ประวัติการตั้งเมือง
คำว่า "จังหวัดชุมพร" เพิ่งเริ่มใช้ในปี ๒๔๕๙ โดยทางราชการได้เปลี่ยนนามท้องที่ที่เรียกว่า เมืองอันเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลว่า "จังหวัด" ส่วนคำว่าเมืองให้ใช้สำหรับเรียกตำบลที่ประชาชนได้เคยเรียกว่าเมืองมาแล้วแต่เดิมอันเป็นเขตชุมชนเท่านั้น ในสมัยโบราณมีชื่อว่า "เมืองชุมพร" เมืองชุมพรเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง แต่จะตั้งเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่นอน เพิ่มมาปรากฏตามตำนานพระ-ธาตุเมืองนครศรีธรรมราชฉบับของหอสมุดแห่งชาติมีความตอนหนึ่งว่า เมื่อศักราชได้ ๑๐๙๘ ปี พระยาศรีธรรมาโศกราช ก็สร้างเมืองลงบนหาดทรายรายรอบเป็นเมืองนครศรีธรรมราช แล้วสั่งให้ทำอิฐทำปูนก่อพระธาตุครั้งนั้น และยังมีพระพุทธสิหิงค์ล่องทะเลมาแต่เมืองลังกาถึงเกาะปีนัง และลอยมาถึงหาดทรายแก้วที่จะก่อพระธาตุนั้น ต่อมาพระยาศรีธรรมาโศกราชได้ขุดพบพระธาตุแล้วแบ่งให้พระยาศรี-ธรรมาโศกราชไปก่อพระเจดีย์ บรรจุพระบรมธาตุที่เหลือไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราชแล้วตั้งเมืองสิบสองนักษัตรตามปูมโหรขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราช ให้ใช้ตรารูปสัตว์ประจำปีเป็นตราของเมืองนั้น ๆ คือ ปีชวดตั้งเมืองสายถือตราหนูหนึ่ง ปีฉลูเมืองตานีถือตราโคหนึ่ง ปีขาลเมืองกลันตันถือตราเสือหนึ่ง ปีเถาะเมืองปาหังถือตรากระต่ายหนึ่ง ปีมะโรงเมืองไทรถือตรางูใหญ่หนึ่ง ปีมะเส็งเมืองพัทลุงถือตรางูเล็กหนึ่ง ปีมะเมียเมืองตรังถือตราม้าหนึ่ง ปีมะแมเมืองชุมพรถือตราแพะหนึ่ง ปีวอกเมืองปันทายสมอถือตาลิงหนึ่ง ปีระกาเมืองอุลาถือตราไก่หนึ่ง ปีจอเมืองตะกั่วป่าถือตราสุนัขหนึ่ง ปีกุนเมืองกระถือตราหมูหนึ่ง เข้ากัน ๑๒ เมือง มาช่วยทำอิฐปูนก่อพระธาตุขึ้นตามตำนานนี้เมืองนครศรีธรรมราชสมัยนั้นมีอำนาจมาก ปรากฏว่ามีเมืองชุมพรเป็นเมืองขึ้นอยู่เมืองหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๐๙๘ เมืองชุมพรในสมัยนั้นปรากฏว่า เป็นเมืองด่านเพราะอยู่ระหว่างช่องแคบมลายู เป็นเมืองด่านหรือแคว้นเทพนครหรือแคว้นอู่ทอง ในสมัยต่อมาไม่มีหลักฐานที่อ้างอิงหรือกล่าวถึง เมืองชุมพรไว้เลย จึงมีผู้เข้าใจว่าเมืองชุมพรเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา
เมื่อปีจอ พุทธศักราช ๑๙๙๗ (จ.ศ. ๘๑๖) ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระเจ้าอยู่หัวในสมัยอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งได้โปรดให้ชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า ได้มีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าสั่งว่า บรรดาข้าราชการอยู่บนหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงให้ถือศักดินาตามพระราชบัญญัติ และปรากฏว่ามีออกญาเคางะทราธิบดีศรีสุรัตวลุมหนักพระชุมพร เมืองตรีถือศักดินา ๕,๐๐๐ ไร่ เป็นอันรับรู้ว่าเมืองชุมพรเป็นเมืองตรี และเกิดขึ้นแล้วในแผ่นดินของพระองค์ แต่ต้องเข้าใจว่าก่อนที่จะได้เป็นเมืองตรี เมืองชุมพรจะต้องเป็นเมืองเล็กมาก่อน จึงไม่มีหลักฐานในประวัติศาสตร์ไว้ให้เห็นชัด เพิ่งมาปรากฏแน่ชัดขึ้นว่าเมืองชุมพรเป็นหัวเมืองหนึ่งในหัวเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๙๙๗ เป็นต้นมา หรือประมาณ ๕๐๓ ปีเศษแล้ว
ประวัติที่ตั้งเมือง
เมืองชุมพรจะตั้งอยู่ ณ ตำบลใด ที่ใดไม่มีหลักฐานที่แน่นอน ทั้งนี้เมืองชุมพรไม่มีโบราณวัตถุที่เป็นพยานหลักฐานว่าเป็นเมืองแต่โบราณ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเรียบเรียงไว้ในตำนานเมืองระนอง ความตอนหนึ่งว่า เมืองชุมพรประหลาดผิดกับเมืองอื่นในแหลมมลายู เมืองที่ตั้งมาแต่โบราณ เช่นเมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราชเป็นต้น ล้วนมีโบราณวัตถุและมีตัวเมืองปรากฏอยู่บ้าง รู้ได้ว่าเป็นเมืองมาแต่โบราณ แต่เมืองชุมพรยังไม่ได้พบโบราณสถานวัตถุเป็นสำคัญแต่อย่างใด อาจจะเป็นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ มีที่นาไม่พอกับคนประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งอยู่ตรงคอคอดแหลมมลายู มักเป็นสมรภูมิรบพุ่งกันตรงนี้ จึงไม่สร้างเมืองถาวรไว้ แต่ก็ต้องรักษาไว้เป็นเมืองด่าน นอกจากเหตุผล ๒ ประการดังกล่าวแล้ว พิจารณาจากสภาพตามธรรมชาติ แล้วยังมีเหตุผลอีกอย่างหนึ่ง คือ ที่ท้องที่ตั้งจังหวัดชุมพรเป็นที่ราบต่ำน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร เรือกสวนไร่นาเสียหายอยู่เสมอ บางปีน้ำท่วม ๒-๓ ครั้ง ภัยจากน้ำท่วมอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่นิยมสร้างถาวรวัตถุไว้ให้ปรากฏแก่ชนรุ่นหลังก็ได้ แม้แต่บ้านเรือนราษฎรในเมืองก็ไม่ปรากฏว่าได้ก่อสร้างอาคารถาวรเป็นเรือนตึก หรือคอนกรีต เพิ่งจะมีตึกขึ้นเป็นครั้งแรกในตลาดชุมพร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ นี้เอง
