ประวัติเมืองนราธิวาส เดิมมีฐานะเป็นเพียงอำเภอหนึ่ง เรียกว่า อำเภอบางนรา ขึ้นอยู่กับเมืองสายบุรี ต่อมาได้โอนไปขึ้นกับเมืองระแงะ ดังนั้นการที่จะทราบถึงประวัติความเป็นมาของเมือง
นราธิวาส จะต้องกล่าวถึงเรื่องราวของเมืองปัตตานี เมืองสายบุรีและเมืองระแงะ ซึ่งเป็นบริเวณหัวเมือง เป็นลำดับติดต่อกันไป
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกกองทัพหลวงลงมาปักษ์ใต้ เพื่อปราบปรามข้าศึกที่ยกเข้ามารุกรานพระราชอาณาเขตทางใต้ เมื่อข้าศึกแตกพ่ายหนีไปหมดแล้วจึงได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองสงขลา แล้วได้มีรับสั่งออกไปถึงหัวเมืองมลายูทั้งหลาย ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นกับกรุงศรีอยุธยามาแต่ก่อนให้มาอ่อนน้อมเหมือนดังเดิม
พระยาไทรบุรี พระยาตรังกานู ยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่พระยาปัตตานีตั้งแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อม จึงได้รับสั่งให้ยกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒
เมื่อได้เมืองปัตตานีแล้ว ก็โปรดเกล้าพระราชทานตราตั้งให้พระยาสงขลา (บุญฮุย) เป็นพระยาปัตตานี และให้อยู่ในความกำกับดูแลของเมืองสงขลาต่อไป และตั้งให้เป็นเมืองตรี ขึ้นอยู่กับกรุงรัตนโกสินทร์โดยตรง ในระหว่างที่พระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ว่าราชการเมืองปัตตานีอยู่นั้น บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุขตลอดมา
ครั้นต่อมาเมื่อพระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ ให้นายพ่าย น้องชายของพระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ขึ้นว่าราชการเป็นพระยาปัตตานีและแต่งตั้งให้นายยิ้มซ้าย บุตร
พระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) เป็นหลวงสวัสดิภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองปัตตานี และได้ย้ายที่ว่าการเมืองปัตตานีจากบ้านมะนา (อ่าวนาเกลือ) ไปตั้งที่บ้านยามู
ในระหว่างนั้นพวกซาเห็ดรัตนาวงศ์ฯ และพวกโมเซฟได้เริ่มก่อกวนความสงบสุขของบ้านเมือง โดยคบคิดกันเข้าปล้นบ้านพระยาปัตตานี (พ่าย) และบ้านหลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ผู้ช่วยราชการเมืองปัตตานี แต่ก็ได้ถูกตีถอยหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่ตำบลบ้านกะลาพอ เขตเมืองสายบุรี
นอกจากนั้นเมืองปัตตานีมีอาณาเขตกว้างขวาง และมีโจรผู้ร้ายปล้นบ้านเรือนราษฎร
ชุกชุมยิ่งขึ้น จนเหลือกำลังที่พระยาปัตตานี (พ่าย) จะปราบให้สงบราบคาบลงได้ก็แจ้งข้อราชการไปยังเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถี้อนจ๋อง) ออกมาปราบปรามและจัดวางนโยบายแบ่งแยก เมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ แล้วทูลเกล้าถวายรายชื่อเมืองที่แยกออกไปดังนี้ คือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก และเมืองยะลา เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองสายบุรี และเมืองยะหริ่ง
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงคราม กับพระยาสงขลา (เถี้อนจ๋อง) เป็นผู้เชิญตราตั้งออกไปพระราชทานแก่เจ้าเมืองทั้ง ๗ หัวเมือง ตามรายชื่อที่จัดไว้ ดังนี้
๑. ตั้งให้ตวนสุหลง เป็น พระยาปัตตานี
๒. ตั้งให้ตวนหนิ เป็น พระยาหนองจิก
๓. ตั้งให้ตวนยะลอ เป็น พระยายะลา
๔. ตั้งให้ตวนหม่าโล่ เป็น พระยารามัน
๕. ตั้งให้หนิเดะ เป็น พระยาระแงะ
๖. ตั้งให้หนิดะ เป็น พระยาสายบุรี
๗. ตั้งให้นายพ่าย เป็น พระยายะหริ่ง
