วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อุทยานแห่งชาติคลองพนม

Image3

Image4

Image5
อุทยานแห่งชาติคลองพนม
เป็นของคนไทยทุกคน โปรดช่วยกันรักษาไว้ให้ลูกหลานของเรา

ข้อมูลทั่วไป

อุทยานแห่งชาติคลองพนม อยู่ในท้องที่ตำบลคลองศก ตำบลพนม และตำบลพลูเถื่อน และตำบลพนม อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูนบางแห่งมีหน้าผาสูงชัน และสวยงามมาก เรียงรายสลับซับซ้อนเชื่อมต่อกันเป็นแนวสันเขา มีฝนตกชุกตลอดปี เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำตาปี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญสายเดียวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีจุดเด่นที่น่าสนใจเช่น ถ้ำแก้ว ถ้ำน้ำลอดเขาวงก์ น้ำตกโตนไทร น้ำตกเขาวงก์ ไผ่เฉียงรุน บัวผุด การล่องแก่งฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งพันธุ์ไม้มีค่าและหายากขึ้นอยู่ เช่น ตะเคียน ตาเสือ จิก เขา กระท้อน ขนุนป่า เสียดช่อ อินทนิล นากบุด หงอนไก่ จำปาป่า เป็นต้น มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 256,500 ไร่ หรือ 410.4 ตารางกิโลเมตร


ความเป็นมา : ตามหนังสือของอุทยานแห่งชาติเขาสก ที่ กษ. 0713(ขส)/68 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2532 ได้ส่งรายงานการสำรวจเบื้องต้นป่าคลองสกและป่าคลองพนม อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย นายเรืองศักดิ์ ทีฆะสุข นักวิชาการป่าไม้ 4 ปฏิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติเขาสก ซึ่งการสำรวจเบื้องต้นพบว่า เห็นสมควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติโดยเร่งด่วน คือ ป่าคลองสกและป่าคลองพนม อยู่ในท้องที่อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่ประมาณ 290,000 ไร่ หรือ 460 ตารางกิโลเมตร สภาพป่าสมบูรณ์เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำตาปี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญสายเดียวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และตามคำสั่งของกรมป่าไม้ที่ 1627/2530 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้ นายธวัธชัย นิลเอก เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ไปดำเนินการสำรวจเพิ่มเติม และจัดตั้งพื้นที่ป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองสกและป่าคลองพนม เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามนัยมาตรา 6 แห่ง พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยให้ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และได้กำหนดชื่ออุทยานแห่งชาติ ประจำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองสกและป่าคลองพนมว่า “อุทยานแห่งชาติคลองสก-คลองพนม” เป็นการชั่วคราว และตามหนังสือกองอุทยานแห่งชาติ ที่ กษ. 0713/1115 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2533 อนุมัติให้ใช้ชื่อ “อุทยานแห่งชาติคลองพนม” และใช้อักษรย่อว่า (คพ)

ตามที่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้ประชุมครั้งที่ 4/2537 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 ได้มีมติเห็นชอบ ให้กรมป่าไม้ดำเนินการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติคลองพนม ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ต่อมาหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ที่ 0204/15466 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2543 ประกาศกำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองสก และป่าพนม ในท้องที่ ตำบลคลองศก ตำบลพนม และตำบลพลูเถื่อน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 105 ก วันที่ 15 พฤศจิกายน 2543



ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศเป็น ภูเขาสูงชัน ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ โดยเฉพาะตอนเหนือของพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูน บางแห่งมีหน้าผาสูงชัน และสวยงาม เรียงรายสลับซับซ้อนเชื่อมติดต่อเป็นแนวสันเขา ยาวจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก จุดสูงสุดจากพื้นอยู่บริเวณตอนกลางของพื้นที่ มีความสูงประมาณ 870 เมตรจากระดับน้ำทะเล พื้นที่ราบมีอยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบระหว่างหุบเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร ปรากฏอยู่ทั่วไป เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของคลองพนมและคลองศก ซึ่งจะไหลไปรวมกับคลองแสงเป็นต้นกำเนิดของคลองพุมดวงที่เป็นสาขาหนึ่งของแม่ น้ำตาปี


ลักษณะภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศของป่า แห่งนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแห่งอื่น ในภาคใต้ของประเทศไทย คือ มีฝนตกชุกตลอดปี ประกอบกับได้รับอิทธิพลของทะเล ซึ่งสามารถรับลมมรสุมได้ทั้งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และอิทธิพลของภูเขาสูงที่เป็นสิ่งกีดขวางลมมรสุม มีป่าไม้ปกคลุมอย่างหนาแน่น จึงทำให้ฝนตกมากกว่าในท้องที่ทั่วๆ ไป ซึ่งสามารถจำแนกได้ชัดเจนเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝนเริ่มจากเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม ฤดูร้อนเริ่มจากเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน โดยมีฝนตกชุกมากที่สุด ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม และมีอากาศร้อนมากที่สุดในต้นเดือนเมษายน


พืชพรรณและสัตว์ป่า

สภาพป่าทั่วทั้ง พื้นที่มีสภาพเป็นป่าดงดิบ อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้มีค่านานาชนิดขึ้นคละปะปนกันอยู่อย่างหนาแน่น ไม้ขนาดใหญ่ ได้แก่ โดแหลม ตะเคียน ยาง ตาเสือ หงอนไก่ กระบาก กระท้อน จิกเขา ขนุนป่า มะม่วงป่า เสียดค่าง อินทนิล นากบุด ลำแพนเขา มังคะ จำปาป่า ยมหอม ฯลฯ พืชพื้นล่าง ได้แก่ ไผ่ ระกำ หวาย เต่าร้าง กูด เฟิน ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบไม้เถานานาชนิดขึ้นอยู่ทั่วๆไป มีความชุ่มชื้นเขียวชอุ่มตลอดปี จากการสำรวจโดย ดร.เต็ม สมิตินันทน์ พบว่า มีพันธุ์ไม้ที่หายากบางชนิด ได้แก่ ตะเคียนชันตาแมว และไม้ยวนแหล เป็นเขตกระจายพันธุ์ของพันธุ์ไม้ทั้งสองชนิด

ไผ่เฉียงรุน เป็นไม้ไผ่ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสำรวจพบในประเทศไทย มีเส้นรอบวงประมาณ 60-80 เซนติเมตร ขนาดลำต้นยาวประมาณ 30-40 เมตร ความหนาของเนื้อไม้ประมาณ 1 นิ้วฟุต ไผ่เฉียงรุนจะไม่ขึ้นปะปนกับไม้ไผ่ชนิดอื่น จะอยู่เป็นหมู่ๆ กอละ 20-30 ลำ สำรวจพบอยู่บนพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ บน “เขาพรุชิง”

เนื่องจากสภาพป่าแห่งนี้ มีสภาพที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด สัตว์ป่าที่สำคัญ ได้แก่ ช้างป่า กวางป่า สมเสร็จ เสือ หมี เลียงผา หมูป่า ชะนี ลิง ค่าง ไก่ฟ้า กระรอก เก้ง กระจง นกนานาชนิด และสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ

แหล่งท่องเที่ยว
ที่ติดต่อและการเดินทาง
ที่พัก-บริการ
จอง ที่พัก-บริการ
สิ่งอำนวยความสะดวก

Image6 Image7 Image8 Image9 Image10 Image11 Image12 Image13 Image14 Image15 Image16 Image17


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น