อย่างไรก็ดี จากหลักฐานบางอย่างปรากฏว่ามีหมู่บ้านหนึ่งอยู่ใกล้วัดประเดิม อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำชุมพรเรียกว่า "บ้านวัดประเดิม" หรือ" บ้านประเดิม" ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ ๒๐ ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร พิจารณาตามลักษณะภูมิประเทศจะเห็นว่ามีคลองสองคลองไหลมาเกือบบรรจบกัน และในระหว่างคลองทั้งสอง คือ คลองชุมพรและคลองท่าตะเภา ซึ่งขณะนี้เรียกกันว่าคลองร่วม เมืองชุมพรตั้งอยู่ ณ คลองท่าตะเภา หาใช่ตั้งที่คลองชุมพรตามชื่อเมืองไม่ จึงเป็นเหตุหนึ่งทำให้สันนิษฐานว่า เมืองชุมพรแต่เดิมน่าจะอยู่ที่คลองชุมพรโดยใช้ชื่ออย่างเดียวกัน นอกจากนั้นบริเวณใกล้เคียงวัดประเดิมมีวัดใหญ่อยู่บริเวณใกล้เคียงหลายวัดคือ วัดประเดิม วัดนอก วัดพระขวางและวัดวังไผ่ ส่วนวัดประเดิมเป็นวัดใหญ่ที่สำคัญ ชาวบ้านนับถือและพากันไปทำบุญมากกว่าวัดอื่น ๆ ซึ่งตามธรรมดาที่ตั้งเมืองโบราณมักจะมีวัดมากและตั้งอยู่ติด ๆ กัน บริเวณวัดประเดิม ถัดมาทางทิศเหนือ มีอิฐแผ่นใหญ่จมอยู่ในดินบางแห่ง และมีหลักเมืองแห่งหนึ่งใกล้ ๆ วัดประเดิม หลักเมืองนี้ชาวบ้านในปัจจุบันมักไม่ค่อยรู้จักว่าเป็นอะไร เพราะสภาพในปัจจุบันเป็นเพียงหินก้อนหนึ่งปักอยู่ในดินใต้ต้นข่อยใหญ่ ชาวบ้านใกล้เคียงเรียกกันว่า "พระข่อย" ถือเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป ตามธรรมดาเมืองโบราณจะต้องมีหลักเมือง พระเสื้อเมืองเป็นประจำเมือง ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ จึงสันนิษฐานว่าเมืองชุมพรเดิมตั้งอยู่ ณ บ้านประเดิม ทางฝั่งซ้ายของเมืองชุมพร จึงมีชื่อตรงกับชื่อคลอง อยู่ห่างจากเมืองชุมพรในปัจจุบันไปทางทิศใต้ประมาณ ๕ กิโลเมตร ต่อมาสันนิษฐานว่าได้ย้ายตัวเมืองไปตั้งอยู่ ณ บ้านท่ายาง ตำบลท่ายาง โดยมีหลักฐานอ้างอิงจากหลักฐานใด เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ ปีจอ ฉศก (จ.ศ.๑๑๗๖) ในรัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงส่งสงฆ์ไทย จำนวน ๗ รูป เป็นสมณทูตออกไปเมืองลังกาโดยทางเรือ โดยมีขุนทรงวิชัยหมื่นไกรคุมเครื่องดอกไม้เงินทองไปบูชาพระเจดีย์ฐานทั้ง ๑๕ ตำบล ครั้นวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๒ เวลา ๔ โมง มีคลื่นจัดเรือได้เกยหาดมัทรีปากน้ำชุมพรแตก คณะทูตได้ส่งคนออกหาบ้านคนแล้วโดยสารเรือจับปลามาถึงเมืองชุมพร ได้ขออาหารจากเจ้าอธิการวัดท่ายางบริโภค แล้วพากันมาหาเจ้าเมืองกรมการเมืองชุมพรได้ป่าวร้องให้ราษฎร์จัดแจงหาอาหารมาถวายพระสมณทูตแล้วออกไปรับพระสงฆ์สมณทูตกับคณะเข้ามา ณ เมืองชุมพรนิมนต์ให้พระสงฆ์อาศัยในวัดท่ายาง คราวนี้จะเห็นได้ว่า เมืองชุมพรในปี พ.ศ. ๒๓๕๗ ตั้งอยู่ ณ ตำบลท่ายาง ภูมิฐานของตำบลท่ายางในปัจจุบันนี้ยังมีบ้านเรือนหนาแน่น และใกล้กับปากอ่าวมีเรือสินค้าขนาดใหญ่ไปมาสะดวกบัดนี้ก็ยังเป็นท่าเรือสินค้า มีเรือต่าง ๆ จากกรุงเทพมหานครบรรทุกสินค้ามาขึ้นแล้วบรรทุกรถยนต์ไปในเมืองอยู่เสมอ ท่ายางเป็นตำบลใหญ่ตำบลหนึ่ง ขณะนี้มีวัดถึง ๗ วัด วัดที่อยู่ใกล้เคียงตลาดเก่ามีถึง ๓ วัดติดกัน คือ วัดท่ายางใต้ วัดท่ายางกลาง และวัดท่ายางเหนือ ตำบลท่ายางจึงน่าจะเป็นที่ตั้งเมืองชุมพรในสมัยต่อมา แต่ย้ายมาเมื่อใดยังไม่พบหลักฐานแน่นอน
เมื่อตรวจสอบหลักฐานที่พอเชื่อถือได้พบว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓ (ร.ศ. ๑๐๙) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสแหลมมลายู ได้เสด็จประทับที่เมืองชุมพรแล้วทรงม้า ทรงช้างพระที่นั่ง ไปยังเมืองกระบุรี จังหวัดระนอง พลับพลาที่ประทับที่ชุมพรอยู่ทางใต้ของคลองท่าตะเภา โดยมีทุ่งตีนสาย หนองหว้า หนองหวาย ตำบลกรอกธรณี ปัจจุบันขึ้นกับคลองท่าตะเภา โดยมีทุ่งตีนสาย หนองหว้า หนองหวาย ตำบลกรอกธรณี (ปัจจุบันคือตำบลตากแดด) อยู่หลังพลับพลาทุ่งตีนสายยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ อยู่ใกล้วัดสุบรรณนิมิตรไปทางทิศตะวันตกและได้ทรงเรือข้ามไปที่บ้านท่าตะเภา ขึ้นที่หน้าบ้านเจ้าเมืองก่อนแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปตามริมฝั่งบ้านเรือนราษฎร จึงเป็นที่เชื่อได้ว่า เมื่อพ.ศ. ๒๔๓๓ (ร.ศ. ๑๐๙) เมืองชุมพรได้มาตั้งอยู่ที่คลองท่าตะเภาแล้ว ตัวเมืองและสถานที่ราชการหาใช่ที่อยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ อยู่คนละฝั่งแม่น้ำกับทุ่งตีนสายและบริเวณบ้านท่าตะเภาเหนือ ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จโดยทางเรือพระที่นั่ง ๑๒ กรรเชียง ถึงพลับพลาที่ท่าตะเภาเหนือไปถึงหมู่บ้านที่เป็นเมืองชุมพร เวลาจวนค่ำเสด็จพระราชดำเนินที่หมู่บ้านท่าตะเภาอำเภอเมืองชุมพรตลาดท่าตะเภาเดิมอยู่ตรงข้ามบ้านทุ่งตีนสาย บริเวณระหว่างที่ทำการป่าไม้จังหวัดกับตลาดในปัจจุบันนี้ตลาดท่าตะเภานี้แต่เดิมเป็นป่ามีเสือชุกชุมมากจนขึ้นชื่อว่า เสือชุมพรดุมาก เมื่อทางราชการตัดทางรถไฟสายใต้ผ่านตัวเมืองชุมพร ป่าเสือก็กลายสภาพเป็นตลาดการค้า ต่อมาตัวเมืองได้ย้ายอีกแต่ไม่ทราบว่าเมื่อใด เนื่องจากไม่มีหลักฐานแน่นอนแต่จะต้องหลังจาก พ.ศ. ๒๔๓๓ (ร.ศ. ๑๐๙) แล้ว ปรากฏว่าเมื่อพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดการปกครองท้องที่ใหม่ โดยแบ่งการปกครองออกเป็นเมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน หลายเมืองรวมเป็นมณฑลเทศาภิบาล ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๙ (ร.ศ. ๑๑๕) ได้ตั้งมณฑลชุมพรขึ้น ตั้งศาลารัฐบาล ณ จังหวัดชุมพร ปรากฏหลักฐานว่าตัวเมืองชุมพร ได้ย้ายที่ทำการมาตั้งอยู่ริมคลองท่าตะเภา คือที่ปลูกบ้านพักนายอำเภอเมืองชุมพรอยู่ใกล้จวนผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน
