วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อุทยานแห่งชาติเขาสก

Image3

Image4

Image5

อุทยานแห่งชาติเขาสก
เป็นของคนไทยทุกคน โปรดช่วยกันรักษาไว้ให้ลูกหลานของเรา
ข้อมูลทั่วไป

อุทยานแห่งชาติเขาสกดินแดนศูนย์กลางของ “ขุนเขาแห่งป่าฝน” เป็นผืนป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญของภาคใต้อันประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติเขาสก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา อุทยานแห่งชาติศรีพังงา และอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,296,879.5 ไร่ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อุดมไปด้วยพืชพรรณมากมายหลายชนิด ทั้งพืชพรรณที่หายากและเป็นพืชเฉพาะถิ่น อันได้แก่ บัวผุด ปาล์มเจ้าเมืองถลางหรือปาล์มหลังขาวและปาล์มพระราหู นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะพบสัตว์ป่าสงวนถึง 4 ชนิด คือ เก้งหม้อ เลียงผา สมเสร็จ และแมวลายหินอ่อน และประกอบกับสภาพพื้นที่มีทิวทัศน์ ที่สวยงาม มีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติทั้งน้ำตก หน้าผา ถ้ำ และ ทิวทัศน์เทือกเขาหินปูนที่ตั้งตระหง่านเหนือผืนน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัช ชประภา จนได้รับฉายาว่า กุ้ยหลินเมืองไทย


อุทยานแห่งชาติเขาสกจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลอง หยีและคลองพระแสง ในท้องที่ตำบลคลองศก ตำบลพังกาญจน์ ตำบลพนม อำเภอพนม ตำบลพะแสงและตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่ 645.52 ตารางกิโลเมตร หรือ 403,450 ไร่ โดยประกาศในราชกิจานุเบกษาเล่มที่ 97 ตอนที่ 197 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2523 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 22 ของประเทศไทย ต่อมาได้มีการปรับปรุงแนวเขตและเพิกถอนบริเวณทับซ้อนกับแนวเขตนิคมสหกรณ์พนม ได้ทำการผนวกพื้นที่น้ำเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภาเข้าเป็นอุทยานแห่ง ชาติเขาสก รวมมีเนื้อที่ทั้งหมด 738.74 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 461,712.5 ไร่ ตามประกาศพระราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 111 ตอนที่ 32 ก เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2537



ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติเขาสก อยู่บริเวณตอนใต้ของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 08 องศา 50 ลิบดา 43 พิลิบดา – 09 องศา 17 ลิบดา 24 พิลิบดา เหนือ และระหว่างเส้นแวงที่ 98 องศา 30 ลิบดา 44 พิลิบดา – 98 องศา 90 ลิบดา 13 พิลิบดา ตะวันออก มีอาณาเขตทิศเหนือจดเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าคลองแสง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา ทิศใต้จดนิคมสหกรณ์พนม ทิศตะวันออกจดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและเขื่อนรัชชประภา และทิศตะวันตกจดอุทยานแห่งชาติศรีพังงา

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาดินและภูเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน โดยเฉพาะช่องแคบเขากาเลาะมีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนที่มียอดแหลมระเกะระกะ มีแนวหน้าผาสูงชันบางแห่งเป็นแท่งสูงขึ้นไปในอากาศคล้ายหอคอยสูง ที่ราบมีไม่มาก มีสภาพป่าเป็นป่าดงดิบที่สมบูรณ์มากเป็นป่าต้นน้ำลำธารของคลองศกและคลองพะ แสง ไหลมาบรรจบรวมกันเป็นต้นกำเนิดของคลองพุมดวง ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งที่สำคัญของแม่น้ำตาปี จุดสูงสุดมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 961 เมตร โดยเฉลี่ยสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร และลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินเหนียวปนทรายมีสีแดง บางแห่งเป็นดินลูกรังแต่มีส่วนน้อย

พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติด้านทิศเหนือเกือบทั้งหมด เป็นทะเลสาบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนรัชชประภา ซึ่งสร้างปิดกั้นคลองพะแสง มีขนาดใหญ่ประมาณ 168 ตารางกิโลเมตร ก่อให้เกิดเกาะเล็กเกาะน้อยประมาณ 162 เกาะ พื้นที่ประมาณ 14.06 ตารางกิโลเมตร เกาะเล็กเกาะน้อยนี้ก็คือ ส่วนที่โผล่พ้นน้ำของเขาหินปูนนั่นเอง ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามยิ่ง


ลักษณะ ภูมิอากาศ

บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสกได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งสอง ฝั่ง คือทั้งด้านมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ฝนจะเริ่มตกตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน จนถึงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี และจะตกชุกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน ช่วงที่เหมาะในการเข้าไปชมอุทยานแห่งชาติเขาสกจะอยู่ในระหว่างเดือนธันวาคม - เมษายน ของทุกปี ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 1,636 มิลลิเมตร ฤดูแล้ง เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน อากาศร้อน และอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย มีฝนตกบ้างไม่มากนัก อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด คือเดือนเมษายน อุณหภูมิเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดคือ เดือนมกราคม มีอุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส


พืชพรรณและสัตว์ป่า

สภาพป่าโดยทั่วไปของ อุทยานแห่งชาติเขาสกเป็น
ป่าดงดิบชื้น ซึ่งพบเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ส่วนมากกระจัดกระจายอยู่ตามบริเวณที่มีความชุ่มชื้นมาก ลักษณะสภาพทั่วไปรกทึบ มีเรือนยอดต่อเนื่องจากชั้นบนสุดลงมาถึงพื้นดิน พันธุ์ไม้ที่พบสำคัญได้แก่ ยางเสียน นาคบุตร ตะเคียนทอง จิกเขา ไข่เขียว ตาเสือ ตังหนใบใหญ่ สะตอ คอแห้ง เสียดช่อ เต้าหลวง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ ปาล์มช้างไห้ หวายขริง หวายเดา เร่ว และปุด เป็นต้น ในบริเวณที่เป็นสันเขาและหน้าผาหินปูนจะพบสังคมพืชของ

ป่าเขาหินปูน พืชพรรณที่สามารถขึ้นอยู่ได้ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นที่ทนแล้ง รวมไปถึงพืชล้มลุกที่มีระบบรากยึดเกาะตามหน้าผาได้ดี พืชที่พบได้แก่ จันทน์ผา กำลังหนุมาน เตยเขา มะนาวผี ตะเคียนหิน มลายเขา พลับพลา สลัดไดป่า เป็นต้น จากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาสก จึงเป็นแหล่งรวมพืชหายากและพืชเฉพาะถิ่น เช่น บัวผุด หมากพระราหู ปาล์มเจ้าเมืองถลาง รองเท้านารีเหลืองกร เอื้องฝาหอย มหาสดำ สังวาลย์โนรี เป็นต้น บางส่วนของพื้นที่ป่าต้นน้ำคลองศกเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่ารอยต่อของการกระจาย พันธุ์พืช เช่น แดง ยวนแหล และตะเคียนชันตาแมว

บัวผุด มีชื่อวิทยาศาสตร์ Rafflesia kerrii Meijer ถือได้ว่าเป็นดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70-80 เซนติเมตร เป็นกาฝากชนิดหนึ่งที่อาศัยกินน้ำเลี้ยงจากรากและลำต้นของไม้เถาที่ชื่อว่า ย่านไก่ต้ม ( Tetrastigma papillosumplanch ) จะโผล่เฉพาะดอก ซึ่งเป็นดอกเดี่ยวสีแดงคล้ำหรือน้ำตาลปนแดงคล้ำ ขึ้นมาจากพื้นดินในระหว่างฤดูฝนหรือในระยะที่อากาศและพื้นดินยังมีความชุ่ม ชื้นสูงคือระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม

อุทยานแห่งชาติเขาสกเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 415 ชนิด ประกอบด้วย สัตว์ป่าสงวน เช่น สมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ และแมวลายหินอ่อน นอกจากนี้มีสัตว์อื่นๆ เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ หมีขอ ค่างดำ ชะนีธรรมดา ไก่ป่า นกคุ่มอกลาย นกเขาหลวง นกอีวาบตั๊กแตน นกบั้งรอกใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกกะเต็นอกขาว นกโพระดกสวน นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกนางแอ่นบ้าน นกปรอดทอง นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกจับแมลงหัวเทา นกกระติ๊ดตะโพกขาว ตะพาบน้ำ จิ้งจกหางเรียบ กิ้งก่าบินปีกส้ม จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ งูลายสอธรรมดา งูสิงธรรมดา งูปล้องทอง งูเขียวดอกหมาก เขียดบัว กบนา อึ่งลายแต้ม ฯลฯ

ในบริเวนอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนรัชชประภา และแหล่งน้ำต่างในอุทยานแห่งชาติเขาสก อุดมไปด้วยปลาน้ำจืดมากมายหลายชนิด เช่น ปลาแปป ปลาแกง ปลาหนามหลัง ปลาใบไม้ ปลาสร้อย ปลาเล็บมือนาง ปลาปากใต้ ปลารากกล้วย ปลาหมูจุด ปลาแขยงหิน ปลากระทุงเหวเมือง ปลาบู่หมาจู ปลาปักเป้า และปลามังกร เป็นต้น


แหล่งท่องเที่ยว
ที่ติดต่อและการเดินทาง
ที่พัก-บริการ
จอง ที่พัก-บริการ
สิ่งอำนวยความสะดวก

Image6 Image7 Image8 Image9 Image10 Image11 Image12 Image13 Image15 Image16 Image14 Image17 Image18 Image19 Image20 Image21 Image22 Image23 Image24 Image25 Image26 Image27 Image28 Image29

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น