ระเบียบแบบแผนและวิธีปฏิบัติราชการในสมัยนั้น สำหนับเมืองยะหริ่ง เมืองยะลา และเมืองหนองจิก ให้ใช้ตามแบบเมืองสงขลาทั้งสิ้น ส่วนเมืองปัตตานี เมืองสายบุรี เมืองระแงะ และเมือง รามัน ให้พระยาสงขลา (เถี้ยนเส็ง) แต่งตั้งกรรมการออกไประวังตรวจตราและแนะนำข้อราชการอยู่เป็นประจำ บ้านเมืองจึงสงบเรียบร้อยตลอดมา
เมื่อแบ่งแยกหัวเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง ในครั้งนั้นพระยาระแงะ (หนิเดะ) ตั้ง
บ้านเรือนว่าราชการอยู่ที่ตำบลบ้านระแงะ ริมพรมแดนติดต่อกับเขตเมืองกลันตัน ซึ่งเป็นต้นทางที่จะไปยังโต๊ะโมะ เหมืองทองคำ ส่วนพระยาสายบุรี (หนิดะ) ตั้งบ้านเรือนว่าราชการอยู่ที่ตำบลบ้านยี่งอ (อำเภอยี่งอปัจจุบัน) บ้านเมืองเป็นปกติสุขเรียบร้อยอยู่หลายปี
ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาปัตตานี (ตวนสุหลง)
พระยาหนองจิก (ตวนกะจิ) พระยายะลา (ตวนบางกอก) พระยาระแงะ (หนิเดะ) เจ้าเมืองทั้ง ๔ ได้ สมคบร่วมคิดกันเป็นกบฏขึ้นในแผ่นดิน โดยรวบรวมกำลังพลออกตีบ้านพระยายะหริ่ง (พ่าย) แล้วเลยออกไปตีเมืองเทพฯ และเมืองจะนะ พระยาสงขลา (เถื้ยนเส้ง) ทราบข่าว ก็มีใบบอกเข้าไปยังกรุงเทพฯ สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดเกล้าให้พระยาเพชรบุรี เป็นแม่ทัพบก ออกมาสมทบช่วยกำลังเมืองสงขลาออกทำการปราบปรามตั้งแต่เมืองจะนะ เมืองเทพฯ ตลอดถึงเมืองระแงะ ตัวพระยาระแงะ (หนิเดะ) ซึ่งเป็นสมัครพรรคพวกร่วมคิดกันเป็นกบฏกับพระยาปัตตานีนั้นหนีรอดตามจับไม่ได้
พระยาเพชรบุรีและพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) พิจารณาเห็นว่าในระหว่างที่ทำการรบอยู่
นั้น หนิบอสู ชาวบ้านบางปูซึ่งพระยายะหริ่งแต่งตั้งให้เป็นกรมการเมืองยะหริ่ง ได้เป็นกำลังสำคัญ และได้ทำการสู้รบด้วยความกล้าหาญยิ่ง ด้วยคุณงามความดี อันนี้ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้รักษาราชการเมืองระแงะสืบต่อจากพระยาระแงะ (หนิเดะ) ที่หนีไป และได้ย้ายที่ว่าราชการ เมืองระแงะจากบ้านระแงะริมพรมแดนติดต่อกับเขตเมืองกลันตันมาตั้งที่ว่าราชการเสียใหม่ ณ ตำบลตันหยงมัส (อำเภอระแงะปัจจุบัน)
ต่อมาเมื่อพระยาระแงะ (หนิบอสู) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ตวนโหนะ บุตรพระยาระแงะ (หนิบอสู) ว่าราชการเมืองระแงะแทน มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาคีรีรัตนพิศาล ตั้งบ้านเรือนว่าราชการเมืองอยู่ที่บ้านพระยาระแงะ (หนิบอสู) บิดา
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ถึงกำหนดเวลาที่บริเวณ ๗ หัวเมืองจะต้องนำต้นไม้เงินต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดิน ณ กรุงรัตนโกสินทร์ แล้วเจ้าเมืองทั้ง ๗ ได้เข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดีด้วยความพร้อมเพรียงกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรปูนบำเหน็จความดีความชอบให้ และได้ใช้สืบต่อกันมาจนกระทั่งยุบเลือกการปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ดังนี้
๑. เจ้าเมืองปัตตานี “พระยาวิชิตภักดี ศรีสุรวังษา รัตนาเขตประเทศราช”
๒. เจ้าเมืองหนองจิก “พระยาเพชรภิบาลนฤเบศร์” วาปีเขตร์มุจลินทร์นฤบดินทร์สวา- มิภักดิ์
๓. เจ้าเมืองยะลา “พระยาณรงค์ฤทธิ์ ศรีประเทศวิเศษวังษา”
๔. เจ้าเมืองสายบุรี “พระยาสุริยสุนทรบวรภักดี ศรีมหารายา” มัตตาอับดุล วิบูลย์ขอบเขตร์ ประเทศมลายู”
๕. เจ้าเมืองรามัน “พระยารัตนภักดี ศรีราชบดินทร์ สุรินทรวิวังษา”
๖. เจ้าเมืองยะหริ่ง “พระยาพิพิธเสนามาตรดาธิบดี ศรีสุรสงคราม”
๗. เจ้าเมืองระแงะ “พระยาภูผาภักดี ศรีสุวรรณประเทศ วิเศษวังษา”