เหตุผลที่จำเป็นต้องย้ายเมืองจากบ้านประเดิม และตำบลท่ายางมาอยู่ที่คลองท่าตะเภา ไม่พบหลักฐาน ณ ที่ใด แต่เท่าที่ค้นคว้าน่าจะเป็นเพราะเหตุสองประการดังต่อไปนี้ คือ
(๑) คลองชุมพรอันเป็นที่ตั้งเมืองมาแต่เดิม เคยใช้เป็นทางเรือสำเภาใหญ่ ๆ สัญจรและบรรทุกสินค้าไปมากับจังหวัดใกล้เคียงและต่างประเทศมีระยะไกลจากปากอ่าว ประกอบกับคลองท่าตะเภาเป็นท่าเรืออยู่ก่อนแล้ว ความเจริญก็มีมากทำเลการทำมาหากินก็ดีขึ้น ประกอบกับขณะนั้นประชาชน ณ เมืองชุมพรเดิมคงจะถูกพม่ารุกรานจึงเที่ยวหลบซ่อนหาที่ตั้งบ้านเรือนใหม่ จึงได้อพยพกันมาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินที่บ้านท่าตะเภามากขึ้น, กลายเป็นท้องที่ ๆ ประชาชนหนาแน่น จึงเป็นเหตุหนึ่ง ให้ย้ายเมืองชุมพรไปจากบ้านประเดิม
(๒) ปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า เมืองชุมพรถูกพม่าข้าศึกยกทัพมาย่ำยีหลายครั้ง ที่สำคัญมี ๒ ครั้ง คือ
ก. ในแผ่นดินพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๗ ปีจอ ฉศก (จ.ศ. ๑๑๒๖)
พระเจ้าอังวะมังระแห่งพุกามประเทศ ได้จัดกองทัพใหญ่พลฉกรรจ์สองหมื่นห้าพันมาตีกรุง
ศรีอยุธยา แยกไปทางเหนือทัพหนึ่ง แยกไปทางใต้ทัพหนึ่ง มีมังมหานรธาโบชุกเป็นแม่ทัพถือพลหมื่น
ห้าพันยกมาตีเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี หุยตองจาเจ้าเมืองทวายสู้ไม่ได้หลบหนีเข้าไปทางเมือง
กระเข้ามาอยู่เมืองชุมพร ทัพพม่ายกติดตามไป เมื่อตีได้แล้วเผาเมืองชุมพรเสียแล้วยกเข้ามาตีเมืองปะ
ทิว เมืองกุย เมืองปรานแตกทั้งสามเมือง แล้วกลับเข้าไปเมืองทวาย
ข. ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พ.ศ. ๒๒๓๘ ปีมะเส็ง สัปตศก(จ.ศ. ๑๑๔๗)
พระเจ้าปดุงแห่งประเทศพม่า จัดกองทัพใหญ่มีพลหนึ่งแสนสามพันคน แยกเป็นหลายกอง
ทัพมาย่ำยีประเทศไทย ตั้งแต่เมืองเชียงใหม่มาจนถึง เมืองถลาง (ภูเก็ต) ทางด้านปักษ์ใต้ได้แก่หวุ่นแมงญีเป็นแม่ทัพใหญ่ให้เนมโยตุงนรัตน์เป็นแม่ทัพหน้ายกมาทางเมืองกระ เมืองระนองเข้าตีเมืองชุมพร เจ้าเมืองกรมการเมืองชุมพรมีไพร่พลสำหรับป้องกันเมืองน้อยก็เทครัวเข้าป่า ทัพพม่ายกเข้าตีเมืองชุมพรได้แล้วเผาเมืองชุมพรเสีย ทัพหน้าเลยเข้าไปตีเมืองไชยา แล้วก็เผาเมืองไชยาเสียด้วย ส่วนทัพใหญ่ยังคงตั้งอยู่เมืองชุมพรต่อมากองทัพหลวงมาจากกรุงเทพ ฯ จึงตีกองพม่าแตกไป ในสมัยนี้บ้านเมืองก็คงจะร่วงโรย มีผู้คนเหลือน้อย ต่างกระจัดกระจายกันไป เช่นเดียวกับเมืองระนอง เมื่อเมืองชุมพรได้มาตั้งอยู่คลองท่าตะเภาแล้วที่ตรงนั้นอยู่ริมน้ำตกถูกน้ำเซาะตลิ่งพัง จึงได้ย้ายที่ทำการมาตั้งอยู่ในสถานที่ซึ่งเป็นบริเวณหน้าศาลจังหวัดชุมพรในปัจจุบันเป็นสมัยที่พระสำเริงนฤปการเป็นเจ้าเมือง
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พระยาคงคาธราธิบดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลสุราษฎร์ ได้ขอเงินงบประมาณเพื่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่ที่ตำบลท่าตะเภา คือ บริเวณเทศบาลเมืองชุมพร และสำนักงานที่ดินจังหวัดในปัจจุบัน ก่อสร้างเสร็จเปิดทำงาน ณ ศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ เมื่อ ๓ เมษายน ๒๔๖๒ เวลา ๐๘.๐๐ น. ในสมัยอำมาตย์ตรีพระชุมพรศรีสมุทรเขต (บัว) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ด้วยเหตุนี้ทางราชการจึงถือว่า วันที่ ๓ เมษายน เป็นวันที่ระลึกของจังหวัดชุมพร เมืองชุมพรได้เป็นที่ศาลารัฐบาลมณฑลชุมพรด้วย เมื่อเริ่มตั้งเป็นมณฑลขึ้นแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ มีเมืองขึ้นกับมณฑลนี้ ๓ เมือง คือ เมืองสุราษฎร์ธานี เมืองชุมพร และเมืองหลังสวน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๘ (ร.ศ. ๑๒๔) ได้ย้ายศาลาเทศบาลมณฑลชุมพรไปอยู่ที่บ้านดอน ซึ่งเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน เพราะเหตุน้ำท่วมในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้เปลี่ยนชื่อมณฑลชุมพรเป็นมณฑลสุราษฎร์ธานี ให้ตรงกับท้องที่ที่ตั้งมณฑลในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้ประกาศยกเลิกมณฑลสุราษฎร์ธานี และโอนการปกครอง ๓ จังหวัด รวมทั้งจังหวัดชุมพรด้วยไปขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช หลังจากยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลทุกมณฑลในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นเหตุให้ยกเลิกมณฑลนครศรีธรรมราชไปด้วย จังหวัดชุมพรจึงเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักร ขึ้นตรงต่อราชการบริหารส่วนกลางจนทุกวันนี้
ประวัติคำว่าชุมพร
คำว่า “ชุมพร” ตามอักษรแยกได้เป็น ๒ คำ คือ “ชุม” คำหนึ่งและ “พร” คำหนึ่ง คำว่า “ชุม”ตามปทานุกรมของกระทรวงศึกษาธิการแปลว่า รวม,ชุก,มาก รวมกันอยู่ คำว่า “พร” แปลว่า ของดี. ของที่เลือกเอา.ของประเสริฐ คำว่า ชุมพรตามตัวอักษร จึงแปลได้ความว่าเป็นที่รวมของประเสริฐ แต่ชื่อเมืองชุมพรนั้น ไม่มีความหมายเฉพาะตามตัวอักษร
ชุมพรเป็นชื่อเมืองมาแต่โบราณ ตามตำนานการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชได้มีการสร้างเมืองสิบสองนักษัตร เมืองชุมพรเป็นเมืองหนึ่งในสิบสองนักษัตรเป็นปีมะแม ถือตราแพะ และปรากฏหลักฐานแน่นอนว่า มีชื่อชุมพรมาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ชื่อนี้มีความหมายหรือประวัติความเป็นมาอย่างไร ยากที่จะค้นคว้าหาหลักฐานได้ การที่จะสืบสวนไปว่ามีความอย่างใด ก็ต้องพิจารณาประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาแต่โบราณสมัย พิจารณาดูตามเหตุผล เท่าที่รวบรวมและพิจารณาดู พอจะแยกออกได้เป็น ๓ ประการ คือ
