สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา-สมัยธนบุรี
ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดยะลาในปัจจุบันนี้ แต่เดิมจะเป็นท้องที่บริเวณหนึ่งในเมืองปัตตานียังไม่ได้แยกออกมาเป็นเมือง ดังนั้นจึงต้องกล่าวถึงเรื่องราวเบื้องต้นที่เกี่ยวกับเมืองปัตตานี
เมืองปัตตานีมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยตลอดจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น โดย นายโทเม ปิเรส (TOME PIRES) ชาวโปรตุเกสผู้เข้ามาอยู่ในมะละกาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้บันทึกว่า ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๓๑) พระองค์ทรงได้ธิดาของมุขมนตรีแห่งปัตตานีคนหนึ่งเป็นพระสนม๑ ในฐานะเมืองประเทศราช ปัตตานีมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายทุก ๓ ปี ซึ่งในข้อนี้ ลาลูแบร์ (LA
LOUBERE) อัครราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งมากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ได้ยืนยันว่าปัตตานีต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองอย่างละต้น เข้ามาถวายพระมหากษัตริย์ไทยทุกสามปี ปัตตานีเป็นเมืองประเทศราชของไทยเรื่อยมาจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ปัตตานีจึงตั้งตนเป็นอิสระ
ในสมัยธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) ปัตตานีได้ส่งเครื่องราชบรรณาการต่อไประยะหนึ่ง จนถึงปลายสมัยธนบุรีซึ่งเกิดความวุ่นวายภายใน ปัตตานีจึงเป็นอิสระอีก
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองปัตตานี โดยให้เมืองสงขลาเป็นผู้ควบคุมดูแลเมืองปัตตานี (แต่เดิมเมืองปัตตานีอยู่ในความดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช) นอกจากนี้ได้แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ เมือง คือ ปัตตานี ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา รามัน ระแงะ และหนองจิก จึงนับว่าเมืองยะลาได้แยกมาตั้งเป็นเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใน พ.ศ. ๒๓๓๔๒
เมืองยะลาเมื่อแยกออกจากเมืองปัตตานีแล้วมีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับเมืองหนองจิก
ทิศใต้ ตั้งแต่เขาปะวาหะมะ ไปทางทิศตะวันออก ถึงเขาปะฆะหลอ สะเตาะเหนือ บ้านจินแหร จนถึงคลองท่าสาป จดบ้านบันนังสตา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับเมืองยะหริ่ง ตั้งแต่หมู่บ้านโหละเปาะยาหมิง มีสายน้ำยาวไปจดคลองท่าสาป
ทิศตะวันตก ติดต่อเมืองไทรบุรี มีคลองบ้านบาโงย แขวงเมืองเทพา เป็นเขตขึ้นไปจนถึงบ้านยินงต่อไปจนถึงบ้านเหมาะเหลาะ
ส่วนเจ้าเมืองที่ปกครองเมืองยะลานั้น ปรากฏหลักฐานว่าก่อน พ.ศ. ๒๓๖๐ มีต่วนยะลา เป็นพระยายะลา โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านยะลา ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่ตั้งตัวเมืองยะลาครั้งแรก ต่อมาพระยายะลา (ต่วนยะลา) ถึงแก่กรรม พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ซึ่งว่าราชการเมืองสงขลา ให้ต่วนบางกอก ซึ่งเป็นบุตรพระยายะลา รักษาราชการเมืองยะลา แล้วนำความขึ้นไปกราบบังคมทูลให้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงทราบ ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามความประสงค์ของพระยาสงขลา และพระราชทานตราตั้งให้พระยาสงขลาเชิญออกไปตั้งให้ต่วนบางกอกเป็นพระยายะลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๐ โดยยังคงว่าราชการอยู่บ้านเจ้าเมืองคนเก่า ไม่ได้ย้ายเมืองไป ที่อื่น
