การกล่าวถึงประวัติจังหวัดพังงา จะหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงเรื่องราวประวัติของ "ตะกั่วป่า" เสียก่อนไม่ได้ เนื่องจากปราชญ์ทางประวัติศาสตร์ ยอมรับแล้วว่า "ตะกั่วป่า" ได้เคยเป็นบ้านเมือง เป็นที่รู้จักกันดีไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว แม้ขณะนี้จะมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งก็ตาม
ส่วนจังหวัดพังงานั้นเพิ่งมาตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ ในรัชกาลที่ ๒ แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ หรือเมื่อประมาณ ๑๗๖ ปีมานี้เอง
สมัยอาณาจักรศรีวิชัย
เดิมทีนั้นบนแหลมมลายูรวมทั้งส่วนบนที่เป็นของไทยด้วย ได้เป็นที่อยู่ของพวกพื้นเมืองเดิม อันได้แก่ พวก "เซมัง" และ "ซาไก" มาก่อน ต่อมามีชนอีกพวกหนึ่งเรียกกันว่า "ชนพูดภาษามอญ - เขมร" อพยพแผ่ลงมาจากทางเหนือเข้ามายึดริมแม่น้ำตอนใกล้ ๆ ชายทะเลเป็นถิ่นฐานเรื่อยลงไปจน ถึงปลายแหลมมลายู ชนพวกนี้ส่วนหนึ่งได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในลุ่มแม่น้ำสาละวิน เป็นชนชาติมอญ อยู่ในแม่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นละว้าและปากแม่น้ำโขงเป็นชนเขมร เฉพาะส่วนที่ลงมาอยู่บนแหลมมลายูนั้นกลายเป็น "พวกมลายูเดิม" แต่ไม่พูดภาษามลายู
ต่อมามีชนพวกพูดภาษามอญ - เขมร ได้อพยพใหญ่ลงมาตามแนวทางเดิมอีกคราวหนึ่ง ในครั้งนี้ชนพูดภาษามอญ - เขมร ได้เจริญขึ้นมากแล้วได้ทำเรือแพข้ามไปอยู่บนเกาะสุมาตรา ชวาและบอร์เนียว และได้เข้ามาขับไล่เอาพวกมลายูเดิมที่ด้อยความเจริญกว่าให้เข้าไปอยู่ในป่าบ้าง หนีไปอยู่ตามชายทะเลห่างไกลบ้าง กลายเป็นพวก "จากุน" ไป และอยู่ตามชายฝั่งทะเลไทยเรียกว่า "ชาวเล" หรือ "ชาวน้ำ" ภาษาราชการเรียกว่า "ชาวไทยใหม่"
ในสมัยใกล้เคียงกัน พวกชาวอินเดียที่มีอารยธรรมสูงได้เริ่มเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย เนื่องจากชาวอินเดียเหล่านี้มีความฉลาดกว่า มีวัฒนธรรมสูงกว่า จึงได้ถ่ายทอดวัฒนธรรม เช่น ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี อาหารการกิน ฯลฯ ให้แก่ชาวพื้นเมือง ในที่สุดชาวอินเดียก็ได้เข้าผสมกับชาวพื้นเมือง และมีอำนาจปกครองแหลมมลายูอยู่เป็นเวลาหลายร้อยปี เมื่อเสื่อมอำนาจลงพวกเขมร (เมืองละโว้) ลงมาชิงได้บ้านเมือง แต่เขมรปกครองอยู่ได้ไม่นานชนชาติไทยได้เป็นใหญ่ในประเทศสยาม (ณ กรุงสุโขทัย) ก็ขยายอำนาจลงมา ได้แหลมมลายูตอนข้างเหนือไว้เป็นอาณาเขต ตั้งแต่
พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษเป็นต้นมา