(๑) เนื่องด้วยเมืองชุมพร ว่าโดยสภาพเป็นเมืองหน้าด่านในทางภาคใต้ เพราะสมัยโบราณยังไม่มีรถไฟ เรือยนต์ หรือ เรือกลไฟ ใช้ในกองทัพและพื้นที่ก็เป็นคอคอดที่แคบของแหลมมลายู การยกทัพต้องยกมาทางบก และตั้งค่ายที่ชุมพร ฉะนั้น การสงครามหรือการรบทุกครั้งไม่ว่าจะรบกับพม่าหรือปราบกบฏภายในราชอาณาจักรก็ตาม เมื่อยกทัพหลวงมาครั้งใด เมืองชุมพรก็ต้องเป็นที่ชุมนุมพลหรือชุมนุมกองทัพ ชาวชุมพรในสมัยโบราณได้ชื่อว่าเป็นนักรบ เมื่อพม่าได้เคลื่อนทัพเข้ามาในดินแดนทางเมืองท่าแซะและตำบลรับร่อ เจ้าเมืองจะเกณฑ์ไพร่พลเข้าป้องกันอย่างเข้มแข็งและเมืองชุมพรต้องร่วมสมทบกับกองทัพด้วย จะเห็นได้ว่าเมืองชุมพรมีส่วนร่วมในการสงครามเกือบทุกครั้งตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จึงเชื่อกันว่าชุมพรมาจาก คำว่า “ประชุมพล" หรือ”ชุมนุมพล” นั่นเอง คำว่าประชุมพล แปลได้ความว่า รวมกำลัง ทั้งนี้โดยเหตุที่ว่า ก่อนจะยาตราทัพต้องมาประชุมพลหรือรวมกำลังออกเป็นหมวดหมู่ทุกครั้ง แต่คำว่าประชุมพลนี้เรียกผิดเพี้ยนไปจากเดิมจนกลายเป็นชุมพร เพราะคนไทยทางใต้ชอบพูดคำสั้น ๆ จึงตัดคำว่าประออกเสีย ส่วนคำว่าพลต่อมาใช้คำว่าพรแทน เพราะการเพี้ยนไปจากเดิมจึงกลายเป็นชุมพรมาจนทุกวันนี้ ซึ่งตามธรรมดา ชื่อเมือง ชื่อตำบล มักจะเรียกเพี้ยนไปจากเดิมเสมอ อย่างไรก็ดีเมืองชุมพร นับว่าเป็นเมืองสำคัญทางยุทธ-ศาสตร์มาแต่สมัยโบราณจนกระทั่งปัจจุบัน แม้แต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกที่ปากน้ำชุมพรแล้วจึงยาตราทัพต่อไปยังประเทศพม่าตามแผนการที่วางไว้ขณะนี้ชุมพรยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ จะเห็นได้ว่าเป็นจังหวัดทหารบกและมีกองกำลัง ร. ๒๕ พัน ๑ ตั้งอยู่ ฉะนั้น ความหมายจากคำว่าประชุมพล จึงมีความหมายตรงกับประวัติศาสตร์ของเมืองที่ว่าเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์
(๒) โดยเหตุที่ที่ตั้งเมืองเดิม อยู่บ้านประเดิมฝั่งขวาของคลองชุมพร ที่คลองชุมพรมีต้นไม้ชนิดหนึ่งอยู่ทั่วไปทั้งสองฟากคลองเรียกกันว่า “มะเดื่อชุมพร” เป็นพืชยืนต้น ปัจจุบันก็มีอยู่มาก ใช้เปลือกและต้นทำยาสมุนไพร คลองนี้เดิมยังคงไม่มีชื่อ ภายหลังจึงถูกตั้งชื่อว่า คลองชุมพร ตามต้นไม้ไปด้วย เพราะตามปกติการตั้งชื่อท้องที่หรือแม่น้ำลำคลองมักจะเรียกตามชื่อต้นไม้หรือตามสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ ณ ที่นั้น เช่นเดียวกับที่อำเภอท่าแซะมีชื่อต้นไม้แซะซึ่งขึ้นอยู่ข้างคลอง ต่อมาเมืองที่มาตั้งจึงมีชื่อตามต้นไม้ไปด้วย เช่นเดียวกับชื่อชุมพร อาจเรียกตามชื่อคลองหรือชื่อต้นไม้ก็เป็นได้ คำว่าชุมพรนอกจากจะมีต้นไม้แล้ว ยังเรียกชื่อหวายชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสินค้าของชุมพร คือหวายชุมพรอีกด้วย ซึ่งมีอยู่มากมายตามต้นคลองชุมพรโดยทั่วไป
(๓) ตามตัวอักษรที่แปลว่า เป็นที่รวมของประเสริฐหรือของดีนั้น ผู้ที่จะให้ของประเสริฐได้ ต้องเป็นบุคคลที่มีอำนาจหรืออิทธิพลยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา จึงอาจหมายถึงเทวดาเป็นผู้ให้ หรือเป็นสถานที่ที่เทวดาประทานพรทั้งหลายให้ ซึ่งตามธรรมดาบุคคลชอบสิ่งที่เจริญหรือเป็นมงคล จึงต้องการให้ชื่อเมืองเป็นมงคลนาม เป็นที่รวมแต่สิ่งที่เป็นมงคลทั้งหลาย ต่อมาได้เรียกผิดเพี้ยนไปคงเหลือแต่ชุมพร เพราะคนไทยทางใต้ชอบเรียกคำสั้น ๆ ตามความหมายที่มาจากคำว่า “ประชุมพร”
เมื่อได้ทราบประวัติความเป็นมาทั้งสามประการแล้วจะเห็นได้ว่า คำว่าประชุมพรนั้นมีเหตุผลทางประวัติศาสตร์สมกับที่จารึกไว้ว่า ชาวชุมพรมีน้ำใจเป็นนักรบ เพราะการตั้งชื่อเมืองหรือการตั้งชื่อใด ๆ ก็ตาม ย่อมจะมีความหมายสำคัญในชื่อที่ตั้งนั้น ส่วนที่ว่าชุมพรมาจากคำว่ามะเดื่อชุมพรนั้นหรือมาจากเทวดาประชุมพรให้ก็ดี สันนิษฐานว่ามาคิดค้นหาเหตุผลภายหลังไม่มีความหมายตรงตามประวัติศาสตร์
ประวัติอาณาเขต
เมืองชุมพรมีศักดิ์เป็นเมืองตรี จึงมีเมืองเล็ก ๆ เป็นเมืองขึ้น เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็น
พระยาชุมพรตามนามของเมืองในสมัยโบราณ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมีอาณาเขตจดทะเลทั้งสองข้าง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจดเมืองตะนาวศรี ทิศเหนือจดเมืองกำเนิดนพคุณ ทิศใต้จดเมืองไชยา ทิศตะวันออกจดอ่าวไทย ทิศตะวันตกจดมหาสมุทรอินเดีย มีเมืองขึ้นในครั้งนั้น ๗ เมือง คือ เมืองปะทิว เมืองท่าแซะ เมืองตะโก เมืองหลังสวน เมืองตระ (อำเภอกระบุรีในปัจจุบัน) เมืองมะลิวัน เมืองระนอง ภายหลังได้รวมเอาเมืองกำเนิดนพคุณ (อำเภอบางสะพานในปัจจุบัน) มาขึ้นด้วย ส่วนเมืองตะโกเดิมต่อมาได้ยุบเป็นตำบลขึ้นต่ออำเภอสวี ปัจจุบันเป็นกิ่งอำเภอทุ่งตะโก เมืองขึ้นเหล่านี้ในครั้งหลังได้ถูกตัดแยกออกไปตั้งเมืองใหม่บ้าง ด้วยเหตุอื่นบ้าง จึงทำให้อาณาเขตของชุมพรลดน้อยลงไปตามลำดับ เฉพาะเมืองที่ตัดแยกออกไปอยู่ในปกครองของจังหวัดอื่น มีประวัติดังต่อไปนี้
(1) เมืองมะลิวัน
ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อังกฤษได้มาปกครองเมืองตะนาวศรีและ
เมืองมะริด ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยในครั้งก่อน อังกฤษขอปันเขตแดนระหว่างไทยกับอังกฤษ ณ เมืองมะลิวัน โดยกำหนดให้แม่น้ำกระบุรีเป็นเขตแดนฝ่ายไทย ส่วนเขตแดนอังกฤษอยู่เพียงแนวเขาเป็นเขต โดยถือเอาแม่น้ำปากจั่นเป็นฝ่ายไทย จึงโปรดเกล้าให้พระยายมราชสุด (จ๋อ) กับพระยาเพชรกำแหงสงคราม(ครุฑ) ไปเจรจากับอังกฤษ แต่ไม่เป็นที่ตกลง จนถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้พระยาเพชรบุรี พระยาเพชรกำแหงสงคราม และพระยาชุมพร (กล่อม) ไปเจรจาปันเขตแดน ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า ความเรื่องนี้ ๒ แผ่นดินแล้วยังไม่ตกลงกันได้ควรประนีประนอมผ่อนผัน จึงให้กรรมการปันเขตแดนทั้ง ๒ ท่านทำความตกลงเอง โดยถือเอาแม่น้ำกระบุรีเป็นเขตแต่มีข้อสัญญาปลีกย่อยเรื่องโจรผู้ร้ายข้ามแดนอังกฤษ เมืองมะลิวันซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นชุมพรและเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย จึงตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษด้วยความจำเป็น เมื่อปีชวดพุทธศักราช ๒๔๐๗ เมืองมะลิวันเมื่อขึ้นอยู่กับอังกฤษตั้งชื่อว่า Victoria Point ไทยเรียกว่าเกาะสอง ขณะนี้เป็นอำเภอชั้นเอก ขึ้นอยู่กับเขตทวาย จังหวัดมะริด ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า
(2) เมืองระนอง
เมืองระนองแต่เดิมเป็นเมืองแขวง (ปัจจุบันเทียบเท่ากับอำเภอ) ขึ้นต่อเมืองชุมพรเมื่อปีขาลพุทธศักราช ๒๓๙๗ ในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตำแหน่งเจ้าเมืองว่างลงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงรัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง ต้นตระกูล ณ ระนอง) ขึ้นเป็นพระรัตนเศรษฐี เจ้าเมืองระนอง แต่ยังเป็นเมืองขึ้นของชุมพรอยู่ ต่อมาเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ (จ.ศ.๑๒๒๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์พระรัตนเศรษฐี เจ้าเมืองระนองขึ้นเป็นพระยารัตนเศรษฐีและยกฐานะเมืองระนองขึ้นมีศักดิ์เป็นเมืองจัตวา ขึ้นต่อกรุงเทพมหานคร ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เปลี่ยนชื่อมาเป็นจังหวัดระนองจนกระทั่งทุกวันนี้
(3) เมืองตระ
เมืองตระปัจจุบันเรียกว่าอำเภอกระบุรี ขึ้นกับจังหวัดระนอง แต่เดิมเมืองตระเป็นเมืองเล็กขึ้นต่อเมืองชุมพร เมื่อปีจอ พุทธศักราช ๒๔๐๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองตระกับเมืองระนองเป็นเมืองจัตวาขึ้นต่อกรุงเทพฯ โดยแยกเมืองตระให้ไปขึ้นกับเมืองระนองที่ตั้งใหม่ เมืองตระจึงแยกจากเมืองชุมพรแต่นั้นมา
(4) เมืองกำเนิดนพคุณ
เมืองกำเนิดนพคุณ สมัยก่อนเป็นตำบลเล็กๆ ขึ้นต่อเมืองกุยบุรีในสมัยอยุธยา พ.ศ. ๒๒๙๐ (จ.ศ. ๑๑๐๙) ได้พบแร่ทองคำในตำบลนี้ ภายหลังในปีพ.ศ. ๒๓๙๒ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงตั้งเป็นเมืองชื่อว่าเมืองกำเนิดนพคุณ ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีแร่ทองคำ ต่อมาได้มาขึ้นอยู่กับเมืองชุมพร เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙ (ร.ศ. ๑๒๕ ) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองปราณบุรี ซึ่งแต่เดิมเป็นอำเภอขึ้นเมืองเพชรบุรี และเมืองกำเนิดนพคุณ ซึ่งเป็นอำเภอขึ้นเมืองชุมพร รวม ๓ เมืองเป็นเมืองเดียวกัน โดยโอนท้องที่เมืองกำเนิดนพคุณมารวมกับเมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ ตั้งเป็นเมืองจัตวาอีกเมืองหนึ่ง เรียกว่า "เมืองปราณบุรี" ขึ้นกับมณฑลราชบุรี ต่อมาเมืองปราณบุรีได้เปลี่ยนเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเมืองกำเนิดนพคุณมีชื่อว่าอำเภอบางสะพาน โดยมีอาณาเขตหลักคือเขาไชยราชเป็นที่แบ่งเขตแดนระหว่างชุมพร (อำเภอปะทิว) กับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาจนทุกวันนี้
ประวัติเหตุการณ์สำคัญ
โดยเหตุที่เมืองชุมพรเป็นเมืองหน้าด่านมาแต่โบราณ โดยเฉพาะในการสงครามกับพม่า และมีส่วนร่วมในการปราบปรามภายในราชอาณาเขตหลายครั้งหลายหน จึงเชื่อว่า ชาวชุมพรมีน้ำใจเป็นนักรบซึ่งบางเรื่องก็ได้กล่าวมาข้างต้นบ้างแล้วแต่อย่างไรก็ดียังมีการสงครามเกี่ยวกับชุมพรอีกหลายครั้ง ซึ่งควรจะนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชาวชุมพรในอนาคตจึงได้รวบรวมประวัติการสงครามและการรบ ซึ่งเมืองชุมพรมีส่วนร่วมในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตามที่ปรากฏในพงศาวดารโดยสังเขปมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วย
สมัยอยุธยา
๑.ในแผ่นดินของสมเด็จพระมหาบุรุษ (สมเด็จพระเพทราชา) เมื่อปีขาลอัฐศก พ.ศ. ๒๒๒๙ (จ.ศ.๑๐๔๘ )เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเป็นขบถแข็งเมืองจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพบก พระยาราชวังสันเป็นแม่ทัพเรือคุมกองทัพไปปราบปรามเมืองนครศรีธรรมราช ในทางกองทัพบกได้ยาตราทัพผ่านมาทางเมืองชุมพร และได้เกณฑ์เอาผู้รั้งเอากรมการเมืองชุมพร เมืองไชยาถือพลหัวเมืองทั้งปวงเข้ามาบรรจบทัพบกไปราชการสงครามนั้นด้วย