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยายะลา (ต่วนบางกอก) ร่วมกับพระยาปัตตานี (ต่วนสุหลง) พี่ พระยาหนองจิก (ต่วนกะจิ) น้อง และพระยาระแงะ (หนิเดะ) คิดกันเป็นกบฎ โดยตีบ้านพระยายะหริ่ง (พ่าย) แล้วเข้าตีเมืองจะนะ เมืองเทพา พระยาสงขลามีใบบอกเข้ามากรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพออกไปสมทบช่วยเมืองสงขลา ครั้งกองทัพพระยาเพชรบุรีออกไปถึงเมืองสงขลาก็รวบรวมกำลังสมทบกับกองทัพพระยาสงขลายกออกไปตีตั้งแต่เมือง จะนะ เมืองเทพา ตลอดจนถึงเมืองระแงะ จับพระยาปัตตานี พระยายะลา พระยาหนองจิก ได้ที่ตำบลบ้านโต๊ะเดะ ในเขตแขวงเมืองระแงะ ส่วนพระยาระแงะหนีไปได้ ในระหว่างนั้นพระยาสงขลาได้ให้หลวงสวัสดิ์ภักดี (ยิ้มซ้าย) ซึ่งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองยะหริ่งไปรักษาราชการเมืองยะลา หลวงสวัสดิ์ภักดีก็ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลวังตระ แขวงเมืองยะลา
เมื่อหลวงสวัสดิ์ภักดี ไปเป็นเจ้าเมืองยะหริ่งแล้ว พระยาสงขลาก็ได้นำตัวนายเมือง ซึ่งเป็นบุตรพระยายะหริ่ง (พ่าย) เข้ากรุงเทพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งให้นายเมืองเป็นพระยายะลา โดยได้รับพระราชทานนามบรรดาศักดิ์ว่า พระยาณรงค์ฤทธี ศรีประเทศวิเศษวังษา (เมือง)๓ ซึ่งได้เป็นเจ้าเมืองยะลาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๐ โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าสาป ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) ต่วนบาตูปุเต้ เป็นพระยายะลา
ครั้งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ต่วนกะจิ บุตรพระยายะลา (ต่วนบาตูปุเต้) เป็นเจ้าเมืองยะลา ปรากฏหลักฐานว่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีใบบอกจากเจ้าเมืองยะลาเพื่อแจ้งรายการเก็บภาษีขาเข้ามายังกรุงเทพฯ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๒๙-๒๔๓๒ โดยพระยายะลาได้จัดให้เถ้าแก่แฮและหันเฉียง เป็นผู้เก็บเงินภาษีขาเข้าที่บ้านท่าสาปในอัตราร้อยชักสาม ซึ่งปรากฏว่า มีลูกค้าทั้งไทย จีน บรรทุกสินค้ามาขายที่ท่าสาปอย่างคับคั่ง สำหรับสินค้าที่มีการซื้อขายและเก็บภาษี ได้แก่ ไม้ขีดไฟ ผ้าขาว ผ้าลาย ผ้าดำ ธูปจีน เกลือ ด้ายสีต่าง ๆ (สีดำ ขาว เหลือง) น้ำมันมะพร้าว ยาแดง กุ้งแห้ง น้ำตาล กรวด น้ำตาลโตนด กะทะเหล็ก ปลาเค็ม ข้าว๔ จากหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่าบริเวณบ้านท่าสาปเป็นที่ตั้งของเมืองยะลา ซึ่งมีความเจริญและเป็นย่านการค้าของเมืองยะลาในสมัย รัชกาลที่ ๕
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาค โดยดำเนินการปกครองแบบเทศาภิบาล สำหรับบริเวณ ๗ หัวเมือง ก็ได้ประกาศข้อบังคับสำหรับ ปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ร.ศ. ๑๒๐ กำหนดให้บริษัท ๗ หัวเมือง (ประกอบด้วยเมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา ระแงะ และรามันห์) มีพระยาเมือง เป็นผู้รักษาราชการบ้านเมือง แต่ละเมืองต่างมีหน่วยบริหารราชการของตนเอง แต่จะมีข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานทั่วไป โดยอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช
ในแต่ละเมืองจะมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ดังนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ พระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณได้แบ่งแต่ละเมืองเป็นอำเภอต่าง ๆ
๑. เมืองปัตตานี แบ่งเป็น ๒ อำเภอ คือ อ.กลางเมืองกับ อ.ยะรัง
๒. เมืองรามัน แบ่งเป็น ๒ อำเภอ คือ อ.กลางเมืองกับ อ.เบตง
๓. เมืองหนองจิก แบ่งเป็น ๒ อำเภอ คือ อ.กลางเมืองกับ อ.เมืองเก่า
๔. เมืองสายบุรี แบ่งเป็น ๓ อำเภอ คือ อ.กลางเมือง, อ.ยิงอ และ อ.บางนรา
๕. เมืองระแงะ แบ่งเป็น ๓ อำเภอ คือ อ.กลางเมือง, อ.โต๊ะโมะ และ อ.สุไหงปาดี
๖. เมืองยะหริ่ง แบ่งเป็น ๓ อำเภอ คือ อ.กลางเมือง, อ.ปะนาเระ และ อ.ระเกาะ
๗. เมืองยะลา แบ่งเป็น ๓ อำเภอ คือ อ.กลางเมือง, อ.ยะหา และ อ.กะลาพอ
ต่อมาในวันที่ ๒๗ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้ประกาศตั้งหัวเมืองทั้ง ๗ เป็นมณฑลปัตตานี โดยยุบเมืองเล็ก ๆ ลงเหลือ ๔ เมือง คือ
๑) รวมเมืองหนองจิก ยะหริ่ง ปัตตานี ขึ้นเป็นเมืองปัตตานี
๒) รวมเมืองรามัน ยะลา ขึ้นเป็นเมืองยะลา
๓) เมืองสายบุรียังคงเป็นเมืองสายบุรี (ภายหลังยุบเป็นตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี)
๔) เมืองระแงะยังคงเป็นเมืองระแงะ (ภายหลังรวมตั้งเป็นจังหวัดนราธิวาส)
โดยมีพระยาศักดิ์เสนีเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี ซึ่งได้ปรากฏหลักฐานว่าในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ พระยาศักดิ์เสนีได้ตรวจราชการมณฑลปัตตานี ซึ่งรวมถึงการตรวจราชการเมืองยะลาด้วย และจาก รายงานการตรวจราชการทำให้ทราบถึงสภาพของเมืองยะลาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งในด้านการปกครองเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น๖
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ประกาศยุบเลิกมณฑลปัตตานี ทั้งนี้ เพราะการคมนาคมสะดวกขึ้นการดูแลปกครองบังคับบัญชาทำได้รัดกุมยิ่งขึ้น และเพื่อประหยัดรายจ่ายเงินแผ่นดิน และต่อมาได้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร จังหวัดยะลาก็เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยสืบต่อมาจนทุกวันนี้
๖ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เอกสารรัชกาลที่ ๕ ม.๒.๑๔/๗๓
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดยะลา. ยะลา : ยะลาการพิมพ์, ๒๕๒๙.
๑ A TEEUW AND D.K. WYATT. HIKAYAT PATTANI : THE STORY OF
PATTANIP. ๕-๖ (อ้างอิงมาจากการปฏิรูปการปกครองมณฑลปัตตานี
โดย สมโชติ อ๋องสกุล หน้า ๓๐–๓๑)
๒ หลักฐานเกี่ยวกับระยะเวลาที่ดำเนินการแบ่งปัตตานีเป็น ๗ หัวเมือง
ระบุต่างกัน เช่น พงศาวดารเมืองปัตตานี และตำนานเกี่ยวกับประวัติเมืองปัตตานี
ระบุว่าการแบ่งปัตตานีเป็น ๗ เมือง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากการปฏิรูปการปกครองมณฑลปัตตานี
โดย สมโชติ อ๋องสกุล หน้า ๔๐
๓ บรรดาศักดิ์นี้ได้ใช้สืบต่อกันเรื่อยมาจนกระทั่งยุบเลิกการปกครองบริเวณ
๗ หัวเมือง และเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ใน พ.ศ. ๒๔๔๙
๕ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ
กรมศิลปากร เอกสารรัชกาลที่ ๕ ม.๒.๑/๒ รายชื่อมณฑลและเมืองที่แบ่งการปกครอง ร.ศ. ๑๒๖
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น