๘ โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง  ไปสร้างป้อมเพิ่มเติมที่เมืองสมุทรปราการ คือ ทำป้อมปีกกาต่อป้อมนาคราช เรียกว่า  ป้อมปีกกาพับสมุทร ส่วนป้อมผีเสื้อสมุทร เดิมทำเป็น ๒ ชั้น ให้รื้อชั้นบนออกเสียชั้นหนึ่งแล้วสร้างปีกกาขยายป้อมออกไปทั้ง ๒ ข้าง และให้ถมศิลาปิดปากอ่าวที่แหลมฟ้าผ่า ๕ กอง ไว้ทางเรือเดินเป็นช่องๆ เรียกว่า
"โขลนทวาร" ถึงปีวอก พ.. ๒๓๙๑ โปรดให้สมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อครั้งเป็นจมื่นไวยวรนารถ เป็นแม่กองสร้างป้อมใหญ่ขึ้นที่ตำบลมหาวงษ์ ทางฝั่งตะวันออกอีกหนึ่งป้อม เป็นป้อมที่ตั้งของแม่ทัพ ชื่อป้อมเสือซ่อนเล็บ
ในปี พ.. ๒๔๓๖ รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความจำเป็นต้องมีป้อมที่ปากอ่าวบริเวณแผ่นดินที่ยื่นออกไปจนถึงตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอเมืองสมุทรปราการ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งมีป้อมปืนสามารถต้านทานกระสุนปืนเรือทันสมัยได้ ประกอบกับเวลานั้นไทยกำลังมีเรื่องพิพาทกับฝรั่งเศล กรณีพิพาทดินแดนทางแม่น้ำโขง ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ ได้สิ้นพระราชทรัพย์ในการสร้างไปทั้งสิ้น ๑๐,๐๐๐ ชั่ง
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล แต่ก็รักษาไว้ไม่ได้นาน เพราะมีประเทศมหาอำนาจตะวันตกมาแสวงหาเมืองขึ้น ทางภาคตะวันออกของทวีปเอเชียประเทศเล็กประเทศน้อยก็ต้องสูญเสียดินแดนแก่มหาอำนาจที่ว่านี้ อย่างไม่มีทางจะเอาดินแดนคืนได้โดยเฉพาะประเทศไทยได้เสียดินแดนให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตกไปทั้งหมด ๑๑ ครั้ง และในการเสียดินแดน ครั้งที่ ๗ มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับเมืองสมุทรปราการ คือ เหตุการณ์รบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อเย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ เนื่องจากในวันนั้น เป็นวันกำหนดการเสด็จมาถึงของอาชดุ๊ค ฟรานซ์เฟอร์ดินานด์ ยุพราชแห่งออสเตรีย โดยจะเดินทางถึงอ่าวไทย เพื่อเยือนประเทศสยาม และในตอนเย็นวันนั้น มีฝนตกตรำๆ ตลอดจนค่ำ เรือรบฝรั่งเศษ  ๒ ลำ และมีเรือสินค้าซึ่งเคยทำการค้าระหว่างกรุงเทพฯ กับไซ่ง่อนเป็นเรือนำร่องเข้ามา ถือโอกาสแล่นเข้ามาเป็นการสวมรอย ทำให้ทหารไทยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นฝ่ายใดแน่นอน จึงเกิดความลังเลใจ เรือรบฝรั่งเศสจึงรอดจากการยิงของทหารไทยที่ป้อมปืนพระจุลจอมเกล้าเข้ามาได้ คงถูกยิงแต่เรือนำร่องและเกยตื้นอยู่ การเข้ามาของเรือรบฝรั่งเศสเป็นการขู่รัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งฝรั่งเศสให้ตอบภายใน ๔๘ ชั่วโมง นอกจากนั้นฝรั่งเศสยังส่งเรือรบอีก ๘ ลำ มาปิดอ่าวไทยเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๓๖ อีกชั้นหนึ่งรัฐบาลไทยได้ยอมตกลงตามเงื่อนไขที่ฝรั่งเศสเรียกร้องเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสจึงยอมถอนกองเรือรบที่ปิดอ่าว เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๓๖ แม้กระนั้นก็ยังยึดจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราดไว้อีก ๑๕ ปี
เหตุการณ์ ร.. ๑๑๒ (..๒๔๓๖) นี้ นอกจากไทยจะถูกปรับเป็นเงินตราอย่างมหาศาลแล้วต้องเสียดินแดนฝั่งช้ายแม่น้ำโขง เป็นเนื้อที่ทั้งหมด ๑๔๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตรให้แก่ฝรั่งเศส ประเทศลาวทั้งหมด อาณาจักรลานช้าง ซึ่งเป็นของไทยมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ พ.. ๒๑๓๖ อยู่กับไทยมาครบ ๓๐๐ ปีพอดี ต้องมาเสียให้ฝรั่งเศสคราวนี้ด้วย และยึดจังหวัดจันทบุรีกับจังหวัดตราดเป็นประกันอีก ๑๕  ปี






การที่ไทยต้องเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสใน ร.. ๑๑๒ (.. ๒๔๓๖ หรือ จ.. ๑๒๕๕) นับว่าเป็นครั้งยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งในจำนวน ๑๑ ครั้ง สร้างความขมขื่นให้ไทยอย่างใหญ่หลวง()
ในระหว่าง พ.. ๒๔๓๕ - ๒๔๓๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงการปกครองพระราชอาณาเขตให้เรียบร้อยเป็นระเบียบ โปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับกรมพระกลาโหมกรมมหาดไทย และกรมท่า ให้มาอยู่ในบังคับบัญชา ของกระทรวงมหาดไทย เพียงกระทรวงเดียว อย่างไรก็ตาม ในการจัดระเบียบการปกครองโอนหัวเมืองต่างๆ ให้มาขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยครั้งนี้ปรากฏว่า เมืองสมุทรปราการและเมืองนครเขื่อนขันธ์ ได้รวมเข้าอยู่ในมณฑลกรุงเทพฯ ขึ้นต่อกระทรวงนครบาลแทน ตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.. ๑๑๔ ()