๒. เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๗ ปีจอ ฉศก จ.ศ. ๑๑๒๖ ในแผ่นดินพระบรมราชาที่ ๓ (พระที่นั่งสุริยามรินทร์)พระเจ้าอังวะมังระแห่งกรุงพุกามประเทศได้จัดกองทัพพลฉกรรจ์สองหมื่นห้าพันคนมาตีกรุงศรีอยุธยาจัดทัพใหญ่แยกเป็น ๒ ทัพไปทางเหนือทัพหนึ่งให้เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพไปทางใต้ทัพหนึ่ง ให้มังมหานรธาโบชุกเป็นแม่ทัพ ถือพลหนึ่งหมื่นห้าพันยกมาตีเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี หุยตองจาเจ้าเมืองทวายสู้ไม่ได้หนีไปทางเมืองกระแล้วไปอาศัยอยู่ในเมืองชุมพร ทัพพม่ายาตราทัพตามลงมาไปตีได้เมืองชุมพร แล้วเผาเมืองชุมพรเสียครั้นแล้วยกไปตีเมืองปะทิว เมืองกุย เมืองปราณแตก ทั้งสามเมือง แล้วยกกลับเมืองทวาย
สมัยธนบุรี
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ ปีกุน นพศก (จ.ศ. ๑๑๒๙) หลวงนายสิทธิ์เป็นที่พระปลัดว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ ยังหาได้ตั้งเจ้าเมืองไม่ ครั้นทราบว่ากรุงเทพฯ เสียแก่พม่าข้าศึก จึงตั้งตัวเป็นเจ้าครองเมืองนครศรีธรรมราช คนทั้งหลายเรียกว่า เจ้านคร มีอาณาเขตแผ่ไปข้างนอกถึงแดนเมืองแขกข้ามไปถึงเมืองชุมพร ปะทิว แบ่งแผ่นดินออกไปอีกส่วนหนึ่งและแต่งตั้งขุนนางตามตำแหน่ง เหมือนในกรุงเทพฯ ทุกอย่าง
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๑๒ ปีฉลูเอกศก (จ.ศ. ๑๑๓๑) หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ข้าศึก และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทำการกู้อิสรภาพได้และได้สถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรีแยกเป็นแม่ทัพกับพระยายมราช พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาเพชรบุรี ถือพลห้าพันพร้อมด้วยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ยกกองทัพไปทางเมืองเพชรบุรีไปถึงเมืองปะทิว ชาวเมืองชุมพรยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น และนายมั่นคนหนึ่งได้พาสมัครพรรคพวกเข้ามาหาแม่ทัพขอสวามิภักดิ์เป็นข้าราชการ เจ้าพระยาจักรีจึงบอกมาให้กราบทูล จึงมีพระ-ราชดำรัสโปรดให้มีตราตั้งให้นายมั่นเป็นพระชุมพร (เจ้าเมืองชุมพร) ให้เกณฑ์เข้าในกองทัพด้วยแต่คราวนั้นเข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชไม่สำเร็จต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยาตราทัพเรือมาช่วยจึงตีเมืองนครศรีธรรมราชได้
สมัยรัตนโกสินทร์
๑. เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ ปีมะเส็งสัปตศก (จ.ศ. ๑๑๔๗) ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระเจ้าปดุงแห่งประเทศพม่าจัดกองทัพใหญ่มีพลหนึ่งแสนสามพันคน แบ่งออกเป็นหลายกองทัพเข้ามาย่ำยีประเทศไทยจากเหนือมาใต้ ตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ตลอดมาจนถึงเมืองถลาง (ภูเก็ต) ทางภาคใต้ได้ยกกองทัพมาพร้อมกัน ณ เมืองมะริด แกงหวุ่นแมงญีเป็นแม่ทัพใหญ่ ให้กีหวุ่นเป็นแม่ทัพเรือไปตีเมืองถลางให้เนยโยตุงนรัตเป็นแม่ทัพบกยกมาทางเมืองกระ เมืองระนองเข้าตีเมืองชุมพร เมื่อแกงหวุ่นแมงญีแม่ทัพใหญ่หนุนมาสองทัพ เป็นคนเจ็ดทัพ ทัพหน้ายกเข้าตีเมืองชุมพร เจ้าเมืองกรมการเมืองมีไพร่พลน้อยเห็นจะต่อรบไม่ได้จึงเทครัวหนีเข้าป่า ทัพพม่าเข้าเมืองได้ เผาเมืองชุมพรเสีย กองทัพพม่าก็ล่องออกไปตีเมืองไชยา แม่ทัพใหญ่ยังตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองชุมพร ครั้งนั้นทัพหลวงยังหายกทัพออกมาช่วยไม่ได้ ด้วยราชการศึกยังติดพันอยู่ทางเมืองกาญจนบุรี เมื่อเจ้าเมืองกรมการเมืองได้ทราบข่าวเมืองชุมพรเสียแล้วก็มิได้สู้รบยกครัวหนีเข้าป่าไป ทัพพม่าเข้าเผาเมืองไชยาแล้วก็ยกเลยไปตีเมืองนครศรีธรรมราช และยึดเมืองไว้เมื่อเสร็จศึกพม่าทางด้านเมืองกาญจนบุรีแล้ว จึงมีพระราชดำรัสให้พระอนุชาธิราช สมเด็จพระนครราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทยกกองทัพเรือ พลรบพลแจวสองหมื่นเศษไปช่วยหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อทัพเรือมาถึงเมืองชุมพรก็ยกพลขึ้นบกตั้งค่ายหลวง ณ เมืองชุมพร จัดกองทัพใหญ่ไปตั้งอยู่ ณ เมืองไชยา กองทัพไทยกับกองทัพพม่าได้สู้รบกันใหญ่ทางเมืองไชยา พม่าสู้ไม่ได้แตกหนีกระจัดกระจายไป และการรบครั้งนี้พม่าถูกจับเป็นเชลยส่งมายังกรุงเทพฯ มากมาย
๒. เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๙ ปีมะเมีย อัฏฐศก (จ.ศ. ๑๑๔๘) ในรัชกาลที่ ๑ พม่ายกกองทัพเข้าไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ยกกองทัพไปต่อสู้กับพม่า ผ่านไปทางเมืองชุมพร แล้วกองทัพไทยได้ตีกองทัพพม่าแตกหนีไปสิ้น
๓. เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ ปีฉลู (จ.ศ. ๑๑๕๕) ในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทยกกองทัพไปตีเมืองมะริด และมาตั้งทัพต่อเรือรบอยู่ริมทะเลหน้านอกเขตแขวงเมืองชุมพร (เมืองระนอง) เมื่อต่อเรือเสร็จแล้วได้ยาตราทัพตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี มีชัยชนะจวนจะได้อยู่แล้วก็พอดีมีพระราชโองการให้นำกองทัพกลับกรุงเทพฯ เสียก่อน
๔. เมื่อพ.ศ. ๒๓๓๘ ปีเถาะ (จ.ศ. ๑๑๕๗) ในรัชการที่ ๑ พม่าข้าศึกได้ยกกองทัพเรือไป
ย่ำยีฝั่งทะเลตะวันตกและตีได้เมืองถลาง จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพลภาพ (บุนนาค) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพเรือมาขึ้นบกที่เมืองชุมพร เดินทัพทางบกไปยังเมืองถลาง ตีได้เมืองถลางคืน กองทัพพม่าแตกหนีไปและจับพม่าเป็นเชลยมากมาย