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงให้ยกเลิกการปกครองแบบเก่าเสียเพราะการแบ่งเขตแขวงการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการในหัวเมืองทั้ง ๗ ยังก้าวก่ายกันอยู่หลายอย่าง หลายประการ จึงได้วางระเบียบแบบแผนการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการให้เป็นระเบียบตามสมควรแก่การสมัย โดยให้หัวเมืองทั้ง ๗ คงเป็นเมืองอยู่ตามเดิม และให้พระยาเมืองเป็นผู้รักษาราชการต่างพระเนตรพระกรรณ มีกองบัญชาการเมืองให้พระยาเมืองเป็นหัวหน้าปลัดเมือง ยกกระบัดเมือง และผู้ช่วยราชการเมือง รวม ๔ ตำแหน่ง รองตามลำดับ นอกนั้นให้มีกรมการชั้นรองเสมียนพนักงานตามสมควร เพื่อให้ราชการบ้านเมืองเป็นไปโดยสะดวกดีและอาณาประชาราษฎร์มีความอยู่เย็นเป็นสุข โดยมิให้กระทบกระเทือนต่อขนบธรรมเนียมประเพณี และสิ่งที่งามทั้งหลายในหัวเมืองเหล่านั้นแต่ประการใด
สำหรับการตรวจตราแนะนำข้อราชการเมืองทั้งปวง ให้เป็นหน้าที่ของข้าหลวงใหญ่ ประจำบริเวณ ๗ หัวเมือง คนหนึ่งมีหน้าที่ออกแนะนำข้อราชการเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับของท้องตรากรุงเทพฯ และสอดคล้องกับคำสั่งของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชอีกด้วย
พระยาเมืองที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยดี ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระ-
ราชทานผลประโยชน์ให้พอเลี้ยงชีพและรักษาบรรดาศักดิ์ตามสมควรแก่ตำแหน่ง และพระราชทานผลประโยชน์ที่เก็บได้เพื่อหักค่าใช้จ่ายไว้เป็นเงินสำหรับบำรุงบ้านเมืองเป็นปีๆ ไป แล้วอีกส่วนหนึ่งด้วย ถ้าต้องออกจากราชการในหน้าที่ด้วยเหตุผลทุพพลภาพ ด้วยเหตุประการหนึ่งประการใดก็ดี จะได้รับพระราชทานเบี้ยเลี้ยงบำนาญอีกต่อไป
เรื่องการศาล จัดให้มีศาลเป็น ๓ ชั้น คือ ศาลบริเวณ ศาลเมือง ศาลแขวง มีผู้พิพากษาสำหรับศาลเหล่านั้นพิจารณาคดีตามพระราชกำหนดกฎหมาย เว้นแต่คดีแพ่งที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก ซึ่งอิสลามิกชนเป็นโจทก์และจำเลย หรือเป็นจำเลยให้ใช้กฎหมายอิสลามแทนบทบัญญัติกฎหมายแพ่งพาณิชย์ เว้นแต่บทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดกยังคงต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับ
การใช้กฎหมายอิสลามในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีดังกล่าวตามข้อบังคับสำหรับการปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ร.ศ. ๑๒๐ เรียกตุลาการตำแหน่งนี้ว่า “โต๊ะกาลี” ต่อมาจึงได้มีข้อกำหนดไว้ในศาลตรากระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๔๖๐ เรียกตำแหน่งนี้ว่า “ดาโต๊ะยุติ-ธรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับตำแหน่ง “เสนายุติธรรม” ในมณฑลพายับ ดาโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้รู้และเป็นที่นับถือของอิสลามิกชนเป็นผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลาม
ต่อมาได้มีการประกาศพระบรมราชโองการ ให้จัดตั้งมณฑลปัตตานีเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ มีสาระสำคัญว่า แต่ก่อนมาจนถึงเวลานี้บริเวณ ๗ หัวเมือง มีข้าหลวงใหญ่
ปกครองขึ้นอยู่กับข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ทรงพระตำหนิเห็นว่าทุกวันนี้ การค้าขายในบริเวณ ๗ หัวเมือง เจริญขึ้นมากและการไปมาถึงกรุงเทพฯ ก็สะดวกกว่าแต่ก่อน ประกอบกับบริเวณ ๗ หัวเมืองมีท้องที่กว้างขวางและมีจำนวนผู้คนมากขึ้น สมควรจะแยกออกเป็นมณฑลหนึ่งต่างหาก ให้สะดวกแก่ราชการ และจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนได้ จึงแยกบริเวณ ๗ หัวเมืองออกมาจากมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง เรียกว่า “มณฑลปัตตานี ” ให้พระยาศักดิ์เสนีเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลปัตตานี
ในมณฑลปัตตานีมีเมืองที่เข้ามารวม ๔ เมือง คือ เมืองปัตตานี (รวมเมืองหนองจิก ยะริ่ง และเมืองปัตตานี) เมืองยะลา (รวมเมืองรามันและเมืองยะลา) เมืองสายบุรีและเมืองระแงะ
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้ย้ายที่ว่าราชการเมืองระแงะจากตำบลบ้านตันหยงมัสมาตั้งที่บ้านมะนารอ (บางมะนาวปัจจุบัน) อำเภอบางนรา ส่วนท้องที่เมืองระแงะ และยกฐานะอำเภอบางนราขึ้นเป็นเมืองบางนรา มีอำเภอในเขตปกครอง คือ อำเภอบางนรา อำเภอตันหยงมัส กิ่งอำเภอยะบะ อำเภอสุไหงปาดี กิ่งอำเภอโต๊ะโมะ
ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระพาสมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อเสด็จมาถึงเมืองบางนราทรงพระราชทานพระแสงราชศัตราแก่เมืองบางนราและทรงดำริเห็นว่าบางนรานั้นเป็นชื่อตำบลบ้านและควรที่จะมีชื่อเมืองไว้เป็นหลักฐานสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองบางนราเป็นเมืองนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ให้ เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัด ฉะนั้น เมืองนราธิวาส จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นจังหวัดนราธิวาส ดังเช่นปัจจุบันนี้
ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าการที่แบ่งเขตเป็นมณฑลและจังหวัดไว้แต่เดิมนั้น เวลานี้การคมนาคมสะดวกขึ้นมาพอที่จะรวมการปกครอง บังคับบัญชาให้กว้างขวางยิ่งขึ้นแล้ว จึงเป็นการสมควรที่จะยุบมณฑลและจังหวัดเพื่อประหยัดรายจ่ายของแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกมณฑล ๔ มณฑล จังหวัด ๙ จังหวัด เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ในการประกาศยุบเลิกมณฑลครั้งนี้ มีมณฑลปัตตานีเป็นมณฑลหนึ่งด้วย และให้รวมจังหวัดต่างๆ ของมณฑลปัตตานีเข้าไว้ในปกครองของมณฑลนครศรีธรรมราช มีศาลารัฐมณฑลตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา
ส่วนจังหวัดที่ประกาศยุบเลิกมี สายบุรีจังหวัดหนึ่งด้วย โดยให้รวมท้องที่เป็นอำเภอเข้าไว้ในปกครองของจังหวัดปัตตานี เว้นท้องที่อำเภอบาเจาะ ให้ขึ้นอยู่ในความปกครองของจังหวัดนราธิวาส
ครั้นต่อมา ท้องที่อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเจริญยิ่งขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอโต๊ะโมะเป็นอำเภอแว้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอยะบะ เป็นอำเภอรือเสาะ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ประกาศยกฐานะตำบลสุไหงโก – ลก ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ และประกาศยกฐานะเป็นอำเภอ สุไหงโก-ลก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ประกาศตั้งกิ่งอำเภอศรีสาคร โดยรวมเอาตำบลจากอำเภอรือเสาะ ๒ ตำบล คือ ตำบลสากอ และตำบลตะมะยูง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ และยกฐานะเป็นอำเภอศรีสาคร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ประกาศตั้งกิ่งอำเภอสุคีริน โดยแยกตำบลมาโมงจากอำเภอแว้ง แล้วตั้งตำบลมาโมง ตำบลสุคีริน และตำบลเกียร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ประกาศตั้งกิ่งอำเภอจะแนะ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
ที่มา : สำนักงานจังหวัดนราธิวาส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น