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงดำริว่านาม "พระประแดง" เป็นเมืองสำคัญมาแต่โบราณกาล สมควรใช้แทนนครเขื่อนขันธ์ เพราะอยู่ติดกันอยู่แล้ว ดังนั้น ใน พ.. ๒๔๕๘ พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ "นคร เขื่อนขันธ์" เป็น "เมืองพระประแดง" สืบมา
ใน พ..๒๔๕๘ รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระบรมราชโองการขยาย เขตกรุงเทพมหานครเสียใหม่ด้วยทรงเห็นว่ากรุงเทพมหานครมีความเจริญขยายออกไปมากแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราช-บัญญัติแบ่งการบังคับบัญชาหัวเมืองใหม่ ยกเลิกมณฑลกรุงเทพฯ เดิมที่รวมท้องที่เมืองนนทบุรี      เมืองมีนบุรี เมืองพระประแดงเมืองสมุทรปราการ แล้วกำหนดเขตเสียใหม่และให้ยกเมืองธัญบุรี      เมืองปทุมธานี ไปสมทบเป็นหัวเมืองขึ้นกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.. ๒๔๕๘ เป็นต้นมา()
ต่อมาในปี พ.. ๒๕๔๙ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเมืองขึ้นเป็นจังหวัด เมืองสมุทรปราการก็กลายเป็นจังหวัดสมุทรปราการ และเมืองพระประแดงก็เป็นจังหวัดพระประแดงต่างหาก จังหวัดสมุทรปราการในตอนนั้นมี ๔ อำเภอ คือเมือง, บางเหี้ย (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบางบ่อ) , บางพลี และเกาะสีชัง (ลดฐานะลงมาเป็นกิ่งอำเภอในภายหลัง เพราะพลเมืองน้อย) และจังหวัดพระประแดง มี ๓ อำเภอ คือ เมืองราษฎร์บูรณะ และพระโขนง
ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลจึงยุบจังหวัดพระประแดงลงมาเป็นอำเภอหนึ่งให้ขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการ อำเภอราษฎร์บูรณะไปขึ้นกับจังหวัด    ธนบุรี และอำเภอพระโขนงไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร
ในปี พ.. ๒๔๘๕ ได้ออกพระราชบัญญัติยุบจังหวัดสมุทรปราการกับจังหวัดอื่นๆ อีก ๔ จังหวัดไปรวมเป็นจังหวัดพระนคร-ธนบุรี แต่ต่อมาในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง  โดยมีกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศ และควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้วการจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น กรมปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการ    ในท้องที่ต่างๆ ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อย และเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือ ระบบกินเมือง ให้หมดไป
การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ  เท่าใดก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก  หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ๆ ส่วนหัวเมืองอื่นๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเสนาบดี พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมืองระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.. ๒๔๓๗ จนถึง พ.. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงจะขอนำคำจำกัดความของ"การเทศาภิบาล" ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า
"การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาคอันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกันโดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑลรองถัดลงไปเป็นเมือง คือ จังหวัดรองไปอีกเป็น อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวง ทบวง กรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญาความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อนเพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็ว แก่ราชการและธุรกิจของประชาชนซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย"
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้
การเทศาภิบาล นั้น หมายความรวมว่า เป็น "ระบบ" การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า "การปกครองส่วนภูมิภาค" ส่วน "มณฑลเทศาภิบาล" นั้น คือ ส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม อันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางและริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ การจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้างและกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่งยากที่จะจัดระเบียบการปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่า ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่กกับในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตก บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาลการจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.. ๒๔๓๗ เป็นต้นมา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับดังนี้
พ.. ๒๔๓๗ เป็นปีแรก ได้วางแผนงาน จัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จกระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายปี เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้วจึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรีมณฑลนครสวรรค์  มณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ตให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.. ๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร
พ.. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่าๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด
พ.. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
พ.. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด
พ.. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายับ

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสียเหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑) การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓) เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑลมณฑลรายงานต่อกระทรวงเป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔) รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒) อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓) ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑. จังหวัด
๒. อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราช-การจังหวัดในการบริหารราชแผ่นดินในจังหวัดนั้น




ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสมุทรปราการ. สมุทรปราการ : วีระการพิมพ์, ๒๕๒๖.









()  "สารานุกรมภูมิศาสตร์ แห่งประเทศไทย" เล่ม ๔ จบบริบูรณ์ รวบรวมโดยสงวน อั้นคง. โรงพิมพ์เฟื่องอักษร, .. ๒๕๑๔ หน้า ๑๖๓๕ - ๑๖๓๙.
() "ตำนานวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา" พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายจำเนียร นครประศาสน์,ผดุงวิทยาการพิมพ์ พ.. ๒๕๑๔,หน้า ๕๔.
() "ตำนานวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา" หน้า ๕๔-๕๖.
() ประเทศสยามเสียดินแดนให้แก่มหาอำนาจตะวันตก ๑๑ ครั้ง ดังนี้
. เสียเกาะหมาก ให้อังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.. ๒๓๒๙ เนื้อที่ ๓๗๕ ตารางกิโลเมตร
. เสียมะริด ทะวาย ตะนาวศรี ให้อังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๓๓๖ เนื้อที่ ๕๕,๐๐๐ ตร.กม.
. เสียแสนหวี เชียงตุง เมืองพง ให้อังกฤษ เมื่อ พ.. ๒๓๖๘ เนื้อที่ ๑๒๐,๐๐๐ ตร.กม.
. เสียสิบสองพันนา ให้อังกฤษ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๓๙๗ เนื้อที่ ๖๐,๐๐๐ ตร.กม.
. เสียแคว้นเขมร  ให้ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๑๐ เนื้อที่ ๑๒๔,๐๐๐ ตร.กม.
. เสียสิบสองจุไทย ให้ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๓๑ เนื้อที่ ๘๗,๐๐๐ ตร.กม.
. เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๓๖ เนื้อที่ ๑๔๓,๐๐๐ ตร.กม.
. เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ให้ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ เนื้อที่ ๖๒,๕๐๐ ตร.กม.
. เสียมณฑลบูรพา ให้ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙ เนื้อที่ ๕๑,๐๐๐ ตร.กม.
๑๐. เสียกะลันตัน,ตรังตานู,ไทรบุรี,ปลิศ, ให้อังกฤษ เมื่อ ๑๐ มีนาคม ๒๔๕๑ เนื้อที่ ๘๐,๐๐๐ ตร.กม.
๑๑. เสียเขาพระวิหาร ให้เขมร เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕ เนื้อที่ ๒ ตร.กม.
จากหนังสือ การเสียดินแดนของชนเชื้อชาติไทย โดย พันเอก ถวิล อยู่เย็น หัวหน้ากองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารบก, กองทัพบก, กองบัญชาการตำรวจภูธรชายแดง จัดพิมพ์เผยแพร่.
() หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรมศิลปากร เอกสาร ร.๕ ม./๑๗
() หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรมศิลปากร เอกสาร ร.๕ ป./๑๗.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น