๕. เมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒ ปีมะเส็ง เอกศก (จ.ศ. ๑๑๗๑) ในรัชกาลที่ ๒ พระเจ้าปดุงแห่งประเทศพม่าได้ให้อะเติ่งวุ่นเป็นแม่ทัพยกมาตั้งเมืองทวายแล้วให้แยมองเป็นแม่ทัพเรือไปตีเมืองถลางให้คุเรียสาระภะยอคุมพลสามพันขึ้นที่เมืองระนองตีเมืองมะลิวัน เมืองระนองและเมืองกระบุรี คุเรียง
สาระกะยกกองทัพมาตั้งอยู่ที่ปากจั่นแขวงเมืองกระบุรีและเข้าเมืองชุมพรได้เมื่อวันเสาร์เดือนสิบสอง ขึ้นสิบสองค่ำ ยังไม่ทันที่จะตีต่อไปที่อื่นก็พอดีมีพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระอนุชาธิราชกรมพระราชวัง-บวรมหาเสนานุรักษ์เป็นจอมพลยกกองทัพไปสู้กับพม่า กองทัพไทยได้ยกมาทางบกเมื่อมาถึงเมืองชุมพร พม่ากำลังตั้งค่ายรักษาเมืองอยู่ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ให้พระยาจ่าแสนยากร (บัว) เข้าตีกองทัพพม่าที่เมืองชุมพร พม่าต้านทานไม่ได้ก็แตกหนีไปกองทัพไทยได้เข้าฟันพม่าและตามจับได้ที่เมืองชุมพรและเมืองตะกั่วป่าเป็นอันมาก กองทัพหลวงที่ยกมาคราวนี้ยังคงอยู่ในที่เมืองชุมพรเป็นเวลานานและได้ส่งกองทัพออกไปปราบปรามทำลายกองทัพพม่าจนหมดสิ้นจึงได้ยกกองทัพกลับกรุงเทพมหานคร
๖. เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ ปีวอก (จ.ศ. ๑๑๘๖) ในรัชกาลที่ ๓ ไทยได้เข้าร่วมกับอังกฤษเพื่อรบพม่า จึงทรงให้จัดกองทัพให้พระยามหาโยธาคุมกองทัพหนึ่ง พระสุรเสนา พระยาพิพัฒน์โกษาทัพหนึ่งไปทางด่านเจดีย์สามองค์ และได้มีตราสั่งให้เกณฑ์กองทัพเมืองชุมพร เมืองไชยา โปรดเกล้าฯ ให้
พระยาชุมพร (ซุย) คุมกองทัพเรือยกขึ้นไปทางเมืองมะริดและเมืองทวายอีกพวกหนึ่งเพื่อไปจัดทัพฟังข้อราชการว่าศึกจะผันแปรประการใด ต่อมาพระยาชุมพรคุมเรือรบเก้าลำขึ้นไปจับพม่าถึงปากน้ำเมืองทวาย ได้ครัวพม่า ๗๐ ครัวเศษ ส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เวลานั้นอังกฤษตีได้เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี และเมืองมะริด แล้วทรงดำริว่า ลักษณะสงครามทางเมืองพม่าผันแปรไป เดิมคิดว่าผู้คนพม่าจะเป็นข้าศึกต่อสู้กับไทยกลับไปเป็นข้าศึกพม่าอ่อนน้อมต่อไทยบ้างต่ออังกฤษบ้าง จะเอากำลังไปกวาดต้อนครอบครัวในฐานะเป็นข้าศึกก็ไม่สมควรจึงจัดกองทัพไปสมทบอีกเพื่อฟังเหตุการณ์ต่อไป
เมื่อเดือนยี่ปีวอก พ.ศ. ๒๓๗๖ นายพันตรีปริม คุมทหารรักษาเมืองมะริด ได้ทราบความว่ามีกองทัพเรือไทยไปเที่ยวต้อนจับคนในเมืองมะริด จึงแต่งตั้งให้นายร้อยโทเครเวอ คุมทหารลงเรือไปสืบความไปพบเรือไทยอยู่ห่างเมืองมะริดทางสัก ๓ ชั่วโมง เป็นเรือขนาดใหญ่ มีกันเชียง ตีลำละ ๖๐ ถึง ๘๐ กรรเชียง อยู่ด้วยกันประมาณ ๓๐ ลำ นายร้อยโทเครเวอ จึงให้ยกธงอังกฤษกับธงขาวขึ้นเป็นสัญญาณเรือรบไทยจึงยกธงตอบแล้วรออยู่ นายร้อยโทเครเวอ ไปพบนายทัพไทย คือ พระยาชุมพร(ซุย) จึงบอกว่าอังกฤษตีเมืองมะริดได้แล้ว ขอให้ปล่อยพวกเมืองมะริดที่จับมา นายทัพไทยชี้แจงว่าไม่ทราบว่าอังกฤษตีได้ รับว่าพรุ่งนี้จะปล่อยเชลย ๔๐๐ คนที่จับได้มา แต่ต้องขอหนังสือสำคัญของเจ้าเมืองมะริดเพื่อจะบอกไปทางกรุงเทพฯ อยู่ต่อมา ๓ วัน กองทัพไทยได้ส่งเชลยให้ ๙๐ คนคืนนั้น เรือรบไทยก็ออกจากเมืองมะริดหมด อังกฤษติดตามพบเรือรบไทยหลงอยู่ ๖ ลำ จึงจับเรือและคนรวม ๑๔๕ คน มีพระเทพชัยบุรินทร์ เจ้าเมืองท่าแซะเป็นหัวหน้าเอาไปไว้เมืองมะริด ว่าถ้าคนไทยส่งเชลยเมืองมะริดคืนให้หมดเมื่อใดจึงจะปล่อย อังกฤษได้ร้องเรียนไปกรุงเทพฯ เพื่อทรงทราบเห็นว่าพระยาชุมพรละเมิดท้องตราที่ได้สั่งไปครั้งหลังจึงให้หาพระยาชุมพร (ซุย) เข้ามาถอดเสียจากตำแหน่งแล้วไว้ ณ กรุงเทพฯ เพราะมีความผิดไปตีครัวชาวมะริดของอังกฤษ เขามาตามขอดี ๆ ไม่ได้สู้รบกันก็แพ้เขา ทำให้เสียพระเกียรติยศต่อมาพระยาชุมพร (ซุย) ได้ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ
๗. เมื่อ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นที่ปากน้ำอำเภอเมืองชุมพร เพื่อจะเดินทางไปยึดครองประเทศพม่าตามแผนการ จึงได้เกิดการสู้รบกันขึ้นกับชาวเมืองชุมพร อันมียุวชนทหารตำรวจ ทหารบก ข้าราชการพลเรือนและประชาชนผู้รักชาติ หลังจากสู้รบกันอยู่ ๕ ชั่วโมงเศษ ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นได้ตกลงทำสัญญาร่วมรบกัน จึงได้หยุดการสู้รบและกองทัพญี่ปุ่นก็ได้รับอนุญาตให้เดินทัพผ่านไปยังเมืองพม่าได้สะดวก ในระหว่างสงครามคราวนี้เมืองชุมพรถูกทำลายโดยเครื่องบินของศัตรูญี่ปุ่นอย่างมาก อาคารของทางราชการ เช่น สถานีตำรวจ อาคารต่าง ๆ ของกรมรถไฟตลอดจนบ้านเรือนทรัพย์สินของราษฎร ชีวิตของประชาชนสูญเสียเป็นอันมาก
เฉพาะการสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชุมพรมีหลายครั้ง นับเป็นประวัติสำคัญอันหนึ่ง เฉพาะหมู่บ้านและตำบลบางแห่งได้มีนามเนื่องมาจากสงครามในครั้งนั้นเล่ากันต่อมาควรจะกล่าวไว้บ้างคือ ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ ครั้งหนึ่งกองทัพพม่าได้เดินทัพผ่านมาทางตำบลดังกล่าวก็รอทัพไว้ จึงเรียกนามตำบลนี้ว่า “ตำบลทัพรอ” แต่ต่อ ๆ มาได้เรียกเพี้ยนไปเป็นตำบลรับรอ อันเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอท่าแซะ มาจนทุกวันนี้ ตำบลท่าแซะ หมู่ที่ ๗ เรียกบ้านหนองโคลนเดินเมื่อกองทัพพม่ายกมาเคยได้สู้รบกับกองทัพไทย ณ ตรงนี้จนมากลายเป็นโคลน ชาวบ้านจึงเรียกว่าบ้านโคลน
ตำบลแหลมทราย หมู่ที่ ๑ อำเภอหลังสวน มีชื่อว่าบ้านทัพยอ มีประวัติเล่ากันว่า เมื่อสมัยกองทัพพม่า ซึ่งมีคุเรียงสะระภะยอเป็นแม่ทัพในราว พ.ศ. ๒๓๕๒ เมื่อตีเมืองชุมพรได้แล้วได้ยกกองทัพไปพักอยู่ที่เมืองหลังสวน ภายหลังหมู่บ้านที่กองทัพพม่าตั้งอยู่ที่นี้ได้ชื่อว่า “บ้านคุเรียงสะระภะยอ” ต่อมาเรียกสั้นลงไปว่า “บ้านทัพยอ” มาจนทุกวันนี้
ในท้องที่อำเภอเมืองชุมพร หมู่ที่ ๒ ตำบลตากแดด มีบ้านหนึ่งเรียกว่าบ้านหัวครู ซึ่งขณะนี้ยังมีคูใหญ่เหลืออยู่เล่ากันว่า เมื่อพม่าเข้าตีได้เมืองชุมพร และเผาเมืองชุมพรราวปี พ.ศ. ๒๓๐๗ ได้จับเชลยคนไทยได้ และกำลังจะเผาที่คูนี้ แต่ขณะนั้นบังเอิญฝนตกหนักจึงไม่สามารถเผาได้เชลยคนไทยจึงรอดตายและเมื่อฝนตกหนักกองทัพพม่าซึ่งได้ยกทัพมาเป็นส่วนมากใช้ม้าและพาหนะจึงเปียกฝนด้วย หลังจากฝนหายแล้วพม่าจึงเอาม้าออกตากแดด ท้องที่ดังกล่าวแล้ว จึงมาภายหลังเรียกว่า “ตำบลตากแดด” และที่คูนั้นเรียกว่าบ้านหัวคู มาจนทุกวันนี้ ในตำบลวังไผ่ หมู่ที่ ๘ มีที่แห่งหนึ่งเรียกว่า “หาดพม่าตาย” เล่ากันว่าเมื่อสมัยกองทัพพม่ายกกองทัพมาตีเมืองชุมพรได้มาพักแรมที่ตรงนี้ และได้ใช้ใบ
ตะลังตังช้าง (เป็นใบไม้ที่คันและมีพิษ) รองนอนเพราะไม่รู้ว่ามีพิษ เมื่อนอนเกิดคันและร้อน จึงวิ่งลงไปแช่น้ำ จึงตายลงเป็นอันมากจึงขนาดนามว่าหาดพม่าตายมาจนทุกวันนี้
ประวัติคอคอดกระ
ความสำคัญเป็นพิเศษของชุมพรยังมีอีกประการหนึ่งซึ่งควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้คือ คอคอด อยู่ระหว่างอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร กับอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เรียกกันว่า “คอคอดกระ” เป็นส่วนแคบที่สุดของแหลมมลายู เคยเป็นทางผ่านสำหรับเดินตัดข้ามมาจากทะเลตะวันตกมาทะเลตะวันออกในสมัยโบราณ ระยะทางตอนที่แคบประมาณ ๕๐ กิโลเมตร
เรื่องของคอคอดกระ เป็นเรื่องที่ทั่วโลกรู้จักกันมานานแล้ว และเป็นที่สนใจของชาวต่างประเทศสำหรับประเทศไทยเริ่มสนใจคอคอดกระในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏตามตำนานเมืองระนองตอนหนึ่งความว่า เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๙ รัฐบาลมีข้อวิตกขึ้น เนื่องด้วยในปัจจุบันฝรั่งเศสขุดคลองสุเอชในประเทศอียิปต์สำเร็จ ฝรั่งเศสคิดหาที่ขุดคลองทำนองเดียวกันในประเทศอื่นต่อไป จึงคิดจะขุดคลองจากเมืองกระบุรีออกมาเมืองชุมพร เพื่อให้เป็นทางเรือจากยุโรปไปเมืองจีนโดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายูไปทางสิงคโปร์ และเรียกว่า “คลองตระ” ความคิดของฝรั่งเศสในเรื่องคลองตระนั้น เป็นเรื่องลืออื้อฉาว แต่ยังไม่ปรากฏในทางราชการว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะสนับสนุนสักเพียงใด แต่ฝ่ายไทยคิดเห็นว่า ถ้าฝรั่งเศสมีอำนาจถึงได้ขุดคลองตระในครั้งนั้น คงจะมีผล ๒ อย่างคือ อาจถือโอกาสให้เสียดินแดนทางด้านแหลมมลายูประการหนึ่ง และไทยต้องแสดงให้อังกฤษ เชื่อว่าไทยมิได้สนับสนุนฝรั่งเศสในเรื่องการขุดคลองนั้น
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ อังกฤษได้เรียกร้องให้ไทย ยอมรับข้อกำหนดบางประการที่ทำให้ทรัพย์สินสูญหายไปในระหว่างสงครามได้กลับคืนมาและป้องกันมิให้เกิดสงครามขึ้นในอนาคต หรือที่เรียกกันว่า ความตกลงสมบูรณ์ระหว่างรัฐบาลไทยฝ่ายหนึ่ง กับรัฐบาลสหราชอาณาจักรและ
รัฐบาลอินเดียฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทำกัน ณ สิงคโปร์ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๙ ข้อ ๗ มีความว่า รัฐบาลไทยจะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทย เชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย โดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรเห็นพ้องด้วยกัน
การเลือกสถานที่ขุดคลองตอนที่แคบที่สุดของแหลมมลายูตอนนี้มีเทือกเขาสูงกั้นทางเหนือมีภูเขาเตี้ยทางใต้จากเมืองชุมพรถึงปากน้ำปากจั่น ที่เมืองกระ ลำน้ำตอนที่เมืองกระตื้น เรือยนต์ เรือกลไฟขนาดที่เดินในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเดินทางได้เมื่อน้ำขึ้น และเป็นเช่นนี้ตลอดไปจนถึงตำบลทับหลี เรือขนาดเล็กเดินทางได้ทุกเวลา จากทับหลีลงไป แม่น้ำกว้างออกไปเป็นลำดับ เรือกลไฟต้องเดินตามลำน้ำปากจั่นประมาณ ๑๐ ชั่วโมง ไปออกทะเลที่หน้าเมืองระนอง อังกฤษถือลำน้ำปากจั่นเป็นที่กั้นเขตแดนระหว่างไทยกับอังกฤษ (หรือพม่า) ถ้าจะขุดคลองต้องอาศัยน้ำปากจั่นเป็นทางเดินขึ้นไปจนถึงเมืองกระแล้วจึงขุดคลองที่ช่องเขาข้ามมาชุมพร และจำเป็นต้องขุดลำน้ำปากจั่นให้ลึกและกว้างจนเรือกำปั่นใหญ่เดินได้ การขุดลำน้ำปากจั่นจำต้องขุดในดินแดนของอังกฤษด้วย เพราะแนวศูนย์กลางอยู่กลางลำน้ำปากจั่น ถ้าอังกฤษไม่ยอมให้ขุดก็เป็นอันขุดคลองกระไม่ได้ ถ้าไม่ขุดที่คลองกระจะเลื่อนลงไปขุดด้านใต้ เช่นที่เมืองระนองก็เป็นเทือกเขาสูงทั้งนั้น เพราะความขัดข้องมีอยู่เช่นนี้ ฝรั่งเศสซึ่งมีความปรารถนาจะขุดคลองกระครั้งหนึ่งจึงได้เลิกความพยายามแต่หากได้กล่าวแก้ว่าจะต้องตัดเทือกเขายากนักจึงไม่ขุด
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดชุมพร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์ , ๒๕๒